โกฐน้ำเต้า สรรพคุณและงานวิจัย
ชื่อสมุนไพร โกฐน้ำเต้า
ชื่ออื่นๆ ตั่วอึ๊ง (จีนแต้จิ๊ว) , ต้าหวาง (จีนกลาง) , เยื่อต้าหวาง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rheum palmatum L. หรือ R. tanguticum Maxim. EX Balf. หรือ R. officinale Baill.
ชื่อสามัญ Rhubarb
วงค์ POLYGONACEAE
ถิ่นกำเนิด
เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบยุโรป และเอเชีย ในประเทศอินเดีย จีน ทิเบต รัสเซียสถานที่พบในประเทศจีน 青海、四川、陕西、甘肃、云南、西藏、宁夏、贵 州、湖北
Qīnɡhǎi、Sìchuān、Shǎnxī、Gānsù、Yúnnán、Xīzànɡ、Nínɡxià、
Guìzhōu、Húběi
ชิงไห่ เสฉวน ส่านซี กานซู่ ยูนนาน ทิเบต หนิงเซี่ย กุ้ยโจว หูเป่ย
ลักษณะทั่วไปโกฐน้ำเต้า
โกฐน้ำเต้าเป็นเหง้าและรากแห้งของพืชชนิดใดชนิดหนึ่งใน 3 ชนิด ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rheum officinal Baill., R.palmatum L. และ R.tanguticum (Maxim. Ex Regel) Maxim.ex Balf. ในวงค์ Polygonaceae หรือ เหง้าและรากแห้งของพืช 2 หรือ 3 ชนิดข้างต้นปนกัน โดยจัดเป็นพรรณไม้พุ่มที่มีความสูงของต้นประมาณ 2 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านสาขามากและมีใบเป็นพุ่ม เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเรียบมัน มีลายเล็กน้อยและไม่มีขนปกคลุม มีเหง้าอยู่ใต้ดินขนาดป้อมและใหญ่ เนื้อนิ่ม ลำต้นใต้ดินมีลักษณะเป็นโพรงกลวงและมียางสีเหลืองใบโกฐน้ำเต้า ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ เป็นแฉกคล้ายนิ้วมือ มีประมาณ 3-7 แฉก มีขนาดกว้างและยาวใกล้เคียงกัน ใบมีขนาดประมาณ 35-40 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเป็นหยักแบบฟันเลื่อยเล็กน้อย หน้าใบและหลังใบมีขนขึ้นปกคลุม ก้านใบมีขนาดใหญ่และยาว ตรงบริเวณก้านใบมีขนสีขาวปกคลุมอยู่
ดอกโกฐน้ำเต้า ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งก้าน ดอกเป็นข้อ ๆ ในก้านช่อกิ่งหนึ่งจะมีประมาณ 7-10 ช่อ ก้านดอกมีความยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ดอกย่อยจะแยกออกเป็นแฉก 6 แฉก ดอกมีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกเรียงซ้อนกันเป็นชั้น 2 ชั้น ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 9 อัน
ผลโกฐน้ำเต้า ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่คล้ายสามเหลี่ยม บริเวณเหลี่ยมจะมีเยื่อบาง ๆ หุ้มอยู่ ผลเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 7-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 9-10 มิลลิเมตร โดยผลจะแก่ในช่วงเดือนสิงหาคม
การขยายพันธุ์โกฐน้ำเต้า
ปัจจุบัน โกฐน้ำเต้านิยมปลูกกันมากในประเทศจีน เพราะลักษณะอากาศ และดินเหมาะสมกับพืชชนิดนี้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกลำต้น และวิธีการเพาะเมล็ด การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวราก และเหง้าปลายฤดูใบไม้ร่วงเมื่อลำต้น และใบเหี่ยวหรือเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ผลิถัดไปก่อนแตกหน่อ แยกรากฝอยและเปลือกนอกทิ้ง นำสมุนไพรมาหั่นเป็นแว่นหรือเป็นท่อน ๆ ตากแดดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในสถานที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดีองค์ประกอบทางเคมีของโกฐน้ำเต้า
โกฐน้ำเต้ามีสารสำคัญกลุ่ม anthraquinones ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสาร hydroxyanthracene แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มย่อย free anthraquinones เช่น chrysophanol , emodin, rhein, alo-emodin, physcion กลุ่มย่อย anthraquinone glycosides เช่น rheinoside A-D, chrysophanein, glucoemodin, palmatin และกลุ่มย่อย biathrones เช่น sennoside A-F, rheidin A-C นอกจากนั้นในโกฐน้ำเต้ายังมีสารกลุ่ม tannins ด้วย
