วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ขี้เหล็ก

ขี้เหล็ก สรรพคุณและงานวิจัย





ชื่อสมุนไพร ขี้เหล็ก
ชื่ออื่นๆ ขี้เหล็กแกน (ราชบุรี) , ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง,สุราษฎร์ธานี) , ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) , ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง) ,ผักจี้ลี้ (ไทยใหญ่ แม่ฮ่องสอน) , แมะขี้เหละพะโด (กะเหลี่ยงแม่ฮ่องสอน) , ยะหา (มลายู ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna siamea (Lam.) Irwin et Barneby
ชื่อพ้อง Cassia florida Vahl, C. siamea Lam.
ชื่อสามัญ Cassod tree , Thai copper pod , Siamese cassia
วงศ์ Fabaceae (Leguminosae – Ceasalpinioideae)ล



ถิ่นกำเนิด

ขี้เหล็ก มีชื่อเรียกในทาง พฤกษศาสตร์ว่า Cassia siamea Lamk. ซึ่งคำว่า siamea ที่เป็นชื่อชนิดของขี้เหล็กนั้น มาจากคำว่า Siam หรือสยาม ทั้งนี้ เพราะผู้ตั้งชื่อทางพฤกษศาสตร์และภาษาอังกฤษให้เกียรติประเทศสยาม (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของต้นขี้เหล็กบ้าน ความจริงต้นขี้เหล็กบ้านพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในหลายประเทศ เดิมเป็นไม้ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับจากหมู่เกาะต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซียไปจนกระทั่งถึงประเทศศรีลังกาต่อมามีผู้นำเอาไม้ขี้เหล็กไปเป็นไม้ประดับ ขึ้นได้ในดินร่วมปนทรายที่มีการระบายน้ำดี



ลักษณะทั่วไปขี้เหล็ก

ลำต้นขี้เหล็ก เป็นไม้ขนาดกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นมีลักษณะไม่สมมาตร ไม่เป็นวงกลม และมักบิดงอ เปลือกลำต้นมีสีเทาอมดำ เปลือกแตกเป็นร่องเล็กๆตามยาว เมื่อจับจะรู้สึกสากมือ ลำต้นแตกกิ่งจำนวนมาก เป็นทรงพุ่มใหญ่
ใบขี้เหล็ก เป็นใบประกอบแบบขนนกชนิดใบคู่ (ใบสุดท้ายเป็นคู่) ใบแตกออกบริเวณกิ่ง เรียงสลับกัน ประกอบด้วยใบหลักยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร แต่ละใบหลักประกอบด้วยใบย่อย เรียงเป็นคู่ๆ 7-16 คู่ ใบย่อยมีรูปร่างรี โคนใบ และปลายใบมน แต่หลักเว้าตรงกลางของปลายใบเล็กน้อย ใบยาวประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ เส้นใบมองไม่ค่อยชัดเจน ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีแดงเรื่อ ใบแก่มีสีเขียวสด ไม่มีขน โดยใบอ่อนจะเริ่มแตกออกให้เห็นตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งในระยะนี้จะเริ่มเก็บยอดอ่อนมาทำอาหารได้ และใบจะเริ่มแก่ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งช่วงนี้จะไม่นำมาทำอาหาร แต่ต่อไปจะนำดอกอ่อนที่ออกในช่วงกรกฎาคมมาทำอาหารแทน
ดอกขี้เหล็ก แทงออกเป็นช่อขนาดใหญ่ โดยจะแทงออกเฉพาะบริเวณปลายกิ่งเท่านั้น ช่อดอกยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร แต่ละช่อประกอบด้วยดอกจำนวนมาก มากกว่า 10 ดอก ดอกประกอบด้วยกลีบรองดอก 3-4 กลีบ กลีบดอกมีสีเหลืองเข้ม จำนวน 5 กลีบ ที่มีขนาดเท่ากัน ถัดมาภายในเป็นเกสรตัวผู้ 10 อัน ถัดมาเป็นเกสรตัวเมีย และรังไข่ ดอกจะเริ่มบานจากโคนช่อ เรื่อยๆจนถึงปลายช่อ ดอกบานเต็มที่มีขนาดประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร เมื่อดอกบานแล้ว 2-3 วัน จะร่วงล่นลงดินดอกจะบานในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเริ่มติดฝักในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม
ฝัก และเมล็ด ผลขี้เหล็กเรียกว่า ฝัก มีลักษณะแบนยาว ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาลอมดำ ขนาดฝักกว้าง 1.5 เซนติเมตร ยาว 15-25 เซนติเมตร ภายในฝักมีเมล็ดเรียงตามความยาวของฝัก จำนวน 20-30 เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างรีแบน สีน้ำตาลอมดำ



