บุก สรรพคุณและงานวิจัย
ชื่อสมุนไพร บุก
ชื่ออื่นๆ / ชื่อท้องถิ่น มันซูรัน (ภาคกลาง) บุกคุงคก (ชลบุรี) เมีย เบือ บุกหนาม บุกหลวง (แม่ฮ่องสอน) บุกคางคก (กลาง เหนือ) หัวบุก (ปัตตานี) บักกะเดื่อ (สกลนคร) กระบุก (บุรีรัมย์)ป บุกรอหัววุ้น หมอยวี จวี๋ ยั่ว (จีนแต้จิ๋ว) หมอยื่น (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Amophophallus paeoniifolius (Dennst.)Nicolson.
ชื่อพ้อง Amophophallus campanulatus (Roxb.)Blume ex Decne
วงศ์ Araceae
ถิ่นกำเนิด
บุกเป็นพืชหัว เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อประมาณ 100 กว่าปีมาแล้วโดยนักพฤกษศาสตร์ชาวอิตาลี Odoardo Beccari ได้ค้นพบพืชในสกุลบุกชนิดหนึ่ง คือ Amophophallus titanium (Becc.) Ex Arcang. ในป่าของประเทศอินโดนีเซียด้วยขนาดดอกที่ใหญ่มหึมาและลักษณะรูปพรรณสัณฐาน สีสันสวยงาม แปลตาได้ปลุกเร้าความสนใจของนักพฤกษศาสตร์ และคนทั่วไปให้หันมาศึกษาค้นคว้า และให้ความสำคัญกับพืชนี้มากขึ้น และได้ขนานนามดอกไม้ขนาดยักษ์นี้ว่า “ดอกไม้มหัศจรรย์” สายพันธุ์บุกในโลกมีไม่ต่ำกว่า 90 ชนิด มีถิ่นกำเนิดในประเทศเอเชีย พบมากที่สุดในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่พบมากกว่า 80 ชนิด จากการสำรวจพบว่ามีพืชสกุลบุกอยู่ประมาณ 170 ชนิดทั่วโลก และพบในประเทศไทย 46 ชนิด (เต็ม, 2544 และ Hetterscheid & Ittenbach, 1996) เจริญเติบโตและแพร่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะบริเวณป่าโปร่งที่เป็นแหล่งอาศัยของพืชพื้นเมือง
ภาคเหนือ พบที่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พิจิตร อุดรดิตถ์ กำแพงเพชร พิษณุโลก และสุโขทัย
ภาคกลาง พบที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ธนบุรี ปทุมธานี และปราจีนบุรี
ภาคใต้ พบที่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง ปัตตานี พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ ยะลา และนราธิวาส
ภาคตะวันออก พบในหลายจังหวัดทางฝั่งทะเลตะวันออก
ภาคตะวันตก พบที่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และ เพชรบุรี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบมากที่นครราชสีมา และ บุรีรัมย์
ลักษณะทั่วไปของบุก ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม่ล้มลุกเนื้ออ่อน ลำต้นอวบ สีเขียวเข้ม ตามต้นมีรอยด่างเป็นดวงๆ เขียวสลับขาว ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว แตกใบที่ยอด กลุ่มใบแผ่เป็นแผงคล้ายร่มกางก้านใบต่อเนื่องกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5 – 7 ใน รูปใบยาวปลายใบแหลม ขนาดใบยาว 12 – 15 ซม. ลำต้นสูง 1 – 2 เมตร ดอกบุกเป็นสีเหลือง บานในตอนเย็นมีกลิ่นเหม็น คล้ายหน้าวัว ประกอบด้วยปลี และจานรองดอก จานรองดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 – 15 ซม. เกสรตัวผู้และตัวเมียรวมอยู่ในดอกเดียวกัน แต่แยกกันอยู่คนละชั้น เมื่อบานจานรองดอกจะโรย เหลืออยู่แต่ปลีดอก ซึ่งจะกลายเป็นผล ก่อนออกดอกต้นบุกจะตายเหลือแต่หัว ซึ่งเป็นก้อนกลมสีขาว ขนาด 6 – 10 ซม.เจริญเติบโตอยู่ใต้ดิน
การขยายพันธุ์บุก
โดยปกติบุกขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติด้วยการแตกหน่อหรือเมล็ด เมื่อเมล็ดบุกแก่จัดจะร่วงกระจัดกระจายลงสู่พื้นดิน จากการเฝ้าสังเกตของนักพฤกษศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องการกระจายพันธุ์ของบุกรายงานว่าในประเทศอินเดียและประเทศอื่นบางประเทศพบนกเงือกและนกกาเขนกินผลบุก เนื่องจากผลของบุกส่วนใหญ่มีสีสดใสจึงดึงดูดให้นกมากินซึ่งเป็นการช่วยกระจายพันธุ์บุกตามธรรมชาติอีกวิธีหนึ่ง สำหรับในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานในเรื่องนี้ แต่จากการสังเกตในแปลงรวบรวมตัวอย่างบึกพบว่ามีนกปรอดหัวโขนมากินผลซึ่งกำลังสุกแดง ซึ่งนอกจากนกแล้วมนุษย์ยังเป็นตัวการสำคัญในการกระจายพันธุ์ของบุก โดยการนำส่วนขยายพันธุ์ของบุก คือ เมล็ด หัว และส่วนขยายพันธุ์อื่นไปปลูกตามบ้านเรือนและไร่นา จึงทกให้มีบุกเจริญเติบโตอยู่ทั่วไปบุกสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีดังนี้
โดยวิธีการเพาะเมล็ด บุกสามารถขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ โดยเมล็ดที่ร่วงหล่นลงดินสามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้ จากการทดลองในห้องปฏิบัติการและภาคสนาม พบว่าเมล็ดบุกส่วนใหญ่มีความงอกมากว่า 90% และบุกบางชนิดมีระยะพักตัวเป็นเวลานานถึง 4 เดือน
โดยวิธีการแตกหนอจากหัวเดิม บุกบางชนิดมีหน่อขนาดเล็กเป็นจำนวนมากอยู่บนหัวเดิม ซึ่งหน่อเหล่านี้ สามารถแยกไปปลูกเป็นต้นใหม่ได้หรือใช้วิธีตัดแบ่งหัวเกา แล้วนำไปปลูกขยายพันธุ์แต่มักมีปัญหาเรื่องหัวเน่า
โดยใช้เหง้า (Rhizome) บุกบางชนิดเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีเหง้าแตกออกมาจากหัวเติมโดยรอบมีความยาว 10 – 30 เซนติเมตร นำเหง้ามาตัดแบ่งเป็นท่อนสั้นๆ แล้วนำไปปลูกขยายพันธุ์บุกได้อีกวิธีหนึ่ง
องค์ประกอบทางเคมีของบุก
หัวบุกประกอบด้วยกลูโคแมนแนน (Glucomannan) ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า Konjac เป็นเส้นใยธรรมชาติ ที่มีน้ำหนักมวลโมเลกุลสูงมาก (ultra – high molecular – weight polysaccharide) คือประมาณ 2000000 ดัลตัน สกัดบุกได้จากหัวใต้ดิน โดยผ่านขั้นตอนการล้าง และสกัดสารพิษต่างๆ ออก โดยเฉพาะสารที่ทำให้เกิดอาการคันคอหรือระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร โมเลกุลของกลูโตแมนแนน ประกอบด้วยน้ำตาลสองชนิด คือ กลูโคส และแนมโนส ในสัดส่วน 2:3 แป้งจากหัวบุกประกอบด้วย กลูโคสแมนแนน ประมาณ 90% และสิ่งเจือปนอื่นๆ เช่น starch , alkaloid , สารประกอบไนโตเจนต่างๆ sulfates , chloride , และสารพิษอื่น และตรวจพบผลึกของแคลเซียมออกซาเลทในเนื้อหัวบุกป่าจำนวนมาก กลูโคแมนแนนสามารถดูดน้ำ และพองตัวได้ถึง 200 เท่า สารกลูโคแมนแนน จะมีปริมาณแตกต่างกันออกไปตามชนิดของบุก
องค์ประกอบทางเคมีของกลูโคแมนแนน (Giucomannan) ที่มา:(Tye,1991)
ในปัจจุบันนี้ บุก นิยมใช้เป็นอาหาร อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน มากกว่าการใช้เป็นยารักษาโรค แต่ในตำรายาไทยสมัยก่อนมีระบุสรรพคุณไว้คือ
คุณค่าทางสมุนไพร ตามตำราสมุนไพรของไทยโบราณได้มีผู้รวบรวมสรรพคุณไว้ดังนี้ คือ
หัวบุก ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ขับลม แก้บิด แก้โรคไขข้ออักเสบ บำรุงกำลัง แก้ริดสีดวงทวาร
หัวบุกสด ใช้ขับเสมหะ หุงเป็นน้ำมันใส่แผล กัดฝ้าหนอง และใช้เป็นยาพอกได้ด้วย
นอกจากนี้ยังใช้น้ำจากหัวต้มผสมกับยางน่องไว้ใช้ยิงสัตว์
รากบุก ใช้พอกฝี ขับระดู และใช้แก้ริดสีดวงทวาร
และในการวิจัยบุกในปัจจุบันพบว่า เมื่อเรารับประทานบุกที่มีกลูโคแมนแนน ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง กลูโคแมนแนน จะดูดน้ำที่มีมากในกระเพาะอาหารของเรา แล้วเกิดการพองตัวจนทำให้เรารู้สึกอิ่มอาหารได้เร็วและอิ่มได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เรารับประทานได้น้อยลงกว่าปกติด้วย อีกทางกลูโคแมนแนน จากบุกก็มีพลังงานต่ำมาก กลูโคแมนแนน จึงช่วยในการควบคุมน้ำหนักและเป็นอาหารของผู้ที่ต้องการลดความอ้วนได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ สารกลูโคแมนแนนนี้ สามารถลดปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ ก็เนื่องจากความเหนี่ยว ซึ่งยับยั้งการดูดซึมของกลูโคลสจากทางเดินอาหาร ยิ่งหนืดมาก็ยิ่งมีผลลดการดูดซึมกลูโคลส ดังนั้น กลูโคแมนแนนช่วยลดน้ำตาลได้ดีมาก ปัจจุบันจึงใช้แป้งเป็นวุ้น เป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และสำหรับผู้ป่วยเป็นโรคมีไขมันในเลือดสูง
