วันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ยาดำ

ยาดำ (ยางของว่านหางจระเข้) สรรพคุณและงานวิจัย



ยาดำ คือ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า “ยาดำ” คืออะไร ยาดำเป็นยางที่แข็งเป็นก่อนสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม ทึบ เปราะ ได้จากพืชพวกว่านหางจระเข้ 3 ชนิด คือ Aloe barbadensis Mill., Aloe ferox Mill. และ Aloe perryi Baker วงศ์ Aloeceae
• ชนิดที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Aloe barbadensis Miller ชื่อพ้อง Aloe vera L. หรือ Aloe vulgaris Lam. ยาดำที่ได้จากยางของว่านหางจระเข้ชนิดนี้ เรียกหลายชื่อตามแหล่งผลิต เช่น Jafferabad Indian Aloes, West Indian Aloes, Curacao Aloes, Barbados Aloes เป็นก้อนสีน้ำตาลเข้ม ทึบแสง เปราะ


• ชนิดที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Aloe ferox Miller ยาดำที่ได้จากยางของว่านหางจระเข้ชนิดนี้ เรียกหลายชื่อตามแหล่งผลิต เช่น Aloe feroxCape Aloes, Mocha Aloes, Uganda Aloes, Crown Aloes เป็นก้อนสีดำอมเขียวขี้ม้า ถึงสีน้ำตาลเข้ม มักมีผงสีเหลืองๆ ติดมาด้วย มีกลิ่นฉุน รสขมชวนอาเจียน
• ชนิดที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Aloe perryi Baker ยาดำที่ได้จากยางของว่านหางจระเข้ชนิดนี้ เรียกหลายชื่อตามแหล่งผลิต เช่น Socotrine Aloes, Zanzibar Aloes ชนิดหลังนี้มาจากเกาะแซนซิบาร์ มักมีใบไม้และหนังสัตว์ติดมาด้วย จึงมีชื่อเรียกว่า “ยาดำหนังลิง” (Monkey’s skin Aloes)
เมื่อกรีดใบว่านหางจระเข้จะมียางสีน้ำตาลอมเหลืองไหลออกจากท่อน้ำยางที่ขอบใบ เมื่อเก็บน้ำยางนี้รวมกันได้มากๆ เอามาเคี่ยวบนไฟจนข้นเหนียว ผึ่งแดดให้แห้ง จะแข็งเป็นก้อนสีดำเรียก “ยาดำ” หรือ Jadam ในภาษาถิ่นของมลายูและขวา
ดังนั้นในบทความนี้ จึงจะนำเสนอตัวสมุนไพร คือ ยาดำ และเครื่องยาที่นำมาทำเป็นยาดำ นั้นก็คือ ยางของว่านหางจระเข้ควบคู่กันไป

ชื่อสมุนไพร ยาดำ
ชื่อพืชที่ให้เครื่องยา ว่านหางจระเข้
ชื่อท้องถิ่น ว่านไฟไหม้ , หางตะเข้
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aloe vera (L.) Burm. F.
ชื่อพ้อง Aloe barbardensis Mill. Aloe indica Royle , Aloe ferox mill , Aloe perryi BaKer.
วงศ์ ALOACEAE







ถิ่นกำเนิดของว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้ (aloe) แผงมาจากภาษายิว Allal แปลว่า ฝาดหรือขม เป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในแพบประเทศแอฟริกา ภายหลังได้แพร่ขยายพันธุ์ไปสู่เอเชียและยุโรป จนทุกวันนี้ว่านหางจระเข้ก็เป็นที่นิยมของทั่วโลกไปแล้ว โดยว่านหางจระเข้จะมีมากมายกว่า 300 สายพันธุ์ ซึ่งมีตั้งแต่ขนาดเล็กกว่า 10 เซนติเมตรไปจนถึงสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ ลักษณะพิเศษของว่านหางจระเข้ก็คือ มีใบแหลมคล้ายเข็ม มีเนื้อหาและในเนื้อมีน้ำเมือกเหนียว



ลักษณะทั่วไปของว่านหางจระเข้

ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นสั้น ใบเรียงซ้อนเป็นกอ ข้อและปล้องสั้น สูงประมาณ 0.5-1 เมตร ต้นแก่จะมีหน่อเล็กๆของต้นอ่อนแตกออกมา ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่รอบต้น กว้าง 5-12 เซนติเมตร ยาว 30-80 เซนติเมตร ใบรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกว้าง สีเขียวอ่อนหรือเขียวเข้ม ด้านหน้าแบน ด้านหลังโค้งนูน ใบอ่อนมีประสีขาว ขอบใบมีหนามแหลมเล็กขึ้นห่างๆกัน ผิวใบหนา เนื้อใบหนาอวบน้ำมาก ภายในเนื้อใบมีวุ้นใสเป็นเมือก เมื่อกรีดลงไปบริเวณโคนใบจะมีน้ำยางใสสีเหลืองไหลออกมา ดอกออกเป็นช่อตั้งยาว 60-90 เซนติเมตร แทงช่อออกจากกลางต้น ก้านชูช่อดอกยาว ดอกย่อยเป็นหลอดห้อยลง รูปแตร กลีบดอกโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ดอกสีส้มไม้ล้มลุกอ่อน บานจากล่างขึ้นบน แต่ละดอก กว้าง 7 มิลลิเมตร ยาว 2-3 เซนติเมตร ผล เป็นผลแห้ง แตกได้ รูปกระสวย ว่านหางจระเข้เดิมเป็นพืชพื้นเมืองของทวีปแอฟริกา แต่มีการนำมาปลูกในประเทศเขตร้อนทั่วไป