การขยายพันธุ์ขี้เหล็ก

ต้นขี้เหล็กสามารถเจริญเติบโตได้ทุกภาคของไทย เนื่องจากมีความทนทานต่อสภาพอากาศที่ร้อนได้ดี และเป็นพันธุ์ไม้ที่พบได้ทั่วไป รวมถึงประชาชนนำยมบริโภคเป็นอาหารด้วย ในปัจจุบัน การขยายพันธุ์ขี้เหล็ก นิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ดเป็นหลัก เพราะจะให้กิ่งได้มาก แตกยอดอ่อนได้มาก



องค์ประกอบทางเคมีของขี้เหล็ก

สาระสำคัญที่พบ (ใบ และดอก) • กลุ่มสารแอนทราควิโนน (anthraquinones) คริสโซฟีนอล (chrysophenol) อะโลอีโมดิน (aloe emodin) เซนโนไซด์ (sennoside) เรอิน (rhein) • กลุ่มสารไกลโคไซด์ (glycosides) • กลุ่มสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid)






Barakol 






aloe emodin





 Cassisamin






Glycoside


พ.ศ. 2513 คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยน็อคติ้งแฮม ประเทศอังกฤษได้รายงานว่าสามารถสกัดสารชนิดใหม่จากใบขี้เหล็กได้ โดยตั้งชื่อว่าบาราคอล (barakol) (3a,4-dihydroxy-2,5-dimethyl-1,4-dioxaphenalene) (1-3)
คุณค่าทางโภชนาการ (ยอดอ่อน และดอกอ่อน 100 กรัม)
พลังงาน : ยอดอ่อน 139, ดอกอ่อน 80 กิโลแคลอรี่
น้ำ : ยอดอ่อน 57.8, ดอกอ่อน 74.7 กรัม
คาร์โบไฮเดรต : ยอดอ่อน 22.8, ดอกอ่อน 14.3 กรัม
โปรตีน : ยอดอ่อน 7.7, ดอกอ่อน 4.9 กรัม
ไขมัน : ยอดอ่อน 1.9, ดอกอ่อน 0.4 กรัม
กาก (crude fiber) : ยอดอ่อน 3.7, ดอกอ่อน 4.3 กรัม
ใยอาหาร : ยอดอ่อน 8.2กรัม, ดอกอ่อน ไม่พบ
เถ้า : ยอดอ่อน 1.6, ดอกอ่อน 1.3 กรัม
แคลเซียม : ยอดอ่อน 156, ดอกอ่อน 13 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส : ยอดอ่อน 190, ดอกอ่อน 4 มิลลิกรัม
เหล็ก : ยอดอ่อน 5.8, ดอกอ่อน 1.6 มิลลิกรัม
วิตามินเอ : ยอดอ่อน 1,197, ดอกอ่อน 8,221 หน่วยสากล (I.U)
วิตามินบี 1 : ยอดอ่อน 0.04, ดอกอ่อน 0.11 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 : ยอดอ่อน 0.69 มิลลิกรัม,ดอกอ่อน ไม่พบ
ไนอะซิน : ยอดอ่อน 1.3, ดอกอ่อน 1.8 มิลลิกรัม
วิตามินซี : ยอดอ่อน 11, ดอกอ่อน 484 มิลลิกรัม



