ราชพฤกษ์ สรรพคุณและงานวิจัย
ชื่อ ราชพฤกษ์
ชื่ออื่นๆ คูณ ,ชัยพฤกษ์ (ภาคกลาง) , ลมแล้ง (ภาคเหนือ) , ลักเกลือม ลักเคย (ภาคใต้) , ปียู , ปูโย , เปอโซ ,แมะหล่าอยู่ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula Linn.
ชื่อสามัญ Golden shower, Indian laburnum, Pudding-pine tree, Laburnum Indian, Laburnum, Purging cassia
วงศ์ FABACEAE (LEGUMINOSEA-CEASALPINIODIEAE)
ถิ่นกำเนิด
ราชพฤกษ์ เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียใต้ ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถาน ไปจนถึงอินเดีย พม่า และศรีลังกา ดอกราชพฤกษ์เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อน เจริญเติบโตได้ดีที่สุดในที่โล่งแจ้ง สามารถปลูกได้ทั้งดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว ทนต่อความแห้งแล้งและดินเค็มได้ดี แต่ไม่ทนในอากาศหนาวจัดต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้มงคลนิยมใช้ประกอบพิธีที่สำคัญ เช่น พิธีเสาไม้หลักเมือง เป็นส่วนประกอบในการทำคฑาจอมพล และ ยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร ทำพิธีปลูกบ้าน ฯลฯ
คนไทยในสมัยโบราณเชื่อว่า ควรปลูกต้นราชพฤกษ์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเรือนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นทวีคูณ ซึ่งความเป็นจริงคือทิศดังกล่าวจะได้รับแดดจัดตลอดช่วงบ่าย จึงควรปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ลดความร้อนและทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น และยังมีความเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ประจำบ้านจะช่วยให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ด้วยคนไทยส่วนใหญ่ยอมรับว่าต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีคุณค่าสูงและยังเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยอีกด้วย นอกจากนี้มีความเชื่อว่า ใบของต้นราชพฤกษ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะในพิธีทางไสยศาสตร์ให้ใบทำน้ำพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ได้ผลดีดังนั้นจึงถือว่าต้นราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลนาม
ลักษณะทั่วไป
ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เปลือกต้นเกลี้ยง สีขาวอมเทา แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคู่ ออกเรียงสลับ ใบย่อย 3-8 คู่ เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 7-12 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบยาว 30-40 เซนติเมตร ฐานใบมน ปลายใบแหลม ขอบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบเกลี้ยง ค่อนข้างบาง หูใบมีขนาดเล็กและร่วงง่าย ดอกช่อแบบช่อกระจะ สีเหลืองสด ออกตามซอกใบหรือปลายยอด 1-3 ช่อ เป็นช่อห้อยลงเป็นโคมระย้า ยาว 20-40 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดบานกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่แกมรูปรี ผิวด้านนอกมีขน กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง รูปไข่ ปลายมน เกสรตัวผู้ 10 อัน สั้น 7 อัน ยาว 3 อัน อับเรณูมีขนาดเล็ก ก้านเกสรตัวเมีย และรังไข่มีขนยาวคล้ายไหม ผลเป็นฝักยาว รูปแท่งกลม กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 20-60 