การขยายพันธุ์ว่านหางจระเข้

การปลูกว่านหางจระเข้ ว่านหางจระเข้ เป็นพืชที่เติบโตได้ดีในร่วนซุย ทั้งดินร่วน ดินร่วนปนทรายที่มีหน้าดินลึก และระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำท่วมขัง และชอบพื้นที่ที่แสงส่องทั่วถึง
1. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นวิธีที่นิยมประเภทหนึ่งสำหรับการปลูกในแปลงขนาดใหญ่เพื่อการพาณิชย์ที่ต้องใช้ต้นกล้าจำนวนมาก ซึ่งวิธีนี้จะมีในบางเฉพาะพื้นที่ และต้องรู้จักหน่วยงานที่มีการเพาะเนื้อเยื่อจำหน่าย
2. การแยกหน่อ ถือเป็นวิธีที่นิยมวิธีหนึ่งสำหรับการปลูกว่านหางจระเข้ ทั้งการปลูกในแปลงขนาดใหญ่ และการปลูกในครัวเรือน ด้วยการขุดหน่อที่แตกออกจากต้นแม่มาปลูกเพื่อให้เป็นต้นใหม่
3. การปักชำ เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยม ใช้สำหรับการปลูกแบบทั่วไปที่มีการตัดยอดหรือต้นออก ซึ่งส่วนยอดหรือต้นนั้นสามารถนำมาปักชำหรือปลูกลงแปลงหรือในพื้นที่ได้เลย วิธีนี้จะได้ต้นเดิมที่มีการแตกยอดใหม่เท่านั้น ทำให้ได้ใบว่านหางที่ใหญ่งามเหมือนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือการแยกหน่อ
วิธีการปลูก ทำการขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 20 ซม. ระยะห่างระหว่างหลุม และแถว สำหรับแถวคู่ 60×60 ซม. เว้นขอบแปลง 20-30 ซม. ก่อนนำต้นกล้าลงหลุมอาจใส่ปุ๋ยคอกประมาณ 1-2 กำมือ หากไม่ต้องการใส่ในช่วงการเตรียมแปลง ซึ่งจะทำให้ประหยัดปุ๋ยได้ หลังจากนั้น นำต้นกล้าลงหลุมปลูก กลบดินให้แน่นพอประมาณ พร้อมรดน้ำให้ชุ่ม
การเก็บผลผลิต ว่านหางจระเข้สามารถเก็บใบได้เมื่อปลูกในช่วง 8-12 เดือน ซึ่งหากมีการดูแลที่ดีจะสามารถเก็บใบที่มีน้ำหนักมากกว่า 0.8 กิโลกรัม ได้ โดยหนึ่งต้นจะมีใบประมาณ 15-20 ใบ หรือมากกว่า หากได้รับน้ำเพียงพอ สำหรับการเก็บจะใช้มีดที่คมกรีดตัดใบบริเวณชิดโคนต้น และตัดจากใบด้านล่างจนถึงใบด้านบน โดยให้มีใบเหลือประมาณ 5-7 ใบ



วิธีการทำยาดำ


ยาดำเป็นยางที่แข็งเป็นก้อน มีสีแดงน้ำตาลจนถึงดำ เปราะ ผิวมัน ทึบแสง รสขมเหม็นเบื่อ ชวนคลื่นไส้อาเจียน กลิ่นฉุน ตัดใบว่านหางจระเข้ที่โคนใบให้เป็นรูปสามเหลี่ยม (ต้องเป็นพันธุ์เฉพาะ ซึ่งจะมีขนาดใบใหญ่ และอวบน้ำมาก จะให้น้ำยางสีเหลืองมาก) ต้นที่เหมาะจะตัด ควรมีอายุ 9 เดือนขึ้นไป จะให้น้ำยางมากไปจนถึงปีที่ 3 และจะให้ไปเรื่อยๆ จนถึงปีที่ 10 ตัดใบว่านหางจระเข้ตรงโคนใบ และปล่อยให้น้ำยางไหลลงในภาชนะ นำไปเคี่ยวให้ข้น เทลงในพิมพ์ ทิ้งไว้จะแข็งเป็นก้อน ยาดำได้จากการตัดใบว่านหางจระเข้บริเวณส่วนโคนใบที่อยู่ใกล้กับผิวดิน จะมีน้ำยางสีเหลืองที่อยู่ระหว่างผิวนอกของใบกับวุ้น