สรรพคุณขี้เหล็ก

ดอกขี้เหล็ก รักษาโรคเส้นประสาท นอนไม่หลับ ทำให้หลับสบาย รักษาหืด รักษาโรคโลหิตพิการ ผายธาตุรักษารังแค ขับพยาธิ สารในกลุ่มแอนทราควิโนน (anthraquinones) ช่วยออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นยาระบาย และแก้อาหารท้องผูก ช่วยยับยั้งและชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง
ใบขี้เหล็ก รักษาโรคบิด โรคเบาหวาน แก้ร้อนใน รักษาฝีมะม่วง รักษาโรคเหน็บชา ลดความดันโลหิตสูง ขับพยาธิ เป็นยาระบาย รักษาอาการนอนไม่หลับ ใบขี้เหล็กมีสารที่ชื่อว่า “แอนไฮไดรบาราคอล” (Anhydrobarakol) ที่มีสรรพคุณช่วยในการคลายความเครียดบรรเทาอาการจิตฟุ้งซ่าน
แก่น รักษาโรคเบาหวาน รักษาโรคหนองใน ใช้เป็นยาระบาย รักษาวัณโรค รักษามะเร็งปอด ปอดอักเสบ มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร
รากขี้เหล็ก และเปลือกลำต้น (รสขม) ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ในลักษณะเดียวกันที่กล่าวข้างต้น นำเปลือกขี้เหล็กมาต้มน้ำอาบในลักษณะเช่นเดียวกันกับใบ เพื่อรักษาโรคผิวหนัง นำราก และเปลือกมาต้มดื่ม ช่วยอาการท้องเสีย แก้ปวดเมื่อย แก้อาการเหน็บชาตามร่างกาย บำรุงไต บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ตัวร้อน รักษา และบรรเทาอาการเป็นริดสีดวง
ฝัก และเมล็ดขี้เหล็ก ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ในลักษณะเดียวกันที่กล่าวข้างต้น แก้ปวดเมื่อย เหน็บชา ช่วยลดอาการไอ และขับเสมหะ ช่วยลดความเครียด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และช่วยให้ง่วงนอนง่าย ช่วยในการขับลม แก้ลมดันในระบบทางเดินอาหาร



รูปแบบ / ขนาดวิธีใช้ขี้เหล็ก

การใช้ใบขี้เหล็กรักษาอาการท้องผูกตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) ใช้ใบขี้เหล็ก 4-5 กำมือ ต้มเอาแต่น้ำดื่มก่อนอาหาร
แก้อาการนอนไม่หลับ กังวล เบื่ออาหารใช้ใบแห้งหนัก 30 กรัม หรือใบสดหนัก 50 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มก่อนนอน หรือใช้ใบอ่อนทำเป็นยาดองเหล้า (ใส่เหล้าขาวพอท่วมยา แช่ไว้ 7 วัน คนทุกวันให้น้ำยาสม่ำเสมอ กรองกากยาออก จะได้น้ำยาดองเหล้าขี้เหล็ก) ดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนชา ก่อนนอน
แก้อาการท้องผูก เป็นยาระบาย ยาถ่าย ใช้ใบอ่อน 2-3 กำมือ หรือแก่นขนาดประมาณ 2 องคุลี ใช้ 3-4 ชิ้น ใช้ใบขี้เหล็กอ่อนหรือแก่ต้มกับน้ำ 1-1½ ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มเมื่อตื่นนอนเช้า หรือก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว
ช่วยรักษารังแค ด้วยการใช้ดอกขี้เหล็กผสมกับมะกรูดย่างไฟ 2 ลูก โดยต้องย่างให้มีรอยไหม้ที่ผิวมะกรูดด้วย ใช้ดอกขี้เหล็ก 2 ช้อนโต๊ะ พิมเสน 1 ช้อนชา นำมาปั่นผสมกันแล้วเติมน้ำปูนใส 100 cc. ปั่นจนเข้ากัน แล้วคั้นกรองเอาแต่น้ำ จากนั้นนำน้ำมันมะกอกเติมผสมเข้าไปประมาณ 60-100 cc. ผสมจนเข้ากันแล้วนำมาหมักผมทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีก่อนการสระผมทุกครั้ง จะช่วยรักษารังแคได้
นำใบขี้เหล็กมาต้มน้ำสำหรับอาบ ช่วยรักษาโรคผิวหนัง กำจัดเชื้อรา
บรรเทาอาการปวดจากพิษแมลงกัดต่อย ด้วยการนำมาส่วนต่างๆมาบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนจะประคบบริเวณที่ถูกต่อย
ช่วยในการห้ามเลือด ด้วยการนำใบ และดอกอ่อนมาบด และกดประคบไว้ที่แผล




