ถั่งเช่า สรรพคุณและงานวิจัย
ชื่อสมุนไพร ถั่งเช่า
ชื่ออื่นๆ ตังถั่งเช่า (dong Chong Cao) , ตังถั่งแห่เช่า (dong Chong Xia Cao), หญ้าหนอน
ชื่อวิทยาศาสตร์Ophiocord yceps sinensis
ถิ่นกำเนิด
ถั่งเช่าพบได้ แถบทุ่งหญ้าประเทศจีน (ธิเบต) , เนปาล , ภูฎาน ในระดับความสูง 10000 -12000 ฟุต จากระดับน้ำทะเล แต่ในปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยง ส่วนใหญ่เพาะเลี้ยงในบริเวณภาคใต้ของมณฑลชิงไห่ , เขตซานโตวในธิเบต มณฑลเสฉาน ยูนนาน และกุ้ยโจว
ลักษณะทั่วไปของถั่งเช่า
ถั่งเช่า ที่เรียกว่าหญ้าหนอน เพราะสมุนไพรชนิดนี้ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า คือ ส่วนที่เป็นตัวหนอน ตัวหนอนของผีเสื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Hepialus armoricanus Oberthiir และบนตัวหนอนมีเห็ดชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ Cordyceps sinensis (Berk.) Saec. หนอนชนิดนี้ในฤดูหนาวจะฝังตัวจำศีลอยู่ใต้ดินภูเขาหิมะ เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลาย สปอร์เห็ดจะพัดไปกับน้ำแข็งที่ละลาย แล้วไปตกที่พื้นดิน จากนนั้นตัวหนอนเหล่านี้ก็จะกินสปอร์ และเมื่อฤดูร้อนสปอร์ก็เริ่มเจริญเติบโตเป็นเส้นใยโดยอาศัยการดูดสารอาหารและแร่ธาตุจากตัวหนอนนั้น เส้นใยงอกออกจากห้องของตัวหนอน และงอกออกจากปากของมัน เห็ดเหล่านี้ต้องการแสงอาทิตย์มันจึงงอกขึ้นสู่พื้นดิน รูปลักษณะภายนอกคล้ายไม้กระบอก ส่วนตัวหนอนเองก็จะค่อย ๆ ตายไป อยู่ในลักษณะของหนอนตามซาก ฉะนั้น “ถั่งเช่า” ที่ใช้ทำเป็นยาก็คือ ตัวหนอนและเห็ดที่แห้งแล้วนั่นเอง โดยถั่งเช่าที่มีคุณภาพดี ตัวหนอนต้องมีสีเหลืองสดใส และมีความยาว ขนาดใหญ่สมบูรณ์ ด้านหน้าตัดมีสีขาวแกมเหลือง และส่วนที่เป็นรา มีสีน้ำตาลเข้มการขยายพันธุ์ของถั่งเช่า
เตรียมขวดแก้ว
เตรียมสารอาหารสำหรับเชื้อเห็ดถั่งเช่าสีทอง คือ ข้าวสังข์หยด , ปลายข้าว , ข้าวโพด . ถั่วเขียว , ถั่วเหลือง , กากถั่วเหลืองรำข้าว , ตัวหนอนไหม(ดักแด้)(บด) เพื่อมาเป็นแหล่งโปรตีน หากช่วงไหนไม่มีหนอนไหม ก็ให้ใช้ไข่แทน
นำน้ำเปล่าที่ต้มกับมันฝรั่ง , ข้าวโพดอ่อน , ไข่ แล้วนำไปเติมในขวดที่ใส่อาหารไว้
นำไปนึ่ง ในหม้อนึ่งความดัน ที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส , ด้วยความดันที่ 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว เป็นเวลา 30 นาที กรณีที่นึ่งด้วยลังถึง ให้นึ่งนานเป็นเวลา 30 – 40 นาที จากเมื่อน้ำเดือด , แล้วนำมาพักไว้ 1 วัน , แล้วนำมานึ่งแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง
จากนั้นนำไปเขี่ยใส่เชื้อเห็ด ลงในขวดสารอาหาร แล้วนำไปบ่งเชื้ออีก 2 อาทิตย์ ในที่มืด
จากนั้นนำมาเลี้ยงต่อในที่ ควบคุมอุณหภูมิ ให้มีความเย็น 18 องศา ต่ออีก 2 – 3 เดือน จนเห็ดขึ้นเต็มที่จึงเก็บผลผลิตได้
องค์ประกอบทางเคมีของถั่งเช่า
ถั่งเช่ามีองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญคือ สารแมนนิทอล (manniton) หรือกรดคอร์ดิเซพิก (cordycepic acid) มีปริมาณร้อยละ 7 – 29 (แตกต่างกันในระยะเจริญเติบโตต่าง ๆ ของดอกเห็ด) และสารคอร์ดิเซพิน (cordycepin) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของสารอะดีโนซีน (adenosine) นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มนิวคลีโอไซค์ (nucleosides) โปรตีน พอลิแซ็กคาไรค์ (polysaccharides) ไขมันสเตอรอล (syerols) วิตามิน แร่ธาตุปริมาณเล็กน้อย เป็นต้น
สูตรผดครงสร้างทางเคมีของสาระสำคัญบางชนิดที่พบในถั่งเช่า
สรรพคุณถั่งเช่า
- ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ มีฤทธิ์บำรุงกำลังทางเพศ ช่วยให้อสุจิแข็งแรก เนื่องจากการกินถั่งเช่าจะส่งผลให้มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศมากขึ้น ถั่งเช่าสามารถช่วยเพิ่มปริมาณของสเปิร์มในอสุจิได้ โดยจากการศึกษาในผู้ชาย 22 คนพบว่าเมื่อใช้ถั่งเช่าเป็นอาหารเสริมแล้ว ปริมาณของสเปิร์มในอสุจิเพิ่มขึ้น 33% อีกทั้งยังลดปริมาณสเปิร์มที่มีความผิดปกติลงได้ถึง 29% และเมื่อศึกษาเพิ่มเติมก็พบว่าถั่งเช่าสามารถช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศได้ 66 – 86% อีกทั้งยังมีคุณสมบัติในการปกป้องและเสริมสร้างการทำงานของต่อมหมวกไต และเพิ่มโอกาสที่สเปิร์มจะปฏิสนธิได้
- ช่วยปรับการทำงานของหัวใจ ถั่งเช่า มีสรรพคุณช่วยปรับอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติได้ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการหัวใจขาดออกซิเจน และเพิ่มออกซิเจนให้หัวใจได้
- เสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ถั่งเช่ามีสรรพคุณช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้เป็นปกติ ช่วยให้ร่างกายสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันมากขึ้น
- ต้านมะเร็ง ถั่งเช่าก็ยังมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง โดยสารคอร์ไดเซปิน (Codycepin) ที่อยู่ในถั่งเช่าถือเป็นสารที่มีความสำคัญในการต่อต้านการเกิดมะเร็ง ป้องกันการเกิดและการแพร่กระจายของเนื้อร้าย
- ลดไขมันในเลือด ถั่งเช่ามีสรรพคุณควบคุมระดับไขมันในเลือด ลดคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคภัยอื่น ๆ
- ฟื้นฟูการทำงานของไต สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง การรับประทานถั่งเช่าจะช่วยบรรเทาอาการลง และทำให้สุขภาพไตดีขึ้น อีกทั้งยังลดความเสียหายของไตที่เกิดจากสารพิษตกค้างได้
- เสริมสร้างการทำงานของตับ การกินถั่งเช่าเป็นอาหารเสริมจะช่วยลดผลกระทบจากสารพิษ และป้องกันการเกิดพังพืดในตับ สารต้านอนุมูลอิสระก็ยังเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเลี่ยงในการเกิดโรคไวรัสตับอักเสบได้ด้วย
- บำรุงโลหิต สารที่อยู่ในถั่งเช่าก็ยังช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบโลหิต ทำให้ร่างกายสร้างไขกระดูกมากขึ้นซึ่งทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงและเซลล์เม็ดเลือดขาวถูกสร้างในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย
- ลดระดับน้ำตาลในเลือด ถั่งเช่าถือเป็นสมุนไพรอีกชนิดที่ช่วยลดน้ำตาลได้ โดยมีการศึกษาพบว่าการรับประทานถั่งเช่าวันละ 3 กรัม จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ถึง 95%
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ถั่งเช่า
ขนาดบริโภคของผู้ใหญ่ (อายุมากกว่า 18 ปี) ในแต่ละวัน ประมาณ 3 – 9 กรัมการศึกษาทางเภสัชวิทยาของถั่งเช่า
มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของถั่งเช่ามากมาย ทั้งฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต้านมะเร็งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดปกป้องไตและตับ ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
ฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อให้สารกลุ่มพอลิแซ็กคาไรด์ที่แยกได้จากถั่งเช่าแก่หนูเมาส์โดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 35 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 5 วัน ศึกษาเภสัชจลนศาสตร์ของสารดังกล่าวในหนูเมาส์ต่อระบบภูมิคุ้มกันเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่าสารพอลิแซ็กคาไรด์แต่ละชนิดสามารถเพิ่มประสิทธิในการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันดัชนีม้าม (spleen index) ดัชนีนิไทมัส (thymus index) และเพิ่มประสิทธิภาพการกลืนกินของเซลล์แมคโครฟาจ (macrophages)
