วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ว่านน้ำ

ว่านน้ำ สรรคุณเเละงานวิจัย





ชื่อสมุนไพร ว่านน้ำ
ชื่ออื่นๆ ว่านน้ำเล็ก , ฮางคาวผา (เชียงใหม่) , ผมผา , คาเจียงจี้ , ฮางคาวน้ำ , ฮางคาวผา (ภาคเหนือ) , ตะไคร้น้ำ (เพชรบุรี) , ทิสีปุตอ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) , แปะเซียง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acorus calamus Linn.
ชื่อพ้อง Acorus calamus Linne. Var. verus Linn., Acorus aromaticus Nakai ,
ชื่อสามัญ Myrtle grass, Myrtle sedge, Sweet flag, Calamus root, Flag root
วงศ์ Araceae (Acoraceae)

ถิ่นกำเนิด

แหล่งกำเนิดอาจพบในทวีปยุโรปเกือบทั้งหมด (ยกเว้นสเปน รัสเซียตอนเหนือ) จากตะวันออกกลางไปทางตอนเหนือ ลงมาตอนใต้ที่ไซบีเรีย, จีน, ญี่ปุ่น, พม่า, ศรีลังกา, อินเดีย และอเมริกาทางตอนเหนือ ที่พบกำเนิดในอเมริกา ใช้ชื่อ Acorus americanus มีโครโมโซมเป็น Diploid แต่ที่พบในจีนและอินเดีย เป็น Triploid ไม่ติดเมล็ด เป็นไม้น้ำขึ้นในพื้นที่ชื้นแฉะหรือแหล่งน้ำตื้น บริเวณขอบ สระ บ่อ คูคลอง และแหล่งน้ำอื่น ๆ มักเจริญเติบโตปะปนกับพรรณไม้น้ำอื่น ๆ โดยเฉพาะกก หรือปลูกเดี่ยว ๆ ในอ่างน้ำหรือริมน้ำ
ในไทยว่านน้ำพบได้ในทุกภาค แต่พบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบนที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 เมตร แถบจังหวัดเลย โดยมักพบบริเวณริมลำห้วย ริมลำธาร หรือริมหนองน้ำ ประเทศไทยพบว่านน้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศอีก 2 ชนิด คือ A. pusiilu และ A. gramineus ซึ่งเป็นว่านน้ำที่นำเข้าเพื่อใช้ปลูกในตู้ปลา

ลักษณะทั่วไป

เหง้าว่านน้ำ เป็นส่วนลำต้นใต้ดินที่เจริญเป็นแท่งยาวขนานไปกับผิวดินใต้น้ำ มีลักษณะกลมยาว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร เจริญเป็นข้อๆ มีสีขาวออกน้ำตาล มีรากฝอยแตกออกบริเวณข้อ
ใบว่านน้ำ เป็นใบเดี่ยวที่แตกออกจากเหง้า มีรูปเรียวยาวคล้ายใบดาบ กว้างประมาณ 1-20 ซม. ยาวประมาณ 70-120 ซม. ใบมีลักษณะหนา สีเขียวเข้มเป็นมัน ฉ่ำน้ำ ใบมีกลิ่นหอม เมื่อแตกออกจากเหง้าจะพับตีบ และค่อยๆแผ่ออก คล้ายว่านหางช้าง
ดอกว่านน้ำ และผล ดอกแทงออกเป็นช่อ บริเวณก้านใบ มีลักษณะเป็นแท่ง มีลักษณะสีเขียวอ่อนออกเหลืองเมื่ออ่อน และเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมน้ำตาลจนถึงน้ำตาลแดงเมื่อแก่ ทรงดอกมีรูปร่างคล้ายธูปหรือผลดีปลี ยาวประมาณ 5-10 ซม. มีก้านดอกใหญ่ ตรงยาวประมาณ 15-30 ซม. ดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน ผลที่สุกจะออกสีน้ำตาลแดง ประกอบด้วยเมล็ดขนาดเล็กที่เจริญจากหลายรังไข่ในดอกเดียว
เหง้าว่านน้ำ มีลักษณะคล้ายข่า รูปทรงกระบอก ค่อนข้างแบน ภายนอกมีสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลอมชมพู มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรากเล็กเป็นฝอยๆแตกออกบริเวณเหง้า