ฤทธิ์ทางเภสัชของขี้เหล็ก

ฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ สารสกัดใบขี้เหล็กด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 25 มีผลเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้กบและสุนัข
ฤทธิ์เป็นยาถ่าย ขี้เหล็กมีสาร anthraquinone ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย จากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากใบขี้เหล็กด้วยน้ำร้อน มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายในหนู
การศึกษาฤทธิ์ของแอนโดรบาราคอลที่สกัดได้จากใบ และยอดอ่อนขี้เหล็กต่อระบบประสารทส่วนกลาง พบว่าแอนโดรบาราคอลสามารถออกฤทธิ์ลดการเคลื่อนไหวของสัตว์ได้ ซึ่งอาจออกฤทธิ์ผ่านการกดระบบประสาทส่วนกลาง
ฤทธิ์ลดอาการวิตกกังวลและช่วยให้นอนหลับ จากการทดสอบสารบาราคอลจากใบอ่อน พบว่ามีผลทำให้หนูขาวซึม เคลื่อนไหวช้าลง แต่ไม่หลับ แต่อีกการทดลองหนึ่งกล่าวว่าบาราคอลมีฤทธิ์ทำให้สัตว์ทดลองหลับ เมื่อฉีดบาราคอลเข้าทางช่องท้องหนูขาว ในขนาด 25 มก./กก. (low dose) และ 100 มก./กก. (high dose) และการทดลองฉีดน้ำสกัดจากใบขี้เหล็กสด ขนาด 12 ก./กก. เข้าทางกระเพาะอาหารหนูขาว พบว่ามีฤทธิ์คลายกังวล แต่มีการศึกษาผลของบาราคอล (0-20 มก./ก.) ในการลดอาการวิตกกังวล โดยใช้วิธีการทดลองแบบ elevated plus-maze และ shock-probe burying tests พบว่าบาราคอลไม่มีฤทธิ์ดังกล่าว
มีการทดลองใช้ยาน้ำเชื่อม (syrup) ขี้เหล็ก และยาเม็ดขี้เหล็กทางคลินิก เพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ โดยใช้ยาดังกล่าวให้มี anhydrobaracol 10 มก./dose มีผู้ป่วยหลังการผ่าตัด 22 ราย ที่ได้รับยาน้ำเชื่อมครั้งเดียว ก่อนนอน และผู้ป่วยนอก 20 ราย ได้รับยาเม็ดไปรับประทาน 1 ครั้ง ก่อนนอน ผลการทดสอบพบว่า การนอนหลับดีขึ้น 59 และ 69% ในผู้ป่วยที่ได้รับยาน้ำเชื่อมและยาเม็ดตามลำดับ ส่วนผลข้างเคียงพบในกลุ่มที่ได้รับยาเม็ดเท่านั้น คือ loose stool และอึดอัดในท้อง (6%)
เสริมฤทธิ์กับยานอนหลับ มีการทดลองป้อนสารสกัดอัลกอฮอล์ของขี้เหล็กใบแก่ (0.9956 ก./กก.) และสารสกัดอัลกอฮอล์ของขี้เหล็กใบอ่อน (0.8942 ก./กก.) ให้กับหนูถีบจักรเพศผู้ เพื่อศึกษาฤทธิ์ช่วยหลับ ทำการศึกษาโดยใช้วิธี hexobarbital sleeping time โดยหลังจากให้สารสกัดแก่สัตว์ทดลองแล้ว อีก 1 ชม. จึงฉีด hexobarbital ขนาด 60 มก./กก. ทางช่องท้อง จับเวลาที่สัตว์ทดลองหลับ โดยสังเกตจาก righting reflex นอกจากนี้ยังได้ทดสอบฤทธิ์ของ standard barakol ขนาด 10 มก./กก. โดยให้ทางช่องท้องด้วย ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดอัลกอฮอล์ของขี้เหล็กใบอ่อนและสารสกัดอัลกอฮอล์ของขี้เหล็กใบแก่ และ standard ช่วยเพิ่มระยะเวลาที่หนูหลับโดย hexobarbital ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ส่วนการเปรียบเทียบหาปริมาณบาราคอลในขี้เหล็กใบแก่และใบอ่อน โดยวิธี TLC densitometry พบว่าปริมาณบาราคอลในใบอ่อนมีมากกว่าในใบแก่ แต่ระยะเวลาการนอนหลับที่เพิ่มขึ้นของขี้เหล็กใบอ่อนและใบแก่ ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ จากการศึกษาฤทธิ์ของใบขี้เหล็กตากแห้งทั้งชนิดใบป่นผสมน้ำและน้ำสกัด ปริมาณ 1-2 ก./กก. นำมาป้อนให้กระต่ายแล้วให้ pentobarbital โดยแบ่งการทดสอบเป็นป้อนครั้งเดียว 1 ชม.ก่อนฉีด pentobarbital และป้อนทุกวัน ติดต่อกัน 7 วัน ก่อนฉีด pentobarbital พบว่าขี้เหล็กปริมาณดังกล่าว ไม่มีฤทธิ์ทำให้ระยะเวลาการนอนหลับโดย pentobarbital ในกระต่ายเปลี่ยนแปลง



