โกฐหัวบัว สรรพคุณและงานวิจัย
ชื่อสมุนไพร โกฐหัวบัว
ชื่ออื่นๆ ชวนเกียง (จีนแต้จิ๋ว) , ชวนซุยง ชวงชวอง (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ligusticum Chuanxiang Hort.
ชื่อพ้อง Ligusticum sinensis Oliv. Cv. Chuanxiang. , Ligusticum wallichii auct.non Franch.
ชื่อสามัญ Szechuan lovage
วงศ์ Umbelliferae
ถิ่นกำเนิด
โกฐหัวบัวมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน ในมณฑลเสฉวน กุ๋ยโจว ยูนนาน หูเป๋ย ในอินเดียและเนปาลลักษณะทั่วไปโกฐหัวบัว
ต้นโกฐหัวบัว จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุหลายปี มีความสูงได้ประมาณ 30-80 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง โคนต้นเป็นข้อ ๆ และมีรากฝอยงอกอยู่ที่ข้อ บริเวณช่วงบนจะแตกกิ่งก้านมาก มีกลิ่นหอมใบโกฐหัวบัว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ออกเรียงเวียน แฉกสุดท้ายมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ขอบใบหยักลึกสุดแบบขนนก ส่วนใบที่อยู่ใกล้โคนต้นจะมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร และยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร ส่วนก้านใบนั้นยาวประมาณ 20 เซนติเมตร โคนก้านแผ่เป็นกาบ หน้าใบและหลังใบไม่มีขน ตามเส้นใบมีขนเล็กน้อย
ดอกโกฐหัวบัว ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง เป็นดอกช่อแบบซี่ค้ำร่มหลายชั้น มีหลายดอกย่อย ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีขาว ดอกหนึ่งมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน
ผลโกฐหัวบัว ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมรีหรือรูปไข่ มี 2 ลูก เป็นห้าเหลี่ยมและในเหลี่ยมจะมีท่อน้ำมัน 1 ท่อ
เหง้าโกฐหัวบัว ส่วนของเหง้าคือส่วนที่นำมาใช้ทำยา ซึ่งเรียกว่า “โกฐหัวบัว” โดยเหง้าจะมีลักษณะค่อนข้างกลม ข้อป่อง ปล้องสั้น เมื่อตัดเอารากแขนงออกหมด จะได้เหง้าเป็นรูปค่อนข้างกลมคล้ายกำปั้น ผิวขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำไม่สม่ำเสมอ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-7 เซนติเมตร ผิวด้านนอกเป็นสีน้ำตาลไหม้หรือสีน้ำตาลอมเหลือง ผิวสาก เหี่ยวย่น เนื้อแน่น หักยาก รอยหักเป็นสีขาวอมเหลืองหรือเป็นสีเหลืองอมเทา มีท่อน้ำมันสีน้ำตาลอมเหลืองกระจายอยู่ทั่วไป มีกลิ่นหอมฉุนรุนแรง รสขม มัน แต่จะหวานในภายหลัง และชาเล็กน้อย
โกฐหัวบัวในตระกูลเดียวกันยังมีอีกหลายพันธุ์ เช่น Cnidium ofcinale Makino, Ligusticum wallichii Franch. ซึ่งในอดีตเราจะนำมาใช้ทดแทนกันได้ แต่ในปัจจุบันได้พบว่า โกฐหัวบัวที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ โกฐหัวบัวชนิด Ligusticum chuanxiong Hort. ซึ่งเป็นชนิดที่เรากล่าวถึงในบทความนี้ มันจึงถูกนำมาใช้เป็นตัวหลักของโกฐหัวบัว
การขยายพันธุ์ดกฐหัวบัว
ใช้ข้อของลำต้น สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูก โกฐหัวบัวเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น เจริญเติบโตได้ดีที่ความสูงจาก ระดับน้ำทะเล 500-1,500 เมตร อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 15 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34 องศา เซลเซียส อุณหภูมิล่าสุด -5 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 1,200 มิลลิเมตร ความชื่นสัมพันธ์เฉลี่ย ร้อยละ 80 ชอบดินหนาและลึก ดินซุย อุดมสมบูรณ์ การระบายน้ำดีมีฤทธิ์เป็นกลางหรือกรด เล็กน้อย อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 2 ปีการเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวเหง้าสดในฤดูร้อนเมื่อตาของลำต้นเริ่มเห็นเป็นตุ่มชัดเจนและมีสีม่วงอ่อนๆ แยกลำต้นใบ และดินออก นำไปตากในที่ร่มจนตัวยาแห้งประมาณร้อยละ 50 แล้วนำไปปิ้งไฟอ่อนๆ จนกระทั่งแห้ง แยกเอารากฝอยทิ้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี
องค์ประกอบทางเคมีของโกฐหัวบัว
โกฐหัวบัวมีน้ำมันระเหยง่ายอยู่ราวร้อยละ ๒ ในน้ำมันนี้มี cnidium lactone , cnidic acid และมีชันที่มีรสเปรี้ยว นกจากนั้นยังมีสารพวก phthalide อีกหลายชนิด เช่น ligustilide , neocni-dilide , wallichilide , 3-butylidine-7-hydroxyphthalide , senkyunolide A , butylidenephthalide , butylpthalide, ferulic acid, tetramethylpyrazine, perlolyrine, spathulenol, crysophanol, sedanonic acid
cnidium lactone
ligustilide
ferulic acid
สรรพคุณโกฐหัวบัว
สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีนโกฐหัวบัว รสเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์ช่วยการไหลเวียนของชี่และเลือด รักษาอาการปวดจากเลือดคั่งกระจายการตีบของเส้นเลือด (ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ปวดประจำเดือน ขับน้ำคาวปลาหลังคลอดเจ็บชายโครง เจ็บบริเวณหัวใจ เจ็บหน้าอก เจ็บจาการฟกช้ำ ช้ำบวมจากฝีหนอง) และมีฤทธิ์ขับลม บรรเทาปวด รักษาอาการปวดศีรษะ อาการปวดจากการคั่งของชี่และเลือด
โกฐหัวบัวผัดเหล้า จะช่วยนำตัวยาขึ้นส่วนบนของร่างกาย มีฤทธิ์แรงในการระงับปวด ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดและชี่ภายในร่างกายดีขึ้น โดยทั่วไปใช้รักษาอาการปวดศีรษะจากการคั่งของเลือด และโรคไมเกรน
โกฐหัวบัว เป็นยาแก้หวัด แก้ปวดศีรษะ บํารุงโลหิตแก้โรค โลหิตจาง แก้ฟกช้ำปวดเจ็บต่าง ๆ รวมทั้งปวดฟัน อาเจียน เป็นเลือดไอวัณโรค ใบมีกลิ่นหอมชื่นใจใช้เป็นยา ขับพยาธิในท้องแก้บิด แก้ไอ เป็นยาขับขับลม แก้โรคประสาท เป็นยาฆ่าเชื้อ ใช้เป็นส่วนผสมในยา แก้หวัดและแก้ท้องร่วง ดอกใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับเครื่องสําอางแต่หน้า
สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย
โกฐหัวบัว มีกลิ่นหอม รสมัน สรรพคุณแก้ลมในกองริดสีดวง และกระจายลมทั้งปวง (หมายถึงลมที่คั่งอยู่ในลำไส้เป็นตอนๆ ทำให้ผายหรือเรอออกมา) ยาไทยมักไม่ใช้โกฐหัวบัวเดี่ยว แต่มักใช้ร่วมกับยาอื่นในตำรับ
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้โกฐหัวบัวในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐหัวบัวอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
โกฐหัวบัวเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ พืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดแถบมนฑลเสฉวนของประเทศจีน และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โกฐหัวบัวจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า(เบญจโกฐ) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก
เครื่องยา“พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต “พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก “พิกัดโกฐทั้ง 9” (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย
ตำรายาไทย: มีการใช้โกฐหัวบัวใน “พิกัดจตุวาตะผล” คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้ลม ประกอบด้วยผล 4 อย่าง คือ เหง้าขิงแห้ง กระลำพัก อบเชยเทศ และโกฐหัวบัว มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้พรรดึก แก้ตรีสมุฏฐาน ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้ลมกองริดสีดวง
ตำราพระโอสถพระนารายณ์: ตำรับ “มโหสถธิจันทน์” มีส่วนประกอบรวม 16 สิ่ง รวมทั้งโกฐหัวบัวด้วย มีสรรพคุณแก้ไข้ทุกชนิด ตำรับ “ยาทรงนัตถุ์” ขนานหนึ่งประกอบด้วยสมุนไพร 15 ชนิด รวมทั้งโกฐหัวบัวด้วย โดยนำตัวยาทั้งหมดบดเป็นผงละเอียดรวมกัน ใช้สำหรับนัตถุ์ ใช้ดมแก้ปวดหัว แก้วิงเวียน แก้สลบ แก้ริดสีดวงจมูก คอ และตา
รูปแบบ / ขนาดวิธีใช้โกฐหัวบัว
• ตำราแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 3 – 9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม• ตำราแพทย์แผนไทย ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 5 – 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน
ฤทธิ์ทางเภสัชของโกฐหัวบัว
มีรายงานการวิจัยที่พบว่า โกฐหัวบัวสามารถลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้และมดลูกได้ และยังช่วยป้องกันการขาดออกซิเจนในเลือด ต้านอาการปวด อาการอักเสบ ช่วยขับเหงื่อ ขับประจำเดือน และช่วยทำให้นอนหลับได้นานขึ้นเมื่อใช้น้ำที่สกัดได้จากเหง้าโกฐหัวบัว นำมาฉีดเข้ากล้ามเนื้อของหัวใจที่แยกออกจากร่างของกระต่าย พบว่าสามารถขยายหลอดเลือดหัวใจของกระต่ายได้ จึงสรุปได้ว่า โกฐหัวบัวสามารถลดความดันในเส้นเลือดได้
สารสกัดน้ำเมื่อให้ทางปากหนูขาวในขนาดเทียบเท่าผงยา 25-50 กรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์สงบประสาท และจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในหนูถีบจักร สารสกัดมีฤทธิ์ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด โกฐหัวบัวในขนาดต่ำๆ มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกของกระต่าย แต่เมื่อให้ในขนาดสูงจะยับยั้งการบีบตัวอย่างสมบูรณ์
โกฐหัวบัวมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด บรรเทาอาการปวดหลังคลอดช่วยให้รกหรือเนื้อเยื่อของมดลูกที่ตายแล้วถูกขับออกมาได้ดี สารสกัดมีฤทธิ์เพิ่มการบีบตัวของมดลูก ทำให้ประจำเดือนมาเร็วขึ้น