การขยายพันธุ์ โดยการแยกหน่อ

การปลูกว่านน้ำปลูกได้ดีในที่ชื้นแฉะ มีน้ำท่วม ริมบ่อน้ำ ปลูกโดยการตัดต้นพันธุ์หรือเหง้าให้มีข้ออย่างน้อย 1 ข้อ ปักชำในกระบะทรายก่อน พอเริ่มงอกจึงย้ายว่านน้ำไปปลูก หรือนำท่อนพันธุ์ไปปักประมาณ 1 สัปดาห์ จะเป็นใบอ่อนแตกออกมา ว่านน้ำเป็นพืชที่ชอบแสงแดดรำไร เจริญเติบโตได้ดีในฤดูฝน เมื่อเข้าปลายฤดูฝนเหง้าจะเริ่มมีใบแห้ง เริ่มจากเหง้าข้อที่ 1 ไปเรื่อยๆ ถ้าขาดน้ำในช่วงนี้เป็นเวลานาน เหง้าอาจจะแห้งตายได้แต่ถ้ามีน้ำอยู่ เหง้าก็ยังคงสดอยู่และแตกรากและใบใหม่ต่อไป

องค์ประกอบทางเคมี

น้ำมันระเหยง่าย 0.5-10% ประกอบด้วย asarone, cis-methylisoeugenol, asaryl aldehyde, acorone, acoroxide, acorin, calcmene, linalool, calamol, calameone, azulene, pinene, cineole, camphor และยังพบสาร Calacone, Acorenone, Shyobunone, Tannin, แคลเซียม, โพแทสเซียม, และวิตามินซี เป็นต้น และยังมีสารในกลุ่ม Sesquiterpene ที่ประกอบไปด้วย Acoragermacrone, Acolamone, Isoacolamone glucoside รสขมชื่อ acorin





Asarone 






camphor






Calacone 





acolamone


สรรพคุณ

ตำรายาไทย: เหง้าว่านน้ำ เป็นยาขับลม ยาหอม แก้ธาตุพิการ เป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร ช่วยได้ในอาการท้องเสีย อาหารไม่ย่อย และอ่อนเพลีย รากว่านน้ำ แก้ไข้มาลาเรีย แก้หวัด หลอดลมอักเสบ แก้เจ็บคอ แก้ปวดฟัน เป็นยาระบาย แก้เส้นกระตุก บำรุงหัวใจ แก้หืด แก้เสมหะ เผาให้เป็นถ่านรับประทานถอนพิษสลอด แก้ปวดศีรษะ แก้ลงท้อง พอกแก้ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ แก้บิด แก้ไอ แก้ปวดท้อง แก้จุกเสียด หัว ใช้ขับลมในท้อง แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคกระเพาะอาหาร แก้ธาตุพิการ แก้ลมจุกแน่นในทรวงอก แก้ลมที่อยู่ในท้องแต่นอกกระเพาะและลำไส้ บำรุงธาตุน้ำ แก้ข้อกระดูหักแพลง ขับเสมหะ แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย แก้บิด ขับพยาธิ กินมากทำให้อาเจียน บำรุงกำลัง แก้โรคลม แก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ แก้ไข้จับสั่น บำรุงประสาท หลอดลม บิดในเด็ก ขับเสมหะ ขับระดู ขับปัสสาวะ รากว่านน้ำฝนกับสุราทาหน้าอกเด็กเพื่อเพื่อเป็นยาดูดพิษแก้หลอดลมและปอดอักเสบ เหง้าต้มรวมกับขิงและไพลกินแก้ไข้ ผสมชุมเห็ดเทศ ทาแก้โรคผิวหนัง
ตำรายาไทยแผนโบราณ: ว่านน้ำ จัดอยู่ใน “พิกัดจตุกาลธาตุ” ประกอบด้วย หัวว่านน้ำ รากนมสวรรค์ รากแคแตร รากเจตมูลเพลิงแดง สรรพคุณแก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด แก้เสมหะ แก้โลหิตในท้อง แก้ไข้ แก้ลม
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้เหง้าว่านน้ำ ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย รวม 2 ตำรับ คือ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของเหง้าว่านน้ำ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ ยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ปรากฏตำรับ “ยาประสะไพล” มีส่วนประกอบของเหง้าว่านน้ำ ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ในสตรีที่ระดูมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ ขับน้ำคาวปลาในสตรีหลังคลอดบุตร ในว่านน้ำมีสารชนิดหนึ่งเรียกว่า อาโกริน acorine มีรสขมและแอลคาลอยด์ คาลาไมท์ อยู่ในนี้เป็นยาแก้บิด เป็นยารักษาบิดของเด็ก (คือมูกเลือด) และหวัดลงคอ (หลอดลมอักเสบ) ได้อย่างดี ชาวเมี่ยนจะใช้ผลอ่อนนำมารับประทานร่วมกับลาบ ช่อดอกอ่อนๆ จะมีรสหวาน เด็กชอบกิน ส่วนรากอ่อนเด็กในประเทศเนเธอร์แลนด์จะชอบนำมาเคี้ยวเล่นเป็นหมากฝรั่ง