การศึกษาทางพิษวิทยาของขี้เหล็ก

การทดสอบความเป็นพิษ มีการศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากใบขี้เหล็ก โดยป้อนและฉีดสารสกัดใบขี้เหล็กเข้าใต้ผิวหนังของหนูเม้าส์ ขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง เมื่อฉีดสารสกัดใบขี้เหล็กด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 แก่หนูตัวเมีย พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่งคือ 1 กรัม/กิโลกรัม แสดงว่าสารสกัดมีพิษระดับปานกลาง ส่วนการทดสอบพิษแบบเฉียบพลันอีกการทดลองหนึ่งพบว่าใบขี้เหล็กมีผลทำให้สัตว์ทดลองตาย เมื่อนำส่วนสกัดอัลคาลอยด์จากใบขี้เหล็กมาป้อนหนูตะเภาหรือหนูแรทในขนาดเทียบเท่าผงใบแห้ง 70 กรัม/กิโลกรัม ไม่พบพิษ เมื่อใช้สารสกัดจากใบขี้เหล็กด้วยแอลกอฮล์ร้อยละ 25 ป้ายที่ตาหนูแรท มีผลทำให้เยื่อบุตาของหนูอักเสบ เมื่อผสมสารสกัดลงในอาหารให้หนูตะเภากิน พบว่ามีผลเพิ่มการขับถ่ายอุจจาระ เมื่อผสมสารสกัดลงในอาหารให้สุนัขกิน พบว่าสุนัขอาเจียน และเมื่อทดลองในอาสาสมัคร 21 คน พบว่ามีอาการท้องเสีย 1 คน การทดลองทางคลินิก พบว่าขนาดที่ปลอดภัยคือ 4-8 กรัม หรือประมาณ 0.8-0.1 กรัม/กิโลกรัม ในอาสาสมัครที่ให้สารในขนาด 6 กรัม ไม่พบว่าเป็นอันตราย และในหญิงที่รับประทานในขนาดที่สูงถึง 15 กรัมก็ไม่พบอันตราย มีรายงานพบ toxic alkaloid (C14H19O3N) ซึ่งทำให้ตาย ในส่วนของฝักและใบ
พิษต่อตับ รายงานการเกิดตับอักเสบเฉียบพลันในผู้ที่รับประทานใบขี้เหล็กเพื่อช่วยให้นอนหลับ แต่เมื่อหยุดยาอาการตับอักเสบก็ลดลงเป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีการทดลองในหนูแรท โดยให้บาราคอล ซึ่งเป็นสารจากขี้เหล็ก ในขนาด 60, 100 และ 120 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่าหลังจากนั้น 24 ชั่วโมง ยังไม่พบความผิดปกติของตับ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาพาราเซตามอลขนาดสูงซึ่งเป็นพิษต่อตับ การศึกษาพิษแบบกึ่งเฉียบพลัน โดยให้บาราคอลขนาด 60, 120 และ 240 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าน้ำหนักของหนูที่ได้รับบาราคอลจะลดลง ไม่พบการตายของเซลล์ตับ แต่มีบิลิรูบิน (bilirubin) เพิ่มขึ้นแสดงว่าตับมีการทำงานเพิ่มขึ้น และพบการเปลี่ยนแปลงของการย่อยไขมัน โดยจะขึ้นกับขนาดของบาราคอลที่ได้รับ ซึ่งผลดังกล่าวสามารถกลับสู่ปกติได้เมื่อหยุดใช้
