เทียนเกล็ดหอย สรรพคุณและสมุนไพร
ชื่อสมุนไพร เทียนเกล็ดหอย
ชื่ออื่นๆ ไซเลียม ฮักส์
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plantago ovate Forssk., Plantago psyllium Linn.
ชื่อสามัญ Psyllium Seed, Blonde Psyllium Seed, Ispaghula Seed, Psyllium Husk, Psyllium Seed Husk
ชื่อวงศ์ PLANTAGINACEAE
ถิ่นกำเนิด
กำเนิดของเทียนเกล็ดหอย มีถิ่นกำเนิดแถบริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและในทวีปอเมริกาเหนือ, และประเทศนิวซีแลนด์ ปัจจุบันแพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วโลก
ลักษณะทั่วไปเทียนเกล็ดหอย
เทียนเกล็ดหอยเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรงมีแขนงมาก ใบเทียนเกล็ดหอย ใบมีลักษณะแคบยาว เป็นรูปขอบขนาน ขอบใบเรียบหรือหยัก ผิวใบมีขนนุ่ม ดอกเทียนเกล็ดหอย ออกดอกเป็นช่อรูปทรงกระบอก ก้านยาว ดอกเป็นสีเขียวอมน้ำตาล ผลเทียนเกล็ดหอย ผลเป็นกระเปาะแตกได้ เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน แบนคล้ายเรือ ลักษณะด้านนอกนูนด้านในเว้า ผิวมันลื่นเรียบไม่มีขน เมล็ดเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมชมพู มีขนาดกว้างประมาณ 1.1-1.7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.2-3.1 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดจะพองตัวเป็นเมือกเมื่อถูกความชื้น ผงจากเมล็ดจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลอมชมพู มีรสร้อน ขม และหอม เมื่อถูกน้ำจะพองตัวเป็นเมือกเหมือนเมล็ดแมงลัก ลักษณะเมื่อเป็นผง มีสีน้ำตาลปนชมพูอ่อน ๆ มีกลิ่นอ่อนๆ ไม่มีรสเป็นเมือกเมล็ดแป้งหายากมากรูปร่างค่อนข้างกลมมีทั้งเดี่ยวและหมู่เส้นผ่าศูนย์กลางเมล็ดเฉลี่ย 8 ไมครอน
การขยายพันธุ์เทียนเกล็ดหอย
โดยการเพาะเมล็ด และหน่อเล็กๆ การปลูกและการดูแล เทียนเกล็ดหอยเป็นไม้ล้มลุก เมื่อปลูกแล้ว จะมีการแตกหน่อเป็นจำนวนมากจึงอยู่ได้นาน วิธีการปลูกโดยการนำหน่อลงปลูกบนแปลงที่เตรียมไว้โดยการขุดดิน ย่อยดิน ใส่ปุ๋ยคอกผสมกับดินคลุกเคล้าให้เข้ากัน ยกร่อง ขุดหลุมลึกประมาณ 10 ซม. นำหน่อลงปลูก กลบดิน รดน้ำ ระยะปลูกประมาณ 15x20 ซม. หรือปลูกลงกระถาง
องค์ประกอบทางเคมีของเทียนเกล็ดหอย
สารเมือก(mucilage): 20-30% ประกอบด้วยน้ำตาลเชิงซ้อนที่มีน้ำตาลเชิงเดี่ยวหลายชนิด(galactose, glucose, xylose, arabinose, rhamnose, galacturonic acid, plantiobiose, sucrose, fructose) ส่วนใหญ่เป็น arabinoxylan กรดไขมันหลายชนิด: palmitic acid, stearic acid, linoleic acid, oleic acidสารกลุ่มอื่นๆ: total fiber 85 %, soluble fiber 67-71%, ?-sitosterol, aucubin (irridoid), indicaine (alkaloid)
สรรพคุณเทียนเกล็ดหอย
1. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง (เมล็ด)2. ใช้เป็นยาบำรุงกำลังและเส้นเอ็น (เมล็ด)
3. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน โดยส่วนที่เป็น psyllium fiber จะทำหน้าที่ในการดูดซับน้ำตาลจากทางเดินทางอาหารไม่ให้เข้าสู่กระแสเลือด (เมล็ด)
4. ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดไขมันในเลือด ลดการอุดตันของหลอดเลือด (เมล็ด)
5. ใช้เป็นยาแก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย แก้ลมขึ้นเบื้องสูง (เมล็ด)
6. ช่วยแก้คลื่นเหียน (เมล็ด)
7. ช่วยขับเสมหะ (เมล็ด)
8. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิดเรื้อรัง (เมล็ด)
9. เมล็ดนำมาแช่กับน้ำให้พองตัวแล้วใช้ดื่ม จะช่วยทำให้อุจจาระลื่นและเป็นยาระบายชนิดเพิ่มกากอาหาร (เมล็ด)