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน ว่านน้ำ รสขมเผ็ด สุขุม มีฤทธิ์ขับลม ขับเสมหะ สงบประสาท ใช้รักษาอาการไอ ตื่นเต้นลืมง่าย สลึมสลือ บิด ท้องเสีย ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดข้อ แผลฝีหนอง และขับพยาธิ

รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้

บำรุงธาตุ - ใช้เหง้าสด 9-12 กรัม หรือแห้ง 3-6 กรัม ชงด้วยน้ำร้อน 2 ถ้วยแก้ว ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว ก่อนอาหารเย็น ติดต่อกันจนกว่าธาตุจะปกติ
แก้ปวดท้องและจุกแน่น -ใช้รากว่านน้ำ หนัก 60 กรัม โขลกให้ละเอียด ชงลงในน้ำเดือด 420 ซีซี. รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง
เป็นยาดูดพิษ แก้อาการอักเสบของหลอดลมและปอด - ใช้รากฝนกับสุรา เจือน้ำเล็กน้อย ทาหน้าอกเด็ก
เป็นยาแก้ไอ - ใช้ชิ้นเล็กๆ ของรากว่านน้ำแห้ง อมเป็นยาแก้ไอ มีกลิ่นหอมระเหยทางลมหายใจ
เป็นยาถอนพิษของสลอด และแก้โรคลงท้องปวดท้องของเด็ก - ใช้รากว่านน้ำเผาจนเป็นถ่าน ทำผงรับประทานมื้อละ 0.5 ถึง 1.5 กรัม ใช้ใบว่านน้ำสดตำละเอียดผสมน้ำสุมศีรษะแก้ปวดศีรษะได้ ตำพอกแก้ปวดกล้ามและข้อ ตำรวมกับชุมเห็ดเทศ แก้โรคผิวหนัง
เป็นยาขมหอม เจริญอาหาร ขับแก๊ส ช่วยย่อยอาหาร - ในน้ำมันหอมระเหยมีวัตถุขมชื่อ acorin และมีแป้งและแทนนินอยู่ด้วย ทำเป็นยาชง (1 ใน 10) รับประทาน 15-30 ซีซี. หรือทิงเจอร์ (1 ใน 5) รับประทาน 2-4 ซีซี. ขนาดใช้ 1-4 กรัม
ใบสดว่านน้ำนำมาตำให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำใช้สุมหัวเด็ก จะช่วยรักษาอาการปวดศีรษะได้
ใช้แก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้เหง้าแห้งนำไปบดให้เป็นผง แล้วนำมาใช้ทา
ใช้เป็นยาขับลมในท้อง แก้ลมขึ้น แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด อาหารไม่ย่อย ด้วยการใช้เหง้าประมาณ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้ากับตำรายาอื่น ด้วยการใช้เหง้าว่านน้ำแห้ง 10 กรัม, หัวแห้วหมู 15 กรัม, เมล็ดแก่ของหัวผักกาดขาว 10 กรัม และซิ่งเข็ก 10กรัม นำมาผสมกันแล้วนำไปต้มเป็นยากิน
ช่วยรักษาอาการลำไส้อักเสบ และโรคบิดแบคทีเรีย ด้วยการใช้รากสด นำมาหั่นให้เป็นแผ่น แล้วนำไปตากแห้ง บดให้เป็นผงและบรรจุแคปซูลประมาณ 0.3 กรัม ใช้กินกับน้ำอุ่น
ใช้เป็นยาขับพยาธิ ด้วยการใช้เหง้าแห้งประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำมาบดให้เป็นผงบรรจุในแคปซูลกิน