มีการรายงานภาวะตับอักเสบที่เกิดจากยาขี้เหล็ก พบว่ามีผู้ป่วยอย่างน้อย 9 รายในปี พ.ศ. 2542 มีภาวะตับอักเสบ โดยความสัมพันธ์ของภาวะตับอักเสบจากยากับยาขี้เหล็กจัดอยู่ ในระดับความสัมพันธ์ตั้งแต่ขั้นเป็นไปได้ (probable) จนถึงขั้นแน่นอน (definite) ตามเกณฑ์มาตรฐานการวินิจฉัย หรือ DILI scale (drug induced liver injury scale) และยังมีผู้ป่วยอย่างน้อย 2 ราย ได้ทดลองกินยาขี้เหล็กซ้ำใหม่หลังภาวะตับอักเสบเฉียบพลันดีขึ้นแล้ว พบว่าเกิดอาการของตับอักเสบซ้ำอีก และเมื่อต้นปี พ.ศ. 2543 แพทย์ทาง อายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ ได้รายงานถึงภาวะตับอักเสบที่อาจสัมพันธ์โดยตรงต่อการใช้สมุนไพรขี้เหล็ก หรืออาจจะเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างกันของยา (Drug interaction) ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่มีอาการตับอักเสบ จากการซักประวัติ พบว่ามีพฤติกรรมบริโภคอาหารเสริมหรือยา รวมทั้งขี้เหล็กด้วย นอกจากนี้ยังมีการทดสอบพิษต่อตับของบาราคอล ซึ่งเป็นสารสำคัญที่สกัดจากใบอ่อนของต้นขี้เหล็กในเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยงของตับคน ชนิดเฮพจี 2 โดยใช้บาราคอลความเข้มข้น 0.25, 0.50, 0.75 และ 1 มิลลิโมลาร์ ทำการทดสอบเทียบกับอะเซตามิโนเฟนซึ่งเป็นสารพิษต่อตับ วัดผลการทดสอบที่เวลา 24, 48, 72 และ 96 ชม. พบว่าบาราคอลและอะเซตามิโนเฟน มีผลเป็นพิษต่อตับ โดยขึ้นกับขนาดและเวลาที่ได้รับสาร บาราคอลมีพิษต่อตับอย่าง มีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ที่ความเข้มข้นมากกว่าหรือเท่ากับ 0.75 มิลลิโมลาร์ ที่เวลา 24 ชม.ของการสัมผัส ส่วนที่เวลา 48, 72 และ 96 ชม.ของการสัมผัส จะพบพิษของบาราคอลที่ ความเข้มข้นมากกว่าหรือเท่ากับ 0.50 มิลลิโมลาร์ ค่า IC50 ของบาราคอลต่อเซลล์ที่เวลา 24, 48, 72 และ 96 ชม.ของการสัมผัส มีค่าเท่ากับ 5.70, 0.96, 0.77 และ 0.68 มิลลิโมลาร์ ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบพิษต่อเซลล์ระหว่างบาราคอลและอะเซตามิโนเฟน ที่ความเข้มข้น 1 มิลลิโมลาร์ พบว่าบาราคอลมีพิษต่อเซลล์มากกว่าอะเซตามิโนเฟน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ที่เวลาต่างๆ กันของการสัมผัส
พิษต่อเซลล์ เมื่อทดสอบสารสกัดเมทานอลจากใบสด ความเข้มข้น 20 มคก./มล. กับ Raji cells พบว่าไม่มีพิษ แต่พบว่าสารบาราคอลจากใบอ่อนของขี้เหล็กเป็นพิษต่อเซลล์ P19 embryonal carcinoma cells โดยมีค่า IC50 ที่ 0.57, 0.62, 0.53 และ 0.43 มิลลิโมล่าร์ ที่เวลา 36, 48, 60 และ 72 ชั่วโมงตามลำดับ หลังจากได้รับสารดังกล่าว