เซนติเมตร ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกฝักแข็งกรอบ ฝักแก่ไม่แตก แต่จะหลุดร่วงทั้งฝัก และหักแตกเป็นชิ้น ภายในฝักจะมีผนังกั้นเป็นช่องๆ แต่ละช่องมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีเนื้อเหนียวเปียกสีดำหุ้ม มีรสหวาน เมล็ดแบนรี สีน้ำตาล มีเมล็ด 50-70 เมล็ด ต้นราชพฤกษ์นี้ เป็นต้นไม้ประจำชาติไทย พบตามป่าเต็งรัง ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ติดผลราวเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม
การขยายพันธุ์
การปลูกราชพฤกษ์นิยมปลูกด้วยเมล็ด รองลงมา คือ การปักชำกิ่ง ซึ่งการปักชำกิ่งจะได้ต้นใหม่ที่ลำต้นไม่ใหญ่ สูง ออกดอกเร็ว แต่วิธีนี้มีการชำติดยาก หากดูแลไม่ดี และระยะการชำติดนาน
สำหรับการปลูกด้วยเมล็ด จะใช้เมล็ดจากฝักแก่ที่ร่วงจากต้นหรือติดบนต้นที่มีลักษณะเปลือกฝักสีน้ำตาล จนถึง ดำ สามารถเก็บได้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม นำมาทุบเปลือก และแกะเมล็ดออก ลักษณะเมล็ดพันธุ์ที่ดีควรเก็บจากต้นที่มีลำต้นตรง สูงใหญ่ ไม่มีโรค ฝักไม่รอยกัดแทะของแมลง ฝักอวบหนา เป็นมันเงา เมล็ดใน 1 กิโลกรัม จะได้เมล็ดประมาณ 7,400 เมล็ด
เนื่องจากเมล็ดมีเปลือกหนา หากต้องการกระตุ้นการงอกที่เร็ว ให้ใช้วิธี ดังนี้
ให้นำเมล็ดมาแช่ในกรดกำมะถันเข้มข้น เป็นเวลา 45-60 นาที แล้วล้างน้ำให้สะอาด
เฉือนเปลือกออกเล็กน้อย
นำไปแช่ในน้ำเดือด นาน 2-3 นาที นำออกทิ้งไว้ให้เย็น
การเพาะชำ การเพาะหว่านในแปลงก่อนย้ายใส่ถุงเพาะชำ ทำโดยการหว่านในแปลงเพาะที่ใช้ดินผสมปุ๋ยคอกกองโรยให้สูง 15-20 ซม. หรือใช้ไม้แผ่นเป็นแบบกั้น เมื่อกองดินสูงได้ระดับหนึ่งแล้วจะหว่านเมล็ดก่อน แล้วใช้ดินโรยปิดหน้าบางๆอีกครั้ง หลังจากนั้น รดน้ำเป็นประจำ ซึ่งต้นอ่อนราชพฤกษ์จะงอกภายใน 15 วัน ทั้งนี้ ควรให้มีระยะห่างของเมล็ดพอควร อย่างน้อยประมาณ 5 ซม. ขึ้นไป เมื่อกล้าอายุได้ประมาณ 1 เดือน หรือมีความสูงประมาณ 5-7 เซนติเมตร ให้ถอนต้นย้ายไปเพาะในถุงพลาสติกขนาด 4 x 6 นิ้ว และดูแลให้น้ำอีกครั้ง
การเพาะในถุงเพาะชำ การเพาะวิธีนี้ จะทำให้ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายได้กว่าวิธีแรก ด้วยการนำเมล็ดเพาะในถุงพลาสติกได้เลยโดยไม่ผ่านการเพาะในแปลงก่อน ทำให้สามารถย้ายกล้าที่เติบโตแล้วลงแปลงปลูกได้ทันที
การเพาะจะใช้ดิน ผสมกับวัสดุเพาะ เช่น แกลบ ขี้เลื่อย เศษใบไม้ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก อัตราส่วนดินกับวัสดุเพาะที่ 1:1 หรือ 1:2 บรรจุในถุงเพาะพลาสติก หลังจากนั้นนำเมล็ดลงหยอด 1 เมล็ด/ถุง ทำการรดน้ำ และดูแลจนถึงระยะลงแปลงปลูก
การปลูก ต้นกล้าที่ได้จากการเพาะทั้งสองวิธี จะมีระยะที่เหมาะสมที่ความสูงประมาณ 25-30 ซม. สามารถปลูกในพื้นที่ว่างที่ต้องการ แต่หากปลูกในแปลงที่ใช้กล้าตั้งแต่ 2 ต้น ขึ้นไป ควรมีระยะห่างระหว่างต้นที่ 4-6 เมตร หรือมากกว่า ต้นคูนที่ปลูกในช่วง 2-3 ปีแรก จะเติบโตช้า แต่หลังจากนั้นจะเติบโตเร็วขึ้น อายุการออกดอกครั้งแรกประมาณ 4-5 ปี
องค์ประกอบทางเคมี
• เนื้อในผล พบสารกลุ่มแอนทราควิโนน เช่น aloin, fistulic acid, rhein, barbaloin, sennoside A, sennoside B เปลือกต้น พบ tannin, rhein, sennoside A, sennoside B, barbaloin, aloin, emodin, chrysophanol• ในฝัก alkaloids oxalates flavonoid
• ในเมล็ด hydrocyanic acid Arginine saponin