Emodin
Aloe emodin
Rhein
chrysophanol
Physcion
สูตรโครงสร้างสาระสำคัญที่พบมากในสมุนไพรโกฐน้ำเต้า
คุณค่าทางโภชนาการของโกฐน้ำเต้าดิบ(ไม่ระบุว่าส่วนใด แต่เข้าใจว่าคือส่วนของก้านใบ)ต่อ 100 กรัม• พลังงาน 88 กิโลแคลอรี
• คาร์โบไฮเดรต 4.54 กรัม
• น้ำตาล 1.1 กรัมผักโกฐน้ำเต้า
• เส้นใยอาหาร 1.8 กรัม
• ไขมัน 0.3 กรัม
• โปรตีน 0.8 กรัม
• วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม 2%
• วิตามินบี 2 0.03 มิลลิกรัม 3%
• วิตามินบี 3 0.3 มิลลิกรัม 2%
• วิตามินบี 5 0.085 มิลลิกรัม 2%
• วิตามินบี 6 0.024 มิลลิกรัม 2%
• วิตามินบี 9 7 ไมโครกรัม 2%
• โคลีน 6.1 มิลลิกรัม 1%
• วิตามินซี 8 มิลลิกรัม 10%
• วิตามินอี 0.27 มิลลิกรัม 2%
• วิตามินเค 29.3 ไมโครกรัม 28%
• ธาตุแคลเซียม 86 มิลลิกรัม 9%
• ธาตุเหล็ก 0.22 มิลลิกรัม 2%
• ธาตุแมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม 3%
• ธาตุแมงกานีส 0.196 มิลลิกรัม 9%
• ธาตุฟอสฟอรัส 14 มิลลิกรัม 2
• ธาตุโพแทสเซียม 288 มิลลิกรัม 6%
• ธาตุโซเดียม 4 มิลลิกรัม 0%
• ธาตุสังกะสี 0.1 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่
สรรพคุณโกฐน้ำเต้า
สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน โกฐน้ำเต้า มีฤทธิ์ระบาย ขับของเสียตกค้าง สรรพคุณแก้ของเสียตกค้างภายในกระเพาะอาหารและลำไส้ (ท้องผูกจากภาวะร้อน ตัวร้อนจัด) หยางของระบบม้ามไม่เพียงพอ มีของเสียและความเย็นตกค้าง ทำให้ท้องผูก อาหารตกค้าง ปวดท้องน้อย ถ่ายไม่สะดวก และมีฤทธิ์ระบายความร้อน ขับพิษร้อน ขับพิษ ใช้ในผู้ป่วยที่มีระบบโลหิตร้อน (อาเจียนเป็นเลือด เลือดกำเดา ตาแดง คอบวม เหงือกบวม) ขับพิษร้อน แผลฝีหนองบวม นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ช่วยให้เลือดหมุนเวียน กระจายเลือดคั่ง ใช้แก้สตรีประจำเดือนไม่มาเนื่องจากมีเลือดคั่ง แก้ฟกช้ำ ช้ำใน เลือดคั่ง ปวด บวม เป็นต้น• โกฐน้ำเต้าผัดเหล้าช่วยขับพิษร้อนในเลือด โดยเฉพาะส่วนบนของร่างกายตั้งแต่ลิ้นปี่ขึ้นไป ได้ แก่ ปอด หัวใจ
• โกฐน้ำเต้าถ่านช่วยระบายความร้อนในระบบโลหิต ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต และช่วยห้ามเลือด
• โกฐน้ำเต้านึ่งเหล้าช่วยระบายความร้อนและขับสารพิษในร่างกาย และช่วยลดฤทธิ์ยาถ่ายของโกฐน้ำเต้าให้มีความรุนแรงน้อยลง
• โกฐน้ำเต้าผัดน้ำส้มช่วยขับของเสียที่ตกค้างอยู่ภายในกระเพาะอาหารและลำไส้
สรรพคุณตามตำราแพทย์แผนไทย รากหรือเหง้า รสฝาดมันสุขุม (ปอกเปลือกออกนำไปนึ่งแล้วตากแห้ง) แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย บำรุงธาตุ แก้ท้องเสีย ขับลมในลำไส้ ขับปัสสาวะและอุจจาระให้เดินสะดวก ระบายท้อง รู้ถ่ายรู้ปิดเอง แก้เจ็บตา แก้ริดสีดวงทวาร มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดความดันโลหิต ต้านเชื้อรา ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ต้านการชัก ต้านพิษต่อตับและไต ต้านไวรัส ลดยูเรียในเลือด ขยายหลอดเลือด ทำให้แท้ง มีสารเหมือนอินซูลิน ขับน้ำดี มีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน
ในประเทศไทย โกฐน้ำเต้าถูกใช้ในตำราแพทย์แผนไทยหลายตำรับด้วยกัน โดยถูกจัดอยู่ใน “พิกัดโกฐพิเศษ” ซึ่งประกอบไปด้วยโกฐ 3 ชนิด ร่วมกับโกฐกะกลิ้งและโกฐกักกรา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ.2556 มีการนำโกฐน้ำเต้ามาใช้เป็นตัวยาตรงในกลุ่มยาถ่ายหรือยาระบาย และเป็นตัวยาช่วยในอีกหลายตำรบ เช่น ยาตรีหอม ยาหอมอินทจักร ยาธรณีสันฑะฆาต เป็นต้น
รูปแบบ / ขนาดวิธีใช้โกฐน้ำเต้า
การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 3-30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม เนื่องจากโกฐน้ำเต้ามีฤทธิ์ถ่ายรุนแรง ดังนั้นเวลาต้มให้ใส่ทีหลัง และหากนำไปนึ่งกับเหล้าจะทำให้ฤทธิ์ถ่ายน้อยลง แต่ช่วยปรับการหมุนเวียนของเลือดให้ดีขึ้นหากเป็นเหง้าแห้ง ให้ใช้ครั้งละประมาณ 3-12 กรัม (บ้างว่าใช้ในขนาด 3-30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำเป็นยาดื่ม แต่ถ้าเป็นเหง้าแบบที่บดเป็นผงมาแล้วให้ใช้ครั้งละประมาณ 1-1.5 กรัม
ฤทธิ์ทางเภสัชของโกฐน้ำเต้า
จากข้อมูลการศึกษาวิจัยพรีคลินิกพบว่า สาระสำคัญในโกฐน้ำเต้า โดยเฉพาะ sannosides A – F และ rheinosides A – D ออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวชองลำไส้ใหญ่ ทำให้มีปริมาณน้ำในลำไส้ใหญ่มากขึ้น จึงแสดงฤทธิ์เป็นยาถ่าย โดยมีฤทธิ์ฝาดสมานร่วมด้วยอันเนื่องมาจากฤทธิ์ของ tannins ซึ่งสอดคล้องกับตำราสรรพคุณยาไทยว่าโกฐน้ำเต้ามีสรรพคุณขับลมสู่คูถทวาร ทำให้อุจจาระปัสสาวะเดินสะดวก เป็นยาระบายชนิด “รู้เปิดรู้ปิด”โกฐน้ำเต้ามีฤทธิ์ในการกระตุ้นการขับน้ำดี ลดความดันโลหิต ทำให้เกล็ดเลือดจับกันเป็นลิ่ม ช่วยลดคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมโลหิตของเส้นเลือดฝอย กระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดโลหิตแดง และยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้อีกหลายชนิด
ฤทธิ์ปกป้องตับและไตจากการถูกทำลายด้วยยาพาราเซตามอลของสารสำคัญจากโกฐน้ำเต้า
การศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับและไตของสาร rhein (4,5-dihydroxyanthraquinone-2-carboxylic acid) ซึ่งเป็นสารสำคัญจากโกฐน้ำเต้า (Rheum officinale) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดพิษด้วยการกรอกยาพาราเซตามอล (acetaminophen) ขนาด 2.5 ก./กก. ร่วมกับการได้รับสาร rhein ขนาด 10, 20 หรือ 40 มก./กก. พบว่าการกรอกยาพาราเซตามอลในขนาดดังกล่าวทำให้ระดับ glutamate-pyruvate transaminase, glutamate-oxaloacetic transaminase, total bilirubin, creatinine และ urea nitrogen ในเลือดเพิ่มขึ้น เซลล์และเนื้อเยื่อของตับและไตถูกทำลาย ระดับของ reactive oxygen species, nitric oxide และ malondiadehyde ในตับและไตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ glutathione ลดลง ซึ่งการที่หนูได้รับสาร rhein สามารถทำให้ความเป็นพิษต่อตับและไตข้างต้นลดลง โดยประสิทธิภาพจะขึ้นอยู่กับขนาดที่ใช้ จากผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสาร rhein มีฤทธิ์ในการปกป้องตับและไตจากการถูกทำลายด้วยยาพาราเซตามอล
การศึกษาทางพิษวิทยาของโกฐน้ำเต้า
เมื่อป้อนสารสกัดโกฐน้ำเต้าด้วย 70% เมทานอลให้หนูถีบจักร พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งมีค่ามากกว่า 2.0 กรัม/กิโลกรัม12 เมื่อคนรับประทานสารสกัดด้วยน้ำในขนาด 5 มิลลิลิตร ไม่พบพิษต่อตับ13 เมื่อป้อนสารสกัดให้หนูถีบจักรหรือหนูขาวในขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่พบพิษข้อแนะนำ / ข้อควรระวัง
• ห้ามใช้โกฐน้ำเต้าในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเกร็งหรือมีอาการปวดเฉียบพลันในช่องท้อง ไตอักเสบ หรือมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ• การใช้โกฐน้ำเต้าในปริมาณเกินขนาดอาจทำให้มีอาการปวดเฉียบพลัน มีอาการมวนเกร็งในลำไส้ และอุจจาระเหลวเหมือนน้ำ ดังนั้นคุณควรเลือกใช้โกฐน้ำเต้าเฉพาะในเมื่อไม่สามารถแก้อาการท้องผูกได้ด้วยวิธีอื่นแล้วเท่านั้น เช่น การปรับเปลี่ยนโภชนาการหรือการใช้ยาระบายชนิดที่ช่วยเพิ่มเส้นใยอาหาร หากใช้วิธีอื่น ๆ แล้วอาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้น ก็ขอให้ใช้เป็นโกฐน้ำเต้าเพื่อเป็นยาแก้ท้องผูกเป็นตัวเลือกสุดท้าย