การศึกษาทางเภสัชวิทยา 

กดระบบประสาทส่วนกลาง แก้แพ้ ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว ก่อมะเร็ง เป็นพิษต่อตับ เป็นพิษทั่วไป ต้านเชื้อบิดมีตัว ฆ่าพยาธิตัวกลม ฆ่าแมลง ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการชัก กดหัวใจ ขยายหลอดลม ลดความดันโลหิต ลดไข้ แก้ปวด ลดอุณหภูมิร่างกาย ต้านเชื้อรา รักษาแผล ลดระดับคอเลสเตอรอล ละลายไฟบริน ลดน้ำตาลในเลือด ลดการอักเสบ เป็นพิษต่อเลือด ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
น้ำมันหอมระเหย และสารสกัดน้ำมีฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของหนูที่ทดลอง น้ำมันหอมระเหยสามารถเพิ่มฤทธิ์สงบประสาทและทำให้นอนหลับของโซเดียมเพนโทบาร์บิทาล ไลเซอจิกแอสิดไดเอทิลเอไมด์ และไดเบนซิลีน เสริมฤทธิ์ของรีเซอปีนในการลดพิษของแอมเฟทามีนในหนู รวมทั้งมีฤทธิ์บรรเทาปวด และป้องกันหนูชักจากการทดลองช็อคด้วยไฟฟ้า สารสกัดแอลกอฮอล์จากเหง้าว่านน้ำมีฤทธิ์คล้ายกันสามารถเพิ่มฤทธิ์ของยาชาเฉพาะที่ และสามารถลดพิษของแอมเฟทามีนในหนูที่ทดลองได้
น้ำมันหอมระเหย สารสกัดแอลกอฮอล์ และสารสกัดน้ำจากเหง้าว่านน้ำสามารถลดความดันโลหิตของสัตว์ทดลองที่สลบได้ สารสกัดน้ำมีฤทธิ์กดการเต้นของหัวใจ น้ำมันหอมระเหยสามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจสุนัขและกบ
น้ำคั้นจากเหง้าสดสามารถเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในคนที่มีกรดในกระเพาะอาการน้อย ยาเตรียมจากเหง้าว่านน้ำใช้เป็นยาเจริญอาหาร ช่วยให้อยากอาหาร ทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น และน้ำมันระเหยง่ายในขนาดน้อย ๆ จะมีฤทธิ์ขับลม
น้ำมันหอมระเหย สารสกัดน้ำ และสารสกัดแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดอุณหภูมิในสัตว์ทดลองน้ำมันหอมระเหยในขนาด10ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อวัณโรคได้ สารสกัดแอลกอฮอล์สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราได้ มีบางรายงานว่าสามารถใช้เป็นยาขับและฆ่าพยาธิได้
เมื่อปี ค.ศ.2007 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองหาสาร F-3 Fraction ในเหง้าว่านน้ำ โดยทำการทดลองกับหนูที่ถูกกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง โดยให้สารสกัดจากว่านน้ำในขนาด 10, 20, 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยการตรวจหา Aproprotein A1, B โดยใช้ Immunoturbidimetric ในการสังเคราะห์ ซึ่งสาร F-3 Fraction เป็นสารที่มีบทบาทต่อการสร้าง HMG-CoA reductase ซึ่งมีผลทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูง ผลจากการทดลองพบว่า ขนาดของสารสกัดจากว่านน้ำ ที่ 20 และ 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มีผลทำให้ระดับไขมันในเอดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สารสกัดที่ได้จากว่านน้ำมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อ Staphelo coccus, Strepto coccus และเชื้อในระบบทางเดินหายใจของปอด