• ในดอก epicatechin procyanidin triterpenes
Aloin
Sennoside A
rhien
Arginine
Triterpenes
สรรพคุณ ตำรายาไทย
เนื้อในฝัก รสหวานเอียน แก้ท้องผูก ฝักอ่อนราชพฤกษ์ สามารถใช้ขับเสมหะ ระบายพิษไข้ ช่วยระบายท้องเด็ก เป็นยาระบายที่ไม่ปวดมวน ใช้ในเด็กหรือสตรีมีครรภ์ ท้องผูกเรื้อรัง แก้ไข้มาลาเรีย บิด แก้ตานขโมย ใช้พอกแก้ปวดข้อ ระบายพิษโลหิต แก้ร้อนในกระหายน้ำ บรรเทาอาการแน่นหน้าอก ฟกช้ำ ชำระน้ำดี แก้ลมเข้าข้อและขัดข้อ ถ่ายโรคกระษัย ถ่ายเส้นเอ็น
ใบราชพฤกษ์ รสเมา ใช้ระบายท้อง ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ แก้ฝีและเม็ดผื่นคันตามร่างกาย ฆ่าพยาธิผิวหนัง ตำพอกแก้ปวดข้อ แก้ลมตามข้อ แก้อัมพาต ใบอ่อน แก้ไข้รูมาติก
ดอกราชพฤกษ์ รสเปรี้ยว ขม ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ ระบายท้อง แก้พรรดึก แก้แผลเรื้อรัง พุพอง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม เป็นยาหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคกระเพาะอาหาร ขับพยาธิไส้เดือน แก้ตกเลือด มีสารที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีสารออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ เช่น เชื้อที่ก่อการอักเสบของหูชั้นนอก สารสกัดจากดอกราชพฤกษ์มีฤทธิ์การต่อต้านเชื้อรา
เปลือกต้นราชพฤกษ์ รสฝาดเมา แก้ท้องร่วง ฝนผสมกับหญ้าฝรั่น น้ำตาล น้ำดอกไม้เทศ กินแล้วทำให้เกิดลมเบ่งในการคลอดบุตร สมานแผล แก้ไข้ แก้ฝีคุดทะราด แก้โรคในทรวงอก แก้ฟกบวมในท้อง แก้ปวดมวน แก้เม็ดผื่นคันในร่างกาย แก้ตกเลือด แก้บวม แก้พยาธิ แก้ฝีเปื่อยพัง
แก่นราชพฤกษ์ รสเมา ขับพยาธิไส้เดือน แก้กลากเกลื้อน ระบายพิษไข้ กินกับหมาก กระพี้ รสเมา แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน
รากราชพฤกษ์ รสเมา แก้กลากเกลื้อน ฆ่าเชื้อคุดทะราด ระบายพิษไข้ แก้เซื่องซึม แก้หายใจขัด แก้ไข้ รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ ถุงน้ำดี เป็นยาระบายท้อง รักษาขี้กลาก แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้พยาธิ แก้ตกเลือด
เปลือกรากราชพฤกษ์ รสฝาด ต้มดื่ม ระบายพิษไข้ แก้ไข้มาลาเรีย
เปลือกเมล็ดและเปลือกฝัก ถอนพิษเบื่อเมา ทำให้อาเจียน เมล็ด ใช้ถ่ายพยาธิ แก้ตานซางตัวร้อน มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว
เปลือกและใบราชพฤกษ์ บดผสม ทาฝี และเม็ดตามร่างกาย
สารที่พบในราชพฤกษ์
สารคาร์ทามีดีน (carthamidine) ของดอก มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิว ต้านการเสื่อมของเซลล์ สารแคโรทีนอยด์ หลายชนิดในใบ และดอกราชพฤกษ์ออกฤทธิ์รวมกันหลายด้าน อาทิ
ต้านการเสื่อมสภาพของเซลล์ ป้องกันผิวจากอันตรายของแสง ป้องกันผิวเหี่ยวย่น
ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันโรคตาอักเสบ โรคต้อกระจก และช่วยให้มองเห็นได้ดีในตอนกลางคืน
ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกัน และลดอาการภูมิแพ้
บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ ป้องกันโรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือด
ต้านเซลล์มะเร็ง
สารในกลุ่ม saponin มีคุณสมบัติเป็นสารลดแรงตึงผิว มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ขยายหลอดลม แต่มีผลข้างเคียงทำให้เม็ดเลือดแตกตัว