ตำรายาไทย: ใช้แก้ลมวิงเวียน แก้หน้ามืดตาลาย แก้โลหิตจาง บำรุงโลหิต แก้เลือดเดินไม่สะดวกที่ทำให้ปลายมือปลายเท้าเย็น แก้ลมขึ้นเบื้องสูง แก้บิดเรื้อรัง บำรุงกำลังและเส้นเอ็น แก้คลื่นเหียน ขับเสมหะ บำรุงเลือด เป็นยาระบายชนิดเพิ่มกากอาหาร
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้เมล็ดเทียนเกล็ดหอย ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของเทียนเกล็ดหอย อยู่ในพิกัดเทียนทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
เทียนเกล็ดหอย เป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ มีแหล่งกำเนิด แถบทวีปอเมริกาเหนือ ประเทศนิวซีแลนด์ ปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วโลก และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดเทียน”
เครื่องยาพิกัดเทียน เทียนเกล็ดหอย จัดอยู่ใน “พิกัดเทียน” ที่ประกอบด้วย“พิกัดเทียนทั้ง 5” ได้แก่ เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน “พิกัดเทียนทั้ง 7” (มีเทียนเยาวพาณี และเทียนสัตตบุษย์ เพิ่มเข้ามา) “พิกัดเทียนทั้ง 9” (มีเทียนตากบ และเทียนเกล็ดหอย เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดเทียน คือ ช่วยขับลม แก้อาเจียน บำรุงโลหิต และใช้ในตำรับยาหอม
สปาสูตรหน้าใสด้วยเทียนเกล็ดหอย – ให้ใช้น้ำเทียนเกล็ดหอย 2 ส่วน (ให้เอาผงเทียนเกล็ดหอยมาแช่ด้วยน้ำร้อนคนไปเรื่อย ๆ จนพอง แล้วค่อยนำมาใช้), น้ำแตงกวา 5 ส่วน (ปอกเปลือกออกคั้นเอาแต่น้ำ), นมสด 2 ส่วน, น้ำมะเขือเทศ 1 ส่วน, และน้ำมะนาว 5 หยด ขั้นตอนแรกให้เอานมสดและน้ำมะนาวมาผสมให้เข้ากันก่อน แล้วจึงค่อยเอาส่วนผสมอื่น ๆ เติมลงไป คนให้เข้ากันจนเหนียว แล้วนำมาใช้พอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที ก่อนล้างออกก็ให้ขัดเบา ๆ แล้วล้างออกด้วยน้ำอุ่น และใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นปิดรูขุมขนตามเป็นอันเสร็จ
จากการรวบรวมรายงานการวิจัยตลอดจน เอกสารที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย หรือ เอกสารวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับ Plantago ovate มีส่วนข่อยในการขับถ่าย มีฤทธิ์ลดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหลังมื้ออาหาร(post-prandial glycemia) ลดระดับคอเลสเตอรอลและลดอาการอักเสบ ใยอาหารจะมีผลยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก จากอาหารในระบบทางเดินอาหารด้วยกลไกการเกิดสารประกอบเชิงซ้อน (chelating mechanism) นอกจากนี้ใยอาหารยังมีผลลดการดูดซึมยาบางชนิด เช่น ยาลดระดับคอเลสเตอรอล lovastatin เปลือกเมล็ด Psyllium (Psyllium seed husk) ไม่ได้ให้สารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกายเหมือนพืชอื่นๆ แต่จะให้ใยอาหารมาก
รูปแบบและขนาดวิธีใช้เทียนเกล็ดหอย
• บำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง บำรุงกำลังและเส้นเอ็น ลดระดับน้ำตาล กระตุ้นการหลั่งอิสซูลิน ลดระดับคอเลสเตอรอล แก้ลมวิงเวียน ให้นำเมล็ดแก่แห้งมาแช่ในน้ำให้พองตัว แล้วดื่ม ขนาดที่ใช้ประมาณ 7.5 กรัม• แก้ลมขึ้นเบื้องสูง ขับเสมหะ แก้บิดเรื้อรัง ผู้ใหญ่ให้ใช้เมล็ดครั้งละ 5 – 10 กรัม วันละ 3 ครั้ง ส่วนเด็กให้ใช้เมล็ดเพียงครั้งละ 3 กรัม วันละ 3 ครั้ง โดยนำมาแช่ในน้ำอุ่นให้เมล็ดพองตัวเต็มที่ก่อนแล้วจึงค่อยรับประทาน
ฤทธิ์ทางเภสัชศึกษาของเทียนเกล็ดหอย