ข้อแนะนำ / ข้อควรระวัง

การรับประทานขี้เหล็กในลักษณะที่นำใบขี้เหล็กไปตากแห้งแล้วบรรจุเป็นเม็ด อาจทำให้เกิดการเสื่อมและการตายของเซลล์ตับ หรืออาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้เกิดโรคตับได้ ซึ่งการรับประทานขี้เหล็กอย่างปลอดภัย ต้องเลือกใบเพสลาดหรือตั้งแต่ยอดอ่อนถึงใบขนาดกลาง และนำไปต้มให้เดือด เทน้ำทิ้งสัก 2-3 น้ำ แล้วค่อยนำมาปรุงอาหารหรือนำไปทำเป็นยา ซึ่งวิธีการแบบพื้นบ้านนี้จะช่วยฆ่าฤทธิ์และทำลายสารที่เป็นอันตรายต่อตับได้ และยังช่วยลดความขมลงอีกด้วย
สารบาราคอลที่ได้รับในปริมาณมากจากขี้เหล็ก อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม และมีผลทำลายเซลล์ตับ
สารในกลุ่มสารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ออกฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดฝอยแตกได้ จึงไม่ควรรับประทานมาก และผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่ควรรับประทาน
จากผลการทดลองพบว่าขี้เหล็กช่วยให้นอนหลับ แต่เนื่องจากมีรายงานความเป็นพิษต่อตับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงห้ามจำหน่ายยาขี้เหล็กในรูปสมุนไพรเดี่ยวเพื่อใช้เป็นยานอนหลับหรือช่วยให้นอนหลับ