รูปแบบขนาด/วิธีการใช้บุก
สำหรับการลดน้ำหนัก ใช้ ผงบุก 3 – 5 กรัม ต่อวัน หรือ เฉลี่ยครั้งละ 1 กรัม โดยกินก่อนอาหารครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง แล้วดื่มน้ำตาม 1 – 2 แก้ว แป้งบุกนิยมใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มรูปแบบต่างๆ สำหรับลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ช่วยลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด กลูโคแมนแนน จะชะลอการเคลื่อนของอาหารออกจากกระเพาะอาหาร มีผลทำให้การดูดซึมน้ำตาลจากอาหารช้าลง จึงช่วยลดระดับของน้ำตาลในเลือดหลังการกินอาหาร (post – prandial blood sugar) ปริมาณที่ใช้ได้ผลในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด คือ 500 – 700 มิลลิกรัมของผงวุ้นบุกต่ออาหาร 100 แคลลอรี่
ช่วยลดระดับไขมันในเลือด กลูโคแมนแนน เป็นเส้นใยอาหาร จึงสามารถจับกับกรดน้ำดี (bile acid) เพิ่มการขับถ่ายกรดน้ำดีออกทางอุจจาระและลดการดูดซึมไขมันจากอาหารเข้าสู่ร่างกายได้ เนื่องจากกรดน้ำดีถูกสร้างจากคอเลสเตอรอล ดังนั้นร่างกายจึงชดเชยการสูญเสียกรดน้ำดีด้วยการนำคอเลสเตอรอล มาสร้างกรดน้ำดีเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับคอเลสเตอรอล ลดลง ปริมาณที่ใช้ได้ผลในการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ในเลือด คือ 4 – 13 กรัม
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของบุก
ใช้บุกในการควบคุมน้ำหนักตัว และลด cholesterol กลูดคแมนแนน ที่พองตัวจะห่อหุ้มอาหารที่กินเข้าไป ไม่ให้สัมผัสกับน้ำย่อย จึงใช้บุกในการควบคุมน้ำหนักตัว นอกจากนี้ยังสามารถดูดซับไขมัน และกรดน้ำดี (bile acid) และขับถ่ายออกนอกร่างกาย จึงช่วยลดระดับ cholesterol และ triglyceride ลดระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากลดการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส
ช่วยในการขับถ่าย และระบาย การพองตัวของกลูโคแมนแนน ในทางเดินอาหาร จะกระตุ้นทางเดินอาหารส่วนล่าง โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ให้บีบตัวขับกากอาหารที่คั่งค้างออกมา จึงอาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้
นำสารที่สกัดได้จากบุกที่มีการดำจัดพิษแล้ว ให้หนูใหญ่รับประทานบุกครั้งละ 15 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม ต่อต่อกันเป็นระยะเวลา 2 – 3 สัปดาห์ พบว่าระดับของคอเลสเตอรอล ในเลือดของหนูลดลงคิดเป็น 44% และ Triglyceride ลดลงคิดเป็น 9.5%
เมื่อนำสารที่สกัดได้จากบุกที่มีการกำจัดพิษแล้ว ให้หนูใหญ่ที่มีอาการบวมที่ขารับประทานครั้ง 15 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่า อาการบวมที่ขาของหนูลดลง
การศึกษาทางพิษวิทยาของบุก
ยางที่พบในหัวบุก ลำต้น และใบของบุก ประกอบด้วยสารแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) หากสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคัน หากเข้าตาจะทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการแสบตาอย่างรุนแรง และอาจทำให้ตาบอดได้ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง
เนื่องจากบุกมีสารชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ และคันตามผิวหนัง คือแคลเซียมออกซาเลท มีลักษณะเป็นผลึกรูปเข็ม มีมากในเนื้อของหัวบุก ผลึกแคลเซียมออกซาเลท หากสะสมในร่างกายมากๆ อาจทำให้เกิดนิ่วในไตได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันอาการแพ้คันเหล่านี้ก่อนบริโภคจึงควรทำให้สุกก่อน
ต้นอ่อนของบุก การกินต้นอ่อนของบุกต้องต้มในน้ำเดือนก่อน มิฉะนั้นจะคัน เนื่องจากมีผลึกแคลเซียมออกซาเลท
หัวบุก ควรแช่ล้างเนื้อในหัวบุก ในน้ำนานมาก โดยขยำเนื้อบุกกับน้ำปูนในและแช่น้ำ แล้วถ่ายน้ำหลายๆครั้ง ก่อนกินควรต้ม นึ่ง หรือปิ้งก่อน
ผงบุก
o ควรละลายน้ำหรือดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อให้วุ้นพองตัวเต็มที่ ไม่ไปดูดน้ำในทางเดินอาหารแล้วจับตัวเป็นก้อนอุดตันทางเดินอาหาร
o กินผงวุ้นบุก ในปริมาณสูงอาจทำให้ท้องอืด หรือท้องเดินได้
o กินผงวุ้นบุกในปริมาณสูงต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจมีผลทำให้การดูดซึมวิตามินและเกลือแร่ลดลงได้
เอกสารอ้างอิง
1. บุก.ฐานข้อมูลเครื่องยา.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudearug.com/main.php?action=viewpage&pid=792. วิทยา บุญกรพัฒน์ บุก.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย.จีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.หน้า310
3. สรรพคุณสมุนไพร200ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_27_3.htm
4. เต็ม สมิตินันท์ . 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544) กรมป่าไม้ พหลโยธิน กรุงเทพฯ หน้า 830
5. หรรษา จักรพันธ์ ณ.อยุธยา และอรนุช เกษประเสริญ . 2532.พืชสมุนไพร.เอกสารวิชาการเล่มที่ 1 งานวิจัยพืชสมุนไพรและเครื่องเทศกองพฤษศาสตร์และวัชพืช กรมวิชาการเกษตร หน้า 109
6. ทิพวัลย์ สุกุมลนันท์.พันธุ์บุกในประเทศไทย.ศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จ.เชียงใหม่ หน้า 1 – 46
7. บุกและหัวบุก.รวมสาระด้านพืชเกษตรและเทคนิคต่างๆ(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
8. ดร.นิจศิริ เรืองรังสี.ธวัชชัย มังคละคุปต์.”บุกคางคก(Buk Kang Kok).”หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1 .หน้า 165
9. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.บุก.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย,ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 .หน้า 429-430
10. ภก.หญิง อุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก.บุก.หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.หน้า144
11. Hetterscheid,W.L.A.,1995.Sumatran Amorphophallus adventures:20 August -1 September 1993 Aroidenana 17(1994) : 61-77.
12. Singh, S.N. &M.Gadgil,1996.Ecology of Amorphaphallus species in Uttara kannada District of the karnataka state. India: implication for conservation. Aroideana 18 [1995]:5-20
13. “บุกคางคก” Stanley’s water-tub”.หนังสือสมุนไพรสานสิรีรุกขชาติ.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.หน้า 48
14. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังสี,กัญจนา ดีวิเศษ.บุก.หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง หน้า 106
15. กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ.2546 .งานชุมนุมแพทย์แผนไทยและสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 “สุขภาพดีด้วยแพทย์แผนไทย”กรุงเทพ;โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
16. Tye, R.J.1991. Konjac Flour. Properties and applications. Food Technology. 45:86-92
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น