วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ตังกุย

ตังกุย สรรพคุณและงายวิจัย


ชื่อสมุนไพร ตังกุย
ชื่ออื่นๆ โกศเชียง โสมตังกุย
ชื่อสามัญ Dong quai , Chinensis Angelica , Eemale ginseng
ชื่อวิทยาศาสตร์ Angelica sinensis (Oliv.) Diels
ชื่อพ้องทางวิทยาศาสตร์ Angelica sinensis var. sinensis , Angelica polymorpha var , sinensis Oliv.
ชื่อวงศ์ APIACEAE






ถิ่นกำเนิด

ตังกุยมีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน โดยเฉพาะมณฑล ส่านซี มณฑลยูนาน และใต้หวัน



ลักษณะทั่วไปตังกุย

ต้นตังกุย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีความสูงได้ประมาณ 40-100 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีร่องเล็กน้อย เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมม่วง ส่วนของเหง้าหรือรากที่อยู่ใต้ดินนั้นมีขนาดใหญ่ ลักษณะอวบหนาเป็นรูปทรงกระบอก แยกเป็นรากแขนงหลายราก ผิวเปลือกรากภายนอกเป็นสีน้ำตาล เนื้อในนิ่ม
ใบตังกุย ใบเป็นใบเดี่ยว หยักลึกแบบขนนก 2-3 ชั้น ลักษณะเป็นรูปไข่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แฉกใบมีก้านเห็นได้ชัดเจน มักแยกเป็นแฉกย่อย 2-3 แฉก ส่วนขอบใบหนักเป็นฟันเลื่อยไม่สม่ำเสมอ มีก้านใบยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร โคนแผ่เป็นครีบแคบ ๆ สีเขียวอมม่วง

ดอกตังกุย ออกดอกเป็นช่อบริเวณยอดของลำต้นหรือตามง่ามใบ ช่อดอกมีลักษณะเป็นช่อแบบซี่ร่มเชิงประกอบ มีช่อย่อยขนาดไม่เท่ากันประมาณ 10-30 ช่อย่อย ก้านช่อดอกนั้นยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ใบประดับมีไม่เกิน 2 ใบ ดอกเป็นสีขาวหรือเป็นสีแดงอมม่วง ในแต่ละก้านจะมีดอกย่อยประมาณ 13-15 ดอก ส่วนกลีบดอกนั้นมี 5 กลีบ ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม

ผลตังกุย ผลเป็นแบบผลแห้งแยก มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร สันด้านล่างหนาแคบ ด้านข้างมีปีกบาง ขนาดกว้างเท่ากับความกว้างของผล และมีท่อน้ำมันตามร่อง ติดผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน

รากตังกุย รากสดมีลักษณะอวบเป็นรูปทรงกระบอก แยกเป็นรากแขนงหลายราก โดยรากนั้นจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนราก และส่วนรากแขนง ส่วนของรากแห้งเป็นรูปแกมทรงกระบอก ปลายแยกออกเป็นแขนง 3-5 แขนง หรือมากกว่านั้น โดยมีความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ผิวด้านนอกนั้นเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองถึงสีน้ำตาล รากมีรอยย่นเป็นแนวตามยาว รอยช่องอากาศตามแนวขวาง ผิวไม่เรียบ และมีรอยควั่นเป็นวง ๆ มีขนาดประมาณ 6-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร และมีรอยแผลเป็นของใบปรากฏอยู่ตอนบน ซึ่งโกฐเชียงในตำรายาไทยนั้นจะหมายถึง ส่วนของรากแขนง โดยรากแขนงแห้งนั้นจะเป็นสีน้ำตาล แกมเทาจาง ๆ มีลักษณะเป็นเส้นยาว มีรอยควั่นเป็นวง ๆ รากแขนงนั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร ตอนบนหนา ส่วนตอนล่างเรียวเล็ก ส่วนมากจะบิด เนื้อจะเหนียว รอยหักสั้นและนิ่ม รอยหักของเหง้าแสดงว่ามีผิวหนามากเกือบถึงครึ่งเหง้า มีต่อมน้ำยางสีน้ำตาลหรือสีเหลืองแกมแดงออกเป็นแนวรัศมีจากกลางเหง้า ส่วนที่เป็นเนื้อสีเหลืองนั้นจะมีรูพรุน แกนเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมแรงเฉพาะ ฉุน มีรสหวานอมขม และเผ็ดเล็กน้อย



การขยายพันธุ์ตังกุย

ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในบริเวณส่วนของโลกที่อยู่ในระหว่างเขตหนาวกับเขตร้อน ชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ อุ้มน้ำได้ดี และมีความชื้นสูง ต้องการที่ร่มรำไร ชอบอากาศเย็นชื้น โดยเฉพาะในบริเวณที่อยู่ใกล้ทางน้ำไหล ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000-9,000 เมตร มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 2-3 ปี พืชชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคกลางของประเทศจีน มักขึ้นตามป่าดิบเขา ในปัจจุบันนิยมปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และในประเทศจีน โดยเฉพาะในป่าดิบตามภูเขาสูงของมณฑลเสฉวน ไต้หวัน ส่านซี กุ้ยโจว เหอเป่ย และมณฑลยูนนาน