การศึกษาทางพิษวิทยา การศึกษาพิษเฉียบพลันโดยฉีดสารสกัดน้ำเข้าช่องท้องและกล้ามเนื้อหนูถีบจักร พบว่าขนาดของสารสกัดที่ทำให้หนูถีบจักรตายร้อยละ 50 (LD50) มีค่าเท่ากับ 65.86 และ 66.42 กรัม/กิโลกรัมตามลำดับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรของสารสกัด 50% แอลกอฮอล์จากเหง้าโกฐหัวบัว พบว่าค่า LD50 มีค่ามากกว่า 10 กรัม/กิโลกรัม เมื่อให้โดยการป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
ข้อแนะนำ / ข้อควรระวัง เนื่องจากโกฐหัวบัวมีฤทธิ์เพิ่มการบีบตัวของมดลูก จึงไม่แนะนำให้ใช้ขณะที่มีการปวดประจำเดือน หรือผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับการตกเลือดอื่นๆ
เอกสารอ้างอิง
1. โกฐหัวบัว.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากก http://th.wikipedia.org/w/index.php?title=โกฐหัวบัว&oldid=61525212. ภาสกิจ วัณณาวิบูล. รู้เลือกรู้ใช้ 100 ยาจีน. กทม. ทองเกษม. 2555
3. ศุภนิมิต ทีฆชุณหเสถียร. ยาจีนปรับสมดุลเลือด. กทม. ซีเอ็ดยูเคชัน. 2554
4. โกฐหัวบัว.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?acyion=viewpage&pid=33
5. คู่มือการใช้สมุนไพร-จีน.กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.มีนาคม 2551.สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การทหารผ่านศึกษาในพระบรมราธูปถัมภ์.208 หน้า
6. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.1. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House,2005
7. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์ , คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์,2548
8. เย็นจิตร เตชะดำรงสิน การพัฒนาสมุนไพรแบบบูรณาการ. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์,2550
9. Gong QF. Zhongyao Paozhi Xur. 2 ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine House, 2003.
10. Huang K.C. The pharmacology of Chinese herbs. 2 ed. Boca Raton: CRC Press, 1993
11. Bensky D, Gamble A. Chinese herbal medicine: Materia medica, Revised edition. Washingtion: Eastland Press, 1993.
12. Ye DJ, Zhang SC, Huang WL, Pan SH, Gong QF, Chen Q. Processing of traditional Chinese medicine. 7 ed. Shanghai: Publishing House of Shanghai College of Traditional Chinese Medicine, 2001.
13. มงคล โมกขะสมิต , กมล สวัสดีมงคล , ประยุทธ สาตราวาหะ การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง , ทรงพล ชีวะพัฒน์ ,เอมมนัส อัตตวิชญ์ (คณะบรรณาธิการ) ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยาของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1 พิมพ์ครั้งที่ 1. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา,2546
14. Li R. Rhizoma Chuan Xiong. In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.) Modern study of pharmacology in traditional medicine. 2 ed. Tianjin: Tianjin Science & Technolongy Perss, 1999.
15. คุณภาพของซวนซุยง (โกฐหัวบัว) เครื่องยาจีนในประเทศไทย.อุทัย โสธนะพันธุ์ , ปนัดดา พัฒนวศิน , นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ , เย็นจิตร เตชะดำรงสิน. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก.ปีที่11 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2556 หน้า 29 – 39
16. Chinese Pharmacopoeia Commission. Pharmacopoeia of The Peopleûs Republic of China 2010. Volume I. Beijing: Peopleûs Medical Publishing House, 2010.
17. Ligusticum sinense cv. Chuanxiong S.H. Qiu et al. Flora of China. Volume 14. [cited 2012 Nov 23]. Available from: URL: http://www.efloras.org/florataxon.aspx?flora_id= 2&taxon_id=242329467
18. คณะอนุกรรมการจัดทำตำรงอ้างอิงยาสมุนไพรไทย ในคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย.ตำราอ้างอิงยาสมุนไพรไทย เล่ม 1 กรุงเทพฯ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชซิ่ง จำกัด; 2551 หน้า 116 – 20
19. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย(วิทยา บุญวรพัฒน์)“โกฐหัวบัว” หน้า 112
20. บทที่ 3 ศักยภาพการปลูกพืชสมุนไพรจีนในประเทศไทย (สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร) “โกฐหัวบัว” หน้า 71 – 73.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น