สาร anthraquinones ที่พบในใบ และฝัก มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ใช้เป็นยาระบาย ใช้ฆ่าเชื้อ
สารในกลุ่ม flavonoid ที่พบในใบ ดอก และฝัก หลายชนิดออกฤทธิ์รวมกัน ต้านเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ ช่วยขยายหลอดลม ช่วยให้ผนังเส้นเลือดแข็งแรง รักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก
สารแทนนิน (tannin)ที่พบในเปลือก และแก่น มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาอาการท้องร่วง นอกจากนั้น เมื่อเข้าสู่ลำไส้จะกับโปรตีนในเยื่อบุ ช่วยลดการอักเสบ ต้านการสูญเสียน้ำ ช่วยดูดซึมน้ำกลับ แต่มีผลทำให้อาหารไม่ย่อย ทำให้ท้องอืด
รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้ เอาเนื้อในฝักแก่ก้อนเท่าหัวแม่มือ (ประมาณ 4 กรัม) น้ำ 1 ถ้วยแก้วต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนนอนหรือตอนก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว เป็นยาระบายสำหรับคนที่ท้องผูกเป็นประจำและสตรีมีครรภ์
รากราชพฤกษ์ นำมาต้มรับประทาน ใช้ลดไข้ รักษาโรคในถุงน้ำดี นำมาฝนทารักษากลาก เกลื้อน และโรคผิวหนังต่างๆ ราก เปลือก และแก่น นำมาต้มใช้ล้างบาดแผล ต้านเชื้อแบคทีเรีย รักษาแผลติดเชื้อ แผลอักเสบ
ใบหรือดอกราชพฤกษ์ กินสดหรือต้มน้ำรับประทาน ใช้ต้านรักษาโรคเบาหวาน บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ ลดอัตราเสี่ยงของโรคระบบหัวใจ และหลอดเลือด นำมาบด ใช้ทาผิวหนัง ใช้ทาแผล ต้านเชื้อแบคทีเรีย
เนื้อฝัก น้ำต้มจากฝัก รับประทานแก้บรรเทาอาหารจุกเสียดแน่นท้อง
เปลือกเมล็ดและเปลือกฝักมีสรรพคุณช่วยถอนพิษ ทำให้อาเจียน หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 5-6 เมล็ด นำมาบดเป็นผงแล้วรับประทานก็ได้
ฝักและใบมีสรรพคุณช่วยขับพยาธิ ด้วยการใช้ฝักแห้งประมาณ 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม
รากนำมาฝนใช้ทารักษากลากเกลื้อน และใบอ่อนก็ใช้แก้กลากได้เช่นกัน
เปลือกและใบนำมาบดผสมกันใช้ทาแก้เม็ดผดผื่นตามร่างกายได้
นอกจากนี้ยังมีการนำสมุนไพรราชพฤกษ์มาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น
• น้ำมันนวดราชพฤกษ์ ที่เคี่ยวมาจากน้ำมันจากใบคูน เป็นน้ำมันนวดสูตรร้อนหรือสูตรเย็น ที่ใช้นวดแก้อัมพฤกษ์อัมพาต และแก้ปัญหาเรื่องเส้น
• ลูกประคบราชตารู เป็นลูกประคบสูตรโบราณ ที่ใช้ใบคูนเป็นตัวยาตั้งต้น ประกอบไปด้วย ขมิ้นอ้อย เทียนดำ กระวาน และอบเชยเทศ โดยลูกประคบสูตรนี้จะใช้ปรุงตามอาการ โดยจะดูตามโรคและความต้องการเป็นหลัก ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่เหมือนกัน
• ผงพอกคูนคาดข้อ ทำจากใบคูนที่นำมาบดเป็นผง ช่วยแก้อาการปวดเส้น อัมพฤกษ์อัมพาต โดยนำมาพอกบริเวณที่เป็นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการปวดข้อ รักษาโรคเกาต์ และยังช่วยลดอาการอักเสบได้อีกด้วย ซึ่งสูตรนี้สามารถใช้กับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก ตาไม่หลับ มุมปากตกได้ด้วย
• ชาสุวรรณาคา ทำจากใบคูน สรรพคุณช่วยในด้านสมอง แก้ปัญหาเส้นเลือดตีบในสมอง ช่วยให้ระบบไหลเวียนในร่างกายดีขึ้น ช่วยแก้อัมพฤกษ์อัมพาต โดยเป็นตัวยาที่มีไว้ชงดื่มควบคู่ไปกับการรักษาแบบอื่น ๆ
ฤทธิ์ทางเภสัชของราชพฤกษ์