องค์ประกอบทางเคมี

ในเหง้าและรากของตังกุยมีน้ำมันระเหยง่ายราวร้อยละ 0.4-0.7 สารหลักคือ alkylphthalides ในน้ำมันระเหยง่ายมีสารแซฟโรล(safrole) สารไอโซแซฟโรล (isosalfrole) สารคาร์วาครอล (carvacrol) เป็นต้น นอกจากน้ำมันระเหยง่ายแล้วยังมีสารอื่นๆอีกหลายชนิด เช่น สารไลกัสติไลด์ (ligustilide) กรดเฟรูลิก (ferulic acid) กรดเอ็น-วาเลอโรฟีโนน-โอ-คาร์บอกซิลิก (n-valerophenone-o-carboxylic acid) นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มเทอร์ปีนอยด์ ฟีนิลโพรพานอยด์ คูมาริน โพลีอะเซทิลีน




























อนึ่งตังกุย จะมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น ของจีน (Angelica sinensis (Oliv.) Diels), ของญี่ปุ่น เรียก ตังกุยญี่ปุ่น หรือ โกฐเชียงญี่ปุ่น (Angelica acutiloba (Siebold & Zucc.) Kitag.) มีสรรพคุณทางยาอ่อนกว่าของจีน คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคต้นสด, ของอินเดีย (Angelica glauca Edgew.) ที่ชาวอินเดียนิยมใช้เป็นยาบำรุงกำลังของสตรีที่เรียกว่า “โจรากา” (Choraka), ของยุโรป (Levisticum officinale W.D.J.Koch) ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำมาใช้แทนกันได้ เพียงแต่ตังกุยของทางยุโรปนั้นจะมีสารสำคัญบางตัวน้อยกว่าตังกุยของมณฑลเสฉวน ประเทศจีน