• ในกรณีที่ใช้โกฐน้ำเต้าแล้วมีอาการเลือดออกทางทวารหนัก หรือเมื่อใช้ในขนาดสูงแล้ว ลำไส้ยังไม่เกิดการเคลื่อนไหว อาจบ่งถึงภาวะรุนแรงที่อาจเกิดอันตรายได้
• การใช้โกฐน้ำเต้าติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินกว่าที่กำหนดอาจทำให้ลำไส้เกิดความเคยชินได้
เอกสารอ้างอิง
1. กันยารัตน์ ชลสิทธิ์ , สรินยา จุลศรีไกวัล , ศุภกร จันทร์จอม . ข้อกำหนดทางเคมีและกายภาพของโกฐน้ำเต้า.วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ .ปีที่ 57 .ฉบับที่ 4 . ตุลาคม – ธันวาคม 2558 . หน้า 352 – 3622. The State Pharmacopeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China Vol. I. Beijing: People’s Medical Publishing House; 2005.
3. Henriette’s Herbal Homepage. Photo: Rheum tanguticum 2. [online]. 2005; [cited 2015 August 20]; [1 screen]. Available from: URL: http://www.henriettes-herb.com/galleries/photos/r/rh/rheum-tanguticum-2.hhtml.
4. ชยันต์ พิเชียรสุนทร และวิเชียร จีรวงศ์ . คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 5 คณาเภสัช. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อมรินทร์; 2547. หน้า 106-9.
5. WHO monograph on selected medicinal plants Vol. 1 Geneva: World Health Organization; 1999. P. 231-40
6. สุธิดา ไชยราช. ข้อมูลทั่วไปของพืชที่เป็นส่วนประกอบ. ใน: ปราณี ชวลิตธำรง และอังคณา หิรัญสาลี , คณะบรรณาธิการ.ยาธรณีสันฑะฆาต : คุณภาพวัตถุดิบและความปลอดภัยของตำรับ. นนทบุรี : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข; 2555.หน้า 56-7.
7. ราชบัณฑิตยสถาน. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์; 2546. หน้า 410-1.
8. Leng-Peschlow E. Dual effect of orally administered sennosides on large intestine transit and fluid absorption in the rat. J Pharm Pharmacol 1986; 38(8): 606-10.
9. De Witte P. Metabolism and pharmacokinetics of anthranoids. Pharmacology 1993; 47(Suppl 1):86-97.
10. สำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ. 2556.[ออนไลน์]. 2556; [สืบค้น 10 ส.ค. 2558]; [22 หน้า]. เข้าถึงได้ที่ : URL: http://drug.fda.moph.go.th/zone_law/law043.asp.
11. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “โกฐน้ำเต้า“. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 108.
12. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “โกฐน้ำเต้า“. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 79-80.
13. เมชฌ สอดส่องกฤษ . ข้อมูลสมุนไพรจีน . พิมพ์ครั้งที่ 1 .โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.2558.หน้า 44
14. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
15. Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
16. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, 2547.
17. Reynolds JEF (ed.). Martindale: The extra pharmacopoeia. 30th ed.. London: Pharmaceutical Press, 1993.
18. Blumenthal M, Busse WR, Goldberg A, Gruenwald J, Hall T, Riggins CW, Rister RS (eds.) The complete German Commission E monographs, Therapeutic guide to herbal medicine. Austin (TX): American Botanical Council, 1988.
19. Li R, Wang BX. Radix et Rhizomarbei: da huang. In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional Chinese medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น