ฤทธิ์เป็นยาถ่าย สารสกัดจากฝักคูนขนาด 100 และ 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย และพบว่าสารสกัดจากรากคูนด้วยเมทานอลที่ความเข้มข้น 0.1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase ได้ ซึ่งอาจเป็นกลไกที่ทำให้สารสกัดคูนมีฤทธิ์เพิ่มการบีบตัวของลำไส้ อย่างไรก็ตามสารสกัดจากฝักคูนที่ความเข้มข้นต่ำคือ 4-8 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้หนูตะเภา ฤทธิ์ต้านเชื้อรา สารสกัดจากใบคูนด้วยเมทานอลสามารถต้านเชื้อรา Trichophyton rubrum, Microsporum gypseum และ Penicillium marneffei สารสกัดจากใบคูนด้วยน้ำที่ความเข้มข้น 1 กรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งเชื้อรา Epidermophyton floccusum, Trichophyton mentagrophyte และ M. gypseum ได้เล็กน้อย นอกจากนี้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 95 และน้ำสามารถต้านเชื้อ T. rubrum, T. mentagrophyte และ M. gypseum และสารสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 95 น้ำ และคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Dermatophytes, Candida albicans, Crytococcus neoformans และ P. marneffei การทดสอบสารสกัดฝักคูนด้วยไดคลอโรมีเทน:เมทิลแอลกอฮอล์ในอัตราส่วน 1:1 ที่ความเข้มข้น 500 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร พบว่าสารสกัดที่ได้มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา C. albicans, และ Saccharomyces cerevisiae ได้ดี ยับยั้ง Aspergillus niger ได้ปานกลาง และออกฤทธิ์ดีขึ้นที่ความเข้มข้นเพิ่มขึ้น
สารสกัดดอกคูนด้วยเอทิลอะซีเตตออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้ดี 6 ชนิด ได้แก่ T. rubrum, T. mentagrophytes, T. simii, E. floccosum และ Scopulariopsis sp. โดยสารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ 4-hydroxy benzoic acid
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดจากใบคูนด้วยไดเอทิลอีเธอร์ เอทิลอะซีเตท ไดคลอโรมีเทน เมทานอล และน้ำที่ความเข้มข้น 3,000-5,000 ส่วนในล้านส่วน (ppm) สามารถยับยั้งเชื้อ Escherichia coli, Klebsiella aerogenes, Proteus vulgaris และ Pseudomonas aerogenes สารสกัดจากใบและเปลือกคูนด้วยน้ำสามารถต้านเชื้อ E. coli สารสกัดจากผลคูนด้วยเมทานอลสามารถยับยั้งเชื้อ Bordetella bronchiseptica, Stapphylococcus aureus และ Bacillus cereus นอกจากนี้สารสกัดจากกิ่งด้วยเอทานอลร้อยละ 95 และสารสกัดจากเปลือกลำต้นด้วยเอทานอลร้อยละ 70 มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureus ได้ การทดสอบสารสกัดฝักคูนด้วยไดคลอโรมีเทน:เมทิลอัลกอฮอล์ในอัตราส่ วน 1:1 ที่ความเข้มข้น 500 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร พบว่าสารสกัดออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Streptococcus faecalis ได้ดี ยับยั้งเชื้อ Bordetella bronchiseptica, Micrococcus luteus , S. aureus, Klebsiella pneumoniae และ P. aeruginosa ได้ปานกลาง ยับยั้งเชื้อ Staphylococcus epidermidis และ E. coli ได้เล็กน้อย แต่ไม่ยับยั้งเชื้อ B. cereus var mycoides, Bacillus pumilus และ Bacillus subtilis และเมื่อเพิ่มความเข้มข้นสารสกัดเป็น 1,000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร พบว่าสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อทุกชนิดข้างต้นได้ดี ยกเว้นเชื้อ E. coli และ P. aeruginosa จะยับยั้งได้ปานกลาง
นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดฝักคูนช่วยเสริมฤทธิ์ยา amoxicillin โดยการใช้สารสกัดนี้ร่วมกับยา amoxicillin จะสามารถยับยั้งเชื้อ Salmonella enterica, Serovar Typhi ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อยาหลายชนิดได้ดีกว่าเมื่อใช้ยาหรือสารสกัดคูนเดี่ยวๆ
การศึกษาด้านพิษวิทยา
การทดสอบพิษเฉียบพลัน เมื่อป้อนสารสกัดด้วยน้ำของฝักคูนให้หนูเม้าส์ พบว่ามีความเป็นพิษเล็กน้อย การศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง พบว่าสารสกัดของฝักไม่ทำให้เกิดพยาธิสภาพกับอวัยวะอื่นๆ เมื่อป้อนสารสกัดฝักให้กับกระต่ายทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร ขนาด 8 กรัม/กิโลกรัม พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษ น้ำต้มฝักที่มีปริมาณแอนทราควิโนนรวมและแอนทราควิโนนไกลโคไซด์รวมร้อยละ 1.45-1.85 โดยน้ำหนัก และร้อยละ 0.38-0.71 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ ไม่พบความเป็นพิษเฉียบพลันต่อหนูเม้าส์และหนูแรทภายหลังจากได้รับสารสกัด 5 กรัม/กิโลกรัม ไม่ปรากฏว่าหนูตายหรือแสดงอาการผิดปกติใน 14 วันสารสกัดฝักคูนเปลือกต้น และเมล็ดด้วยเอทานอล:น้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ พบว่าขนาดสูงสุดที่สัตว์ทดลองทนได้ เท่ากับ 250 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
การศึกษาความเป็นพิษของสาร clerosterol ซึ่งแยกได้จากสารสกัดฝักคูนด้วยเฮก เซนต่อเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมพบว่า เป็นพิษน้อยกว่ายา pentamidine ที่ใช้ในการรักษาโรค Leishmaniasis 3.6 เท่า
ข้อแนะนำ / ข้อควรระวัง
การทำเป็นยาต้ม ควรต้มให้พอประมาณจึงจะได้ผลดี หากต้มนานเกินไปหรือเกินกว่า 8 ชั่วโมง ยาจะไม่มีฤทธิ์ระบาย แต่จะทำให้ท้องผูกแทน และควรเลือกใช้ฝักที่ไม่มากจนเกินไป และยาต้มทีได้หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้อาเจียนได้อาการข้างเคียง มีรายงานว่าผู้ป่วย 49 คน รับประทานต้นคูนแล้วเกิดพิษ โดยมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปากเจ็บ ง่วงซึม เพ้อคลั่ง และท้องเสีย
เอกสารอ้างอิง
1. คูน.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=2162. ชลธิชา ควรคำนวณ,ราชพฤกษ์ในท่องโลกสมุนไพร.
3. สุนทรี สิงหบุตร,2535.สรรพคุณสมุนไพร200ชนิด
4. ราชพฤกษ์.วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก.http://.wikipedia.org/w/index.php?title=ราชพฤษ์&oldid=6849471
5. ภัสสร์พัณณ์ หลวงไผ่,2549.ผลในสภาพทดลองของสารสกัดด้วยน้ำจากมะหาด(/Artocarpus takoocha Roxb.)ราชพฤกษ์(Cassia fistula Linn.) และแก้ว(Murraya paniculata Jack) ที่มีต่อพื้นผิวพยาธิใบไม้Haplorchis taichui.
6. เมทนี ธาดานุกูลวัฒนา,2552.การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชะลอวัยที่มีส่วนผสมสารสกัดดอกราชพฤกษ์
7. นักรบ เจริญสุข,2552.ประสิทธิภาพของสารสกัดจากฝักคูนในการป้องกันการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชจำพวกหนอนกระทู้ในผักคะน้า
8. คูน.กลุ่มยาถ่าย.สมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็กพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
9. คูน.ฉบับประชาชนทั่วไป.สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น