สรรพคุณตังกุย


แพทย์แผนจีนนิยมใช้ในตำรับยาเกี่ยวกับโรคทางนรีเวชเช่น ใช้เป็นยาขับระดู แก้รกตีขึ้น ขับรกและแก้ไข้ในเรือนไฟ แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ตกมูกเลือด และสตรีประจำเดือนมาไม่ปกติ สำหรับแพทย์แผนไทยจะใช้แก้ไข้ แก้สะอึก แก้ไอ แก้เสียดแทงสองราวข้าง
โดยความนิยมแล้วถือว่าตังกุยเป็นสมุนไพรที่ทรงคุณค่าสำหรับสตรี เนื่องจากเป็นตัวยาที่มีผลต่อมดลูกโดยตรง เพราะตังกุยให้สารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อเอสโตเจน (Estrogen like action) ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ จากภาวะหมดประจำเดือน (Menopause) รักษาสมดุลของฮอร์โมนต่างๆในร่างกาย ช่วยรักษาสมดุลของการไหลเวียนโลหิตในผู้หญิง ช่วยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ แก้ปวดประจำเดือน ช่วยบรรเทาอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว และเป็นยาระบายท้องอ่อนๆ ด้วย
ถ้าดูจากสรรพคุณดั้งเดิมที่ว่าตังกุยเป็นยาที่ใช้สำหรับบำรุงร่างกายทั่วๆ ไป และบรรเทาอาการปวดเมื่อยต่างๆ จึงใช้ได้ดีทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย โดยเฉพาะการมุ่งหวังผลเพื่อเป็นยาบำรุงร่างกายเพราะในรากตังกุยจะมีวิตามินบี 12 ในปริมาณที่มาก (0.25-0.4 ไมโครกรัม/100 กรัมของน้ำหนักรากแห้ง) รวมถึงมีสารโฟลิก (Folic) และไบโอติน (Biotin) ซึ่งมีผลต่อการสร้างปริมาณเม็ดเลือดในร่างกายจึงนิยมใช้เป็นยาบำรุงโลหิต
ต้านการอักเสบและลดการบวมโดยการทดสอบทางชีวเคมีถึงขบวนการเกิดการอักเสบ พบว่าสารจากตังกุยสามารถขัดขวางการเกิด 5-hydroxytryptamine (5-HT) และลดการส่งผ่านสารทางผนังเซลล์หัวใจ (coronary flow) และและผนังหลอดเลือด (peripheral blood flow) ได้โดยการทำให้หลอดเลือดขยายตัว (dilate vessel) มีผลต่อการเต้นของหัวใจทำให้ความดันล่างสูงขึ้น
เมื่อมดลูกอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ จะมีความไวต่อภาวะความกดดันภายในโพรงมดลูก สารสกัดจากตังกุยจะลดการบีบตัวมดลูก และทำให้มดลูกตอบสนองต่อความกดกันภายในโพรงมดลูกน้อยลง (decreasing the myometrium sensitivity) ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงมดลูกมากขึ้น ผลคือลดการแท้งบุตรได้ เป็นเหตุผลว่า ทำไมตังกุยจึงมีผลดีต่อสตรีตั้งครรภ์
ส่วนสตรีทั่วไปและสตรีหลังคลอด การรับประทานตังกุยจะทำให้รอบเดือนมาปกติลดอาการปวดประจำเดือนได้ ในตำรับยาจีนมักผสมตังกุยกับหัวแห้วหมู (cyperusrotundas), โกฐจุฬาลำเภาจีน (Artemisiaargyi), เปลือกลูกพรุน ( Prunes persica) และดอกคำฝอย (carthamus tinctorius) เพื่อใช้รักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ในสตรีหลังคลอดจะช่วยขับน้ำคาวปลา ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
ในสตรีวัยหมดประจำเดือน มีการทดลองใช้ตังกุยร่วมกับตัวยาอื่นอีก 5 ชนิด ในคนไข้ 43 ราย พบว่าส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น คือ อาการร้อนวูบวาบ มึนงง ตาพร่า, อาการไม่สบายในช่องท้อง จะลดลงประมาณร้อยละ 70
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้โกฐเชียงในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย ได้แก่
1.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ปรากฏตำรับ”ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ ”ยาหอมนวโกฐ” มีส่วนประกอบของโกฐเชียงอยู่ในพิกัดโกฐทั้ง 9 ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง
2.ยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ปรากฏตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” มีส่วนประกอบของโกฐเชียงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ
โกฐเชียงเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ พืชชนิดนี้ปลูกมากในประเทศจีน โดยเฉพาะในป่าดิบตามภูเขาสูงของมณฑลไต้หวัน มณฑลส่านซี และมณฑลยูนนาน และได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทย ที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” โกฐเชียงจัดอยู่ใน โกฐทั้งห้า(เบญจโกฐ) สรรพคุณโดยรวม ของยาที่ใช้ในพิกัดโกฐ คือ แก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง ขับลม แก้สะอึก บำรุงเลือด บำรุงกระดูก
เครื่องยา“พิกัดโกฐ” ประกอบด้วย “พิกัดโกฐทั้ง 5” ได้แก่ โกฐหัวบัว โกฐสอ โกฐเขมา โกฐเชียง โกฐจุฬาลำพา มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อเสมหะ หืดไอ แก้โรคปอด โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต “พิกัดโกฐทั้ง 7” (มีโกฐกระดูก และโกฐก้านพร้าว เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณ แก้ไข้จับสั่น แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคในปอด แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก “พิกัดโกฐทั้ง 9” (มีโกฐพุงปลา และโกฐชฎามังษี เพิ่มเข้ามา) สรรพคุณแก้ไข้จับ แก้ไข้เพื่อเสมหะ แก้หืดไอ แก้โรคปอด แก้โรคในปากคอ แก้ลมในกองธาตุ ชูกำลัง บำรุงโลหิต แก้ไข้เรื้อรัง แก้หอบ แก้สะอึก บำรุงกระดูก แก้ไข้ในกองธาตุอติสาร แก้ไส้ด้วนไส้ลาม ขับระดูร้าย
ในตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์: มีตำรับ “ยาทรงนัตถุ์” ขนานหนึ่งประกอบด้วยสมุนไพร 15 ชนิด รวมทั้งโกฐเชียงด้วย โดยนำตัวยาทั้งหมดบดเป็นผงละเอียดรวมกัน ใช้สำหรับนัตถุ์ ใช้ดมแก้ปวดหัว แก้วิงเวียน แก้สลบ แก้ริดสีดวงจมูก คอ และตา



ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของตังกุย

กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ และมดลูก ปกป้องตับ ปกป้องสมองและไขสันหลัง เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ป้องกันการแข็งตัวของเลือด กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ต้านเนื้องอกและยับยั้งเซลล์มะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระ ลดความกังวล กระตุ้นการสร้างเซลล์กระดูก ป้องกันการถูกทำลายโดยรังสี มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน
มีรายงานจาการทดลองพบว่า สารสกัดจากตังกุย จะมีคุณสมบัติ ทำให้กล้ามเนื้อของมดลูกคลายตัวได้ แต่สำหรับในเชิงเภสัชวิทยาจะเกิดผลใน 2 กรณี คือ
ประการแรก คือเมื่ออยู่ในภาวะตั้งครรภ์ มดลูกจะมีความไวต่อภาวะความกดดันในโพรงมดลูกสูง สารสกัดจากรากตังกุยจะมีผลลดการบีบตัวของมดลูก ทำให้การตอบสนองต่อความกดดันในโพรงมดลูกน้อยลง (Decreasing the myometrial sensitivity) และมีผลให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณมดลูกมากขึ้นโดยการขยายหลอดเลือดผลก็คือลดโอกาสในการแท้งบุตรได้
ประการที่สอง คือสำหรับสตรีทั่วไปและสตรีภายหลังการคลอดบุตร ตังกุยจะมีผลต่อระบบประจำเดือน คือช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้ปวดประจำเดือน มีรายงานว่าในสารสกัดของตังกุย มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกได้ดี (คือเพิ่มการบีบตัวของมดลูก) จึงนิยมใช้ตังกุยเป็นยาช่วยในการขับน้ำคาวปลา และช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น สำหรับการรักษาอาการหลังหมดประจำเดือน มีการทดลองใช้ตังกุยร่วมกับตัวยาอื่นอีก 5 ชนิด พบว่าส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นคือ อาการร้อนวูบ มึนงง ตาพร่า และอาการไม่สบายในช่องท้องจะลดลงประมาณ 70%
เมื่อให้สารสกัดตังกุยครั้งละ 5 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันนาน 1 สัปดาห์ พบว่าสามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือน ช่วยขับประจำเดือน มีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของมดลูก ลดความหนืดของเลือดในสตรี และพบว่าเมื่อฉีดสารสกัดน้ำเข้าหลอดเลือดดำในผู้ป่วยจำนวน 40 ราย ในขนาด 240 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน ก็ไม่ผลอาการผิดปกติใด ๆ



การศึกษาทางพิษวิทยาของตังกุย

โดยทั่วไปแล้ว ตังกุยก็เช่นเดียวกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ถ้าใช้ในปริมาณที่ปกติก็ไม่พบอันตรายอย่างไร แม้ในบางคน ที่ได้รับตังกุยแล้วเกิดอาการผิดปกติ เมื่อหยุดยาอาการดังกล่าวก็มักจะหายไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยเสียเลยทีเดียว ถ้าร่างกายได้รับสารมาก ส่วนจะมากเท่าใดนั้นคงยากที่จะตอบ แต่จากการทดลองในสัตว์ โดยใช้สารสกัดน้ำปริมาณ 0.3-0.9 กรัมต่อน้ำหนักตัว 10 กรัม ฉีดเข้าสู่กระเพาะ จะมีผลให้การเต้นของหัวใจช้าลง ความดันโลหิตลดลง และกดการหายใจ และเมื่อได้รับสารมากขึ้นก็จะแสดงอาการมากขึ้น แต่จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่พบว่ามีผู้ใดได้รับอันตรายร้ายแรง จากการรับประทานตังกุยเลย



ข้อแนะนำ / ข้อควรระวัง

ไม่ควรใช้ในสตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีระบบขับถ่ายไม่ดี ท้องเสียบ่อย ร้อนใน หรือเคยอาเจียนเป็นเลือด และไม่ควรรับประทานหากมีประจำเดือนมามาก นอกจากจะได้รับคำแนะนำให้รับประทานจากแพทย์แผนตะวันออกที่มีความรู้ในด้านโภชนาการ




เอกสารอ้างอิง

1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐเชียง”. หน้า 106.
2. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “โกฐเชียง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [10 มิ.ย. 2015].
3. คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. (อาจารย์โสรัจ นิโรธสมาบัติ แพทย์แผนจีน). “ตังกุย สุดยอดสมุนไพรบำรุงเลือด”.
4. บทที่ 3 ศักยภาพการปลูกพืชสมุนไพรจีนในประเทศไทย. (สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร). “โกฐเชียง”. หน้า 47-50.
5. ตังกุย.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://wikipeddia.org/wiki
6. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
7. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
8. เย็นจิตร เตชะดำรงสิน. การพัฒนาสมุนไพรแบบบูรณาการ. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2550.
9. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, 2547.
10. บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด. มหัศจรรย์สมุนไพรจีน. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด มหาชน, 2550.
11. Foster S, Yue CX. Herbal Emissaries. Rochester, VT: Healing Arts Press, 1992, 65-72.
12. ตังกุย สมุนไพรสำหรับ.สตรี.สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.university.buu.ac.th/forum2/topic.asp?topic_ID=1467
13. ตังกุยไทยกับจีนต่างกันอย่างไร.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://th.answers.yahoo.com/question/indew?qid=20090822205140AAAS2Tzs
14. กรีนคลินิก. (พญ.สุภาณี ศุกระฤกษ์ อายุรแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง). “ตังกุย”, “ตังกุย (Dong quai)“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.greenclinic.in.th. [10 มิ.ย. 2015].
15. ตังกุยหรือโกฐเชียง.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น