องค์ประกอบทางเคมีของยาดำ

สารที่เป็นองค์ประกอบใน ยาดำ (น้ำยางสีเหลืองที่เคี่ยวน้ำออกหมดจนเป็นก้อนสีดำ) คือสารกลุ่มแอนทราควิโนน เช่น aloin, barbaloin (aloe-emodin), chrysophanic acid ออกฤทธิ์เป็นยาระบาย ยาถ่าย



                               


Aloin  







aloe-emodin







Chrysophanic  acid  





aloesin




สรรพคุณของยาดำ

ยาดำที่ใช้ในตำรับยาไทยส่วนใหญ่เป็นยาดำที่นำเข้ามาจากแอฟริกา ตำราสรรพคุณยาโบราณว่า ยาดำมีรสเบื่อและเหม็นขม สรรพคุณถ่ายลมเบื้องสูงให้ลงต่ำ กัดฟอกเสมหะและโลหิต ทำลายพรรดึก เป็นยาถ่าย ยาระบาย แก้โรคท้องผูก โดยกระตุ้นลำไส้และทางเดินอาหารให้บีบตัว ใช้เป็นยาแทรกในยาระบายหลายตำรับ จนกระทั่งมีคำพังเพยว่า “แทรกเป็นยาดำ” หมายถึงแทรกหรือปนอยู่ทั่วไป เป็นยา ถ่ายพิษไข้ ถ่ายพยาธิตัวตืด ไส้เดือน ขับน้ำดี มีฤทธิ์ไซร้ท้อง ฝนกับเหล้าขาวทาหัวฝี ทาแก้ฟกบวม



รูปแบบ / ขนาดวิธีใช้ยาดำ

ใช้เป็นยาถ่าย ยาดำขนาด 0.25 กรัม เท่ากับ 250 มิลลิกรัม (ขนาดรับประทานเท่า 1 เมล็ดถั่วเขียว) ยานี้ทำให้เกิดอาการไซ้ท้องได้ เพราะยาจะบีบลำไส้อย่างมาก

ช่วยรักษาอาการท้องผูก ตักมาใช้ประมาณช้อนชา เติมน้ำเดือด 1 ถ้วย แล้วคนจนละลาย โดยผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 2 ช้อนชาก่อนนอน แต่ถ้าเป็นเด็กให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชาก่อนนอน
ฤทธิ์ทางเภสัชของยาดำ
ในยาดำมีสารกลุ่ม แอนทราควิโนน ได้แก่ อโลอิน (Aloin A และ B) มีลักษณะเป็นยางสีเหลืองที่อยู่ส่วนของเปลือกว่านหางจระเข้ ออกฤทธิ์สาคัญ คือ กระตุ้นการขับถ่าย ใช้สำหรับเป็นยาระบาย โดยมีกลไกที่สำคัญ คือ เมื่อสารนี้อยู่บริเวณลำไส้จะถูกแบคทีเรียย่อยสลายกลายเป็นแอนทรานอล (Anthranol) สารนี้ จะออกฤทธิ์ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่จนเกิดการหลั่งน้ำบริเวณลำไส้มากกว่าปกติ
การศึกษาทางพิษวิทยาของยาดำ ไม่มีข้อมูลพิษวิทยาในยาดำ



ข้อแนะนำ / ข้อควรระวัง

ห้ามรับประทานมากเกินไป จะทำให้ท้องเสีย และปวดท้องอย่างรุนแรง เพราะลำไส้บิดเกร็งตัว อ่อนเพลีย ไตอักเสบ และมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆได้ หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทานเพราะทำให้แท้งได้ ห้ามใช้กับหญิงที่กำลังมีประจำเดือน และคนที่เป็นริดสีดวงทวาร



เอกสารอ้างอิง

1. การเตรียมเครื่องยาไทยบางชนิดก่อนใช้ปรุงยา (ประสะ-สะตุ-ฆ่าฤทธิ์).ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยฉบับอนุรักษ์สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
2. ว่านหางจระเข้ ฉบับประชาชนทั่วไป.สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
3. ศิริมา พรสุวัฒนกุล,2552.รายงานการวิจัยเรื่องการศึกษาฤทธิ์สมุนไพรว่านหางจระเข้ในการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร.
4. ว่านหางจระเข้ สรรพคุณและการปลูกว่านหางจระเข้.พืชเกษตร.คอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
5. ว่านหางจระเข้.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://phargerder.com/main.php?action=viewpage&pid=281
6. ว่านหางจระเข้.กลุ่มยารักษาริดสีดวงทวาร.สมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
7. Yates A. (2002) Yates Garden Guide. Harper Collins Australia
8. Random House Australia Botanica's Pocket Gardening Encyclopedia for Australian Gardeners Random House Publishers, Australia
9. ยาดำ.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedruy.com/main.php?action=viewpage&pid=12
10. เต็ม สมิตินันทน์ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยาแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
11. ยาดำ.วิชาเกษตร ปลูกผัก ทำไร่ ไถนา.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.vichakaset.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น