เอกสารอ้างอิง

1. ขี้เหล็ก.ฉบับประชาชนทั่วไป.สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
2. ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์.ขี้เหล็ก สมุนไพรคลายเครียด.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่241.คอลัมน์เรื่องน่ารู้.พฤษภาคม 2542
3. ธงชัย เปาอินทร์ และนิวัตร เปาอินทร์ , 2544.ต้นไม้ยาน่ารู้.
4. สมนึก ลิ้มเจริญ และคณะ,2551.ผลของการใช้ใบมะละกอ ใบขี้เหล็ก และเปลือกสะเดาในการกำจัดพยาธิตัวกลมในระบบทางเดินอาหารของแพะ
5. พรรษา มนต์แข็ง,2556.ดีเอ็นเอบาร์โค้ดเพื่อการระบุชนิดสมุนไพรแปรรูปสกุลขี้เหล็ก(SENNA)
6. มนฤดี สุขมา,ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ และ Hiroshi Watanabe,2546.ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของแอนโดรบาราคอล สารสกัดจากใบและยอดอ่อนต้นขี้เหล็กที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลาง.วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร.ปีที่23ฉบับที่2.
7. ขี้เหล็ก.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://eikipedia.org/w/index.php?title=ขี้เหล็ก&oldid=6215728
8. กฤษณา เกาะแก้ว วีระชัย สิงหนิยม พงษ์ศักดิ์ กรรณล้วน ราตรี สุดทรวง สุนันท์ ชัยนะกุล. ปฏิกิริยาไอโอดิเนชันของสารสกัดบาราคอลจากใบอ่อนของต้นขี้เหล็ก. การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24, กรุงเทพฯ, 19-21 ต.ค. 2541:454-5.
9. Sukma M, Chaichantipyuth C, Murakami Y,et al. CNS inhibitory effect of barakol, a constituent of Cassia siamia Lamk. J Ethnopharmacol 2002;83:87-94
10. Bulyalert D. Effects of barakol on the central nervous system: quantitative analysis of EEG in the rat. เชียงใหม่เวชสาร 1993;32(4):191-6.
11. Thongsaard W, Deachapunya C, Pongasakorn S, Boyd EA, Bennett GW, Marsden CA. Barakol: a potential anxiolytic extracted from Cassia siamea. Pharmacol Biochem Behav 1996;53(3):753-58.
12. Fiorino D F, Treit D, Menard J, Lermer L, Phillips A. “Is barakol anxiolytic?” Behavioural Pharmacology 1998; 9(4):375-8.
13. วีระสิงห์ เมืองมั่น ศศิธร เจริญบูรณ์ วนิดา จันทรเทพเทวัญ ชฎา พิศาลพงษ์. การทดสอบทางคลินิก:การใช้ยาน้ำเชื่อมขี้เหล็กและยาเม็ดขี้เหล็กช่วยให้นอนหลับ. วารสารสมุนไพร 2543;7(1):18-22.
14. ไชยพงษ์ เกรียงไกรวุฒิ ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์. การคัดกรองหาฤทธิ์ช่วยหลับในพืชสมุนไพร. โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 1998.
15. พรพิมล บุณยเกียรติ อภิญญา ภูวเศรษฐ. การศึกษาผลของใบขี้เหล็กต่อฤทธิ์ของบาร์บิทูเรตในกระต่าย. วิทยานิพนธ์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล, 1971.
16. ขี้เหล็ก.กลุ่มยากล่อมประสาททำให้นอนหลับ.สมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
17. มงคล โมกขะสมิต กมล สวัสดีมงคล ประยุทธ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 1971;13(1):36-66.
18. Suphakarn V, Ngunboonsri P, Glinsukon T. Biological value of plant proteins: protein quality and safety of khi-lek Cassia siamea. Annual Research Abstracts, Mahidol University, 1987:95.
19. Aswal BS, Bhakuni DS, Goel AK, et al. Screening of Indian plants for biological activity: part X. Indian J Exp Biol 1984;22(6):312-32.
20. Nakanishi K, Sasaki SI, Kiang AK, et al. Phytochemical survey of Malaysian plants preliminary chemical and pharmacological screening. Chem Pharm Bull 1965;13: 882-90.
21. อุไร อรุณลักษณ์. การศึกษาสมุนไพร 1. การศึกษาเภสัชวิทยาของใบขี้เหล็ก. สารศิริราช;1(9):434-44.
22. Council of Scientific & Industrial Research. The wealth of India: a dictionary of raw materials and industrial products Vol. II. New Delhi:Insdoc 1950:427 pp.
23. สมบัติ ตรีประเสริฐสุข มงคล หงษ์ศิรินิรชร อนุชิต จูฑะพุทธิ. ภาวะตับอักเสบจากสมุนไพร "ขี้เหล็ก" บทเรียนเพื่อการพัฒนาสมุนไพรไทย. คลินิกนานาสาระ 2000;186(16):385-90.
24. ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง. ติดฉลากเตือนใช้ขี้เหล็กระวังโรคตับ. The Medicine Journal 2000;1(2):14.
25. สมทรง ลาวัณย์ประเสริฐ ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ สุรชัย อัญเชิญ ยุพิน ลาวัณย์ประเสริฐ.ดาเรสเซนต์. การศึกษาความเป็นพิษของบาราคอลต่อตับโดยการทดสอบด้วยเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยงของตับคน ชนิดเฮพจี2. ไทยเภสัชสาร 2544;25(3-4):149-59.
26. Permtermsin C, Chaichanthipyuth C, Lipipun V, et al. Evaluation of cytotoxic effect of barakol on P19 embryonal carcinoma cell. Thai J Pharm Sci 2002;Vol 26(suppl.):29.
27. ขี้เหล็ก.ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP.กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น