การศึกษาทางพิษวิทยาว่านน้ำ

การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดรากด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,111 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และเมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจพบไม่อาการเป็นพิษ แต่ถ้าให้น้ำมันหอมระเหยทาภายนอก ในขนาดที่ทำให้หนูตายเป็นจำนวนครึ่งคือ มากกว่า 5 กรัมต่อกิโลกรัม ถ้าให้โดยการฉีดเข้าทางช่องท้อง 211 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนก้านป้อนทางปากคือ 777 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง

สำหรับผู้ที่มีอาการเหงื่อออกบ่อย ๆ หรือเหงื่อออกง่ายไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ การรับประทานเหง้าว่านน้ำเกินขนาดจะทำให้อาเจียนได้ และมีรายงานว่าเหง้าว่านน้ำมีสาร β-asarone ซึ่งมีความเป็นพิษต่อตับและเป็นสารก่อมะเร็ง
การแพทย์แผนไทย ห้ามกินว่านน้ำมากกว่าครั้งละ 2 กรัม เพราะจะทำให้อาเจียน (อาจใช้ประโยชน์ในกรณีผู้ป่วยกินสารพิษ และต้องการขับสารพิษออกจากทางเดินอาหารด้วยการทำให้อาเจียน)




เอกสารอ้างอิง

1. ว่านน้ำ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.
2. ว่านน้ำ.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
3. ว่านน้ำ.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=124
4. ว่านน้ำ.กลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ.สมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี.
5. ว่านน้ำ.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki
6. Nguyen Van Zdu, 1999. Acorus calamus L. In: de Padua, L.S., Bunyapraphatsara, N., and Lemmens, R.H.M.J. (Editors). 1999. Plant Resources of South-East Asia No 12(1). Medicinal and Poisonous plants 1. Prosea foundation, Bogor, Indonesia. pp. 81-85.
7. บุญรอด, เสงี่ยม. ไม้เทศเมืองไทย. กรุงเทพฯ. หน้า 489-91.
8. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ว่านน้ำ”. หน้า 715-718.
9. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
10. ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ, วชิรา แดนตะวัน, สถาพร ลิ้มมณี, ชะนะ ครองรักษา, ทิพวัลย์ ทรัพย์เจริญ. สมุนไพร อันดับที่ 3: การรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นสำหรับงานวิจัยของโครงการศึกษาวิจัยสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527.
11. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. PROSEA: ทรัพยากรพืชในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 12(1) พืชสมุนไพรและพืชพิษ เล่ม 1. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้ง, 2546.
12. พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. สมุนไพรก้าวใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ที.พี. พริ้น จำกัด, 2537.
13. ชยันต์ วิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548.
14. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ว่านน้ำ” หน้า 168-169.
15. พร้อมจิต ศรลัมภ์, วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล, สมภพ ประธานธุรารักษ์ (คณะบรรณาธิการ). สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2543.
16. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ว่านน้ำ”. หน้า 510.
17. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น