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน ลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ลดไขมันในเลือด ลดการอุดตันของหลอดเลือด ลดความดันโลหิต ต้านการเกิดมะเร็ง ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นยาระบายแบบเพิ่มกาก แก้ท้องเสีย ต้านการอักเสบของลำไส้ เพิ่มการหลั่งน้ำดี กระตุ้นการสังเคราะห์น้ำดี ต้านเชื้อแบคทีเรียเมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการศึกษาโดยใช้อาหารที่มี pantethines และเทียนเกล็ดหอยหรือสารสกัดจากเทียนเกล็ดหอย ในขนาด 1-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน และ 10-50,000 มิลลิกรัมต่อวัน (ตามน้ำหนักของเทียนเกล็ดหอย) ตามลำดับ โดยทำการทดลองใช้ในกระต่ายที่ได้รับอาหารที่มีไขมันสูงร่วมกับ 0.5% pantethines และ 20% ผิวของเมล็ดเทียนเกล็ดหอยที่บดให้เป็นผงเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ภายหลังการทดลองพบว่าคอเลสเตอรอลในเลือดมีระดับลดลง[1]
เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศสเปน ได้ทำการทดลองในหนูอ้วน 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้อาหารควบคุม และกลุ่มที่ 2 ให้อาหารร่วมกับ 3.5% เทียนเกล็ดหอย เป็นระยะเวลา 25 สัปดาห์ ทำการวัดน้ำหนักทุกสัปดาห์ วัด systolic blood pressure (SBP) เดือนละ 1 ครั้ง เมื่อจบการทดลอง ทำการวัดระดับ triglycerndes, total cholesterol, FFAs, glucose, insulin, adiponectin และ tumor necrosis factor ≥ (TNF≥) พบว่าหนูที่ได้อาหารที่มีเทียนเกล็ดหอย มีน้ำหนักลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับอาหารควบคุม และหนูกลุ่มควบคุมจะมีค่า SBP, triglycerndes, total cholesterol, FFAs, glucose, insulin และ TNF≥ สูงกว่ากลุ่มที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญ จึงสรุปได้ว่าการบริโภคอาหารที่มีเทียนเกล็ดหอย จะช่วยป้องกันภาวะเซลล์บุผิวหลอดเลือดทำงานผิดปกติ ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ภาวการณ์มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ และการมีระดับ adiponectin และ TNF≥ ในเลือดผิดปกติในหนูอ้วน
การศึกษาผู้ป่วยที่มีระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดสูงเล็กน้อยถึงปานกลางและมีอาการท้องผูกจำนวน 62 คน มีประวัติการรักษาคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอาหารหรือยาที่ได้อย่างน้อย 4 สัปดาห์ก่อนการศึกษา โดยให้ผู้ป่วยกินผลิตภัณฑ์จากเปลือกเมล็ดเทียนเกล็ดหอย 100% ครั้งละขนาด 3.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ผสมในอาหาร เช่นโยเกิร์ตหรือของเหลวซึ่งปราศจากกรดคาร์บอนิคหรือแอลกอฮอล์อย่างน้อย 100 มล. และกินก่อนหรือหลังกินยาชนิดอื่น 1-2 ชม. นาน 3 สัปดาห์
พบว่ามีผู้ป่วยที่ร่วมการทดลองจนสิ้นสุดการทดลอง 54 คน เป็นเพศหญิงอายุเฉลี่ย 60 ปี มีระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดลดลงจากเดิม 252 ± 39 mg/dl เป็น 239 ± 37 mg/dl และค่า LDL-cholesterol ในเลือดลดลงจากเดิม 174 ± 34 mg/dl เป็น 162 ± 31 mg/dl แต่ระดับ Triglycerides และค่า HDL- cholesterol ในเลือดไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการท้องผูกลดลง และผู้ป่วยบางคนมีอาการข้างเคียงในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ปวดท้อง รู้สึกไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แสบร้อนหน้าอก และมีอาการหดเกร็งของกระเพาะอาหาร แต่อาการจะลดลงเรื่อยๆ
การศึกษาทางคลินิกของเทียนเกล็ดหอย
กรณีผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูง: เทียนเกล็ดหอยเป็น non-systemic cholesterol lowering agent ที่มีข้อมูลทางคลินิกสนับสนุน โดยสามารถลดได้ทั้งคอเลสเตอรอลรวม, LDLและLDL/HDL ratio ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญในเวลา 8สัปดาห์กรณีผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรัง: เทียนเกล็ดหอยใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง ผู้ป่วยโรค irritable bowel syndrome (IBS) และผู้ป่วยโรคริดสีดวงทวาร
กรณีผู้ป่วยท้องเสีย: เทียนเกล็ดหอยใช้รักษาผุ้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ให้อาหารทางสาย เทียนเกล็ดหอยจะช่วยลดอาการท้องเสียและอุจจาระที่เป็นไขมัน
กรณีผู้ป่วยเบาหวาน : การรับประทานเทียนเกล็ดหอยก่อนอาหารจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ทั้งผุ้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 (ต้องพึ่งอินซูลิน) และแบบที่ 2 (ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน)
กรณีผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด : การรับประทานเทียนเกล็ดหอยจะช่วยลดระดับไขมันในเลือดผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดได้
กรณีผู้ป่วยริดสีดวงทวาร : การรับประทานเทียนเกล็ดหอยจะช่วยผู้ป่วยริดสีดวงทวารที่ได้รับการผ่าตัด ทำให้อาการปวด และระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลลดลง
กรณีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ : การออกกำลัง และการรับประทานเทียนเกล็ดหอยร่วมด้วย จะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
การศึกษาทางพิษวิทยาของเทียนเกล็ดหอย
การศึกษาทางพิษวิทยาของเทียนเกล็ดหอยยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยที่แน่ชัด แต่มีเพียงการทดสอบความเป็นพิษอยู่เพียงชิ้นเดียว คือ จากการทดสอบความเป็นพิษของเมล็ดเทียนเกล็ดหอย พบว่าเมื่อใช้ผสมในอาหารวัว ขนาด 50% และไม่พบความเป็นพิษ
ข้อแนะนำ / ข้อควรระวัง
ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น การบีบตัวผิดปกติ มีการผ่าตัดทางเดินอาหาร ผู้ป่วยลำไส้อุดตัน นอกจากนี้การใช้เทียนเกล็ดหอยก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้หลังจากรับประทานเมล็ดได้ และการรับประทานเมล็ดก่อนอาหารจะทำให้ไม่อยากอาหาร อาจทำให้เกิดภาวะขาดอาหารได้เอกสารอ้างอิง
1. สรรพคุณทางยาของเทียนเกล็ดหอย.แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://thaiherbal.org/2328/23282. เทียนเกล็ดหอย.หนังสือสมุนไพรไขมันในเลือด 140 ชนิด.หน้า 109 – 110
3. ภก.จุไรรัตน์ เกิดดอนแผก.เทียนเกล็ดหอย.หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด . หน้า 92 – 93
4. เทียนเกล็ดหอย Psyllium Seed . หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ . คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 214
5. ภัสสรา เงินดี . วารสาร ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 14 ฉบับที่ พ.ศ.2518 . หน้า 103 – 112
6. เทียนเกล็ดหอย . วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี . (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://thwikipedia.org/wiki/
7. เทียนเกล็ดหอย.ฐานข้อมูลพันธุกรรมพืชสวน.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://hort.ezathai.org/?p=341
8. เปลือกเมล็ดเทียนเกล็ดหอยลดระดับคลอเรสเตอรอล.หน่วยบริการฐานข้อมูนสมุนไพรสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
9. เทียนเกล็ดหอย.,ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudruy.com/main.php?action=viewpage&pid=65
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น