ฤทธิ์ต้านมะเร็ง เมื่อให้ถั่งเช่าแก่หนูเมาส์ในขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์ Hela โดยมีอัตราการเจริญเติบโต ดัชนีทิคส์ (mitotic) ความสามารถในการเจริญเติบโตของไขมันส่วนนุ่มต่ำกว่ากลุ่มควบคุม โดยตำแหน่งที่ถูกทำลายชัดเจนที่สุดคือนิวเคลียส นอกจากนี้ยังพบว่าถั่งเช่าในขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวหนูเม้าส์ รวมทั้งมีฤทธิ์ต้านเนื้องอกและยับยั้งการแพร่กระจายตามธรรมชาติของมะเร็งปอดหนู่เมาส์
ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด มีรายงานการศึกษาในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่แยกจากกายหนูแรท โดยใช้เซลล์ myocytes ของหนูแรทแรกเกิด สังเกตกลุ่มเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจวาดรูปเซลล์ pollex โดยใช้ตัวแปลงสัญญาณจากแสงพบว่าถั่งเช่าในขนาด 0.66 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถชะลออัตราการเต้นของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ pollex ได้ อีกการทดลองหนึ่งพบว่าสารสกัด 70% แอลกอฮอล์จากเส้นใยเห็ดของถั่งเช่ามีฤทธิ์เพิ่มการไหลเวียนของเลือดสุนัขที่ถูกดมยาสลบและลดความดันโลหิต
ฤทธิ์ปกป้องไต มีรายงานการศึกษาในหนูแรทที่ได้รับยาไซโคลสปอริน (cyclosporine) ซึ่งเป็นพิษต่อไตชนิดเฉียบพลัน พบว่าถั่งเช่าสามารถลดพิษของยาไซโคลสปอรินที่มีต่อไต รวมทั้งลดพิษของสมุนไพรเหลยกงเถิง
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ มีรายงานว่าสารสกัดถั่งเช่ามีฤทธิ์ชะลอความแก่ของหนูถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย ดี-กาแล็กโตสโดยถั่งเช่าช่วยเพิ่มความทรงจำในหนูแก่ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตับ สมอง เม็ดเลือดแดง เอนไซม์ซุปเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเตส (super oxide dismutase; SOD) และเลือดทั้งหมด ลดระดับเอนโซม์โมโนเอมีนออกซิเดส (malondiadehyde; MDA) ในตับและสมอง
การศึกษาทางพิษวิทยาของถั่งเช่า
มีรายงานการศึกษาความเป็นพิษของถั่งเช่า พบว่าขนาดสูงสุดของถั่งเช่าที่หนูเมาส์สามารถทนได้คือ 45 กรัม/กิโลกรัม หรือประมาณ 250 เท่าของขนาดที่ใช้ในคน เมื่อให้สารสกัดถั่งเช่าโดยฉีดเข้าช่องท้องหนูเมาส์ ขนาดที่ทำให้หนูตายร้อยละ 5 (LD 50) มีค่าเท่ากับ 27.1 กรัม/กิโลกรัม เมื่อได้รับยาเกินขนาดจะมีอาการเริ่มต้นด้วยการยับยั้งทั่วไป ตามด้วยการกระตุ้นทั่วไป กระตุก ชัก และกดระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังพบว่าถั่งเช่าไม่เป็นพิษต่อตัวอ่อน และไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ไม่มีฤทธิ์ทำให้กำเนิดทารกวิรูป ในหนูเมาส์
ข้อแนะนำ ข้อควรระวัง
ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด จะไปเสริมฤทธิ์กับยาลดน้ำตาลในเลือด
ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้เพราะถั่งเช่ามีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, ธิดารัตน์ จันทร์ดอน , ถั่งเช่าช่วยเพิ่มสมรรถภาพ จริงหรือ? บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน (ออนไลน์) วันที่ 28 กรกฎาคม 2556 เข้าถึงได้จาก http://www.pharmacy.mahidoi.ac.th/thai/knowledge.
สูตรการเพาะเห็ดถั่งเช่าสีทอง คณะเทคโนโลยีชีวภาพวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต
วิกิพีเดีย , สารานุกรมเสรี , ถั่งเช่า , (ออนไลน์) วันที่ 23 มกราคม 2557 เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/w/index.php?title=ถั่งเช่า&oldid=5308990.
วิชัย โชควิวัฒน , เย็นจิตร เตชะดำรงสิน , อุทัย โสธนะพันธุ์ , จรัส ตั้งอร่ามวงศ์ , สว่าง กอแสงเรือง ,อภิญญา เวชพงศา , และคณะ ตำรับยาจีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย เล่ม 3 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ ; 2551 หน้า 411-25
เย็นจิตร เตชะเภสัช , ถั่งเช่า , วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก , ปีที่ 12 ฉบับที่1 มกราคม – เมษายน 2557 , หน้า 3 - 16
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น