ว่านชักมดลูก สรรพคุณและงานวิจัย
ชื่อสมุนไพร ว่านชักมดลูก
ชื่อท้องถิ่น / ชื่ออื่นๆ ว่านหมาวัด (อุบลราชธานี) , ว่านทรหด , ว่านหำหด , ว่านพญาหัวศึก , ว่านการบูรเลือด
ชื่อวิทยาศาสตร์ ได้จากพืช 2 ชนิด
• Curcuma xanthorrhiza Roxb
• Curcuma comosa Roxb
ชื่อวงศ์ Zingiberaceae
ถิ่นกำเนิด
ว่านชักมดลูกชนิด xanthorrhiza มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเกาะบาหลี เกาะชวา กระจายพันธุ์มาจนถึงมาเลเซียไทย และอินเดีย ส่วนชนิด comosa นั้น เป็นพืชพื้นถิ่นของไทย และนิยมปลูกกันโดยทั่วไป แหล่งที่ปลูกที่มีชื่อเสียง คือ ในจังหวัดเลยและจังหวัดเพชรบูรณ์ และในธรรมชาติพื้นที่ที่พบมากในป่าเบญจพรรณทั่วไป โดยชนิด comosa ของไทยนั้น สามารถแยกชนิดได้เป็น ว่านชักมดลูกตัวเมีย (Curcuma comosa) และว่านชักมดลูกตัวผู้ (Curcuma latifolia)
ลักษณะทั่วไปว่านชักมดลูก
• หัว/เหง้า ว่านชักมดลูก/ว่านทรหด จัดเป็นพืชล้มลุกปีเดียว อยู่ในกลุ่มของขิง ข่า โดยมีส่วนเหง้าหรือหัวหรือลำต้นแท้อยู่ใต้ดิน เหง้ามีสีส้มอ่อนหรือส้มออกแดง
• ใบ ใบว่านชักมดลูก/ว่านทรหด มีลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว ใบมีลักษณะรียาว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15 – 20 ซม. ยาวประมาณ 40 – 100 ซม. ใบมองเห็นเป็นแถบยาวของเส้นใบอย่างชัดเจน แถบเส้นใบกว้างประมาณ 0.5 – 1 ซม. โดยต้นที่ใบมีเส้นกลางใบเป็นสีม่วงแดง เรียกว่า ว่านชักมดลูกตัวผู้ ส่วนต้นที่ใบมีสีเส้นกลางใบเป็นสีเขียว เรียกว่า ว่านชักมดลูกตัวเมีย
• ดอก ดอกว่านชักมดลูก/ว่านทรหด มีลักษณะเป็นช่อ ไม่รวมกันเป็นกระจุก แยกออกในทิศที่แตกต่างกันบนก้านดอกประกอบด้วยก้านช่อดอกยาวประมาณ 15 – 20 ซม. มีใบประดับสีชมพูอ่อน กลีบรองดอกสีแดงสด และเมื่อเจริญเต็มที่จะมีสีเหลืองคล้ายดอกขมิ้น
• ว่านชักมดลูก/ว่านทรหด จะเริ่มแทงใบในช่วงต้นฝน มีนาคม – เมษายน และจะเจริญเติบโตจนถึงฤดูหนาว เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ต้นจะเริ่มแก่เหลือง และเหี่ยวพับลงจนเหลือแต่ส่วนหัวที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งจะนิยมเก็บหัวมาใช้ประโยชน์ในช่วงนี้จนถึงก่อนช่วงที่แทงใบใหม่
พืชทั้ง 2 ชนิด มีลักษณะคล้ายกันมาก คือ เป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 1 - 2 มีเหง้าใต้ดินขนาดใหญ่ ค่อนข้างกลม เนื้อภายในสีเหลือง ถ้าเป็นชนิด comosa จะเป็นสีเหลืองอ่อน แต่ถ้าเป็นชนิด xanthorrhiza จะเป็นสีเหลืองส้ม มีกลิ่นฉุนร้อน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตัวเป็นกระจุกใกล้ราก ใบรูปขอบขนานแกมรี ถ้าเป็นชนิด xanthorrhiza ด้านล่างใบมีเส้นกลางใบสีม่วง และมีขนที่ท้องใบ ก้านใบสั้น แต่ถ้าเป็นชนิด comosa ด้านล่างใบมีเส้นกลางใบสีเขียวตลอด ไม่มีขน และมีก้านใบยาวกว่า ดอกออกเป็นช่อแทงจากพื้นดินสีชมพู เกสรตัวผู้เป็นหมันสีขาว ใบประดับที่ไม่ได้รองรับดอกย่อยมีสีม่วง ส่วนใบประดับที่รองรับดอกย่อยมีสีเขียวอ่อน
การขยายพันธุ์ว่าชักมดลูก
ว่านชักมดลูก/ว่านทรหด สามารถปลูก และขยายพันธุ์ด้วยส่วนหัวหรือเหง้าแขนง ทั้งชนิดที่เป็นหัวกลม และชนิดที่เป็นเหง้าแขนง
วิธีการปลูกว่านชักมดลูก
จะใช้เหง้าแขนงหรือหัวที่มีตาสำหรับแทงยอด โดยหักแบ่งออกเป็นส่วนๆ พร้อมปลูก ระยะการปลูกประมาณ 15 - 20 ซม. ด้วยการขุดหลุมฝังเป็นช่วงๆ สำหรับแปลงขนาดใหญ่ ควรวางแนวการปลูกเป็นแถวในระยะห่างระหว่างหลุด และแถว 15 – 20 ซม. เช่นเดียวกันว่านชักมดลูก/ว่านทรหด นิยมเก็บในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูแล้ง ในระยะที่ใบเหี่ยว แห้งหมดแล้ว เพราะในช่วงนี้จะเป็นระยะที่ว่านชักมดลูกหยุดเจริญเติบโต และเก็บสะสมสารอาหาร และสารต่างๆได้อย่างเต็มที่แล้ว
องค์ประกอบทางเคมีของว่านชักมดลูก
สารประกอบทางเคมี Curcuma xanthorrhiza พบสารกลุ่มต่างๆ ดังนี้
กลุ่ม curcuminoids เช่น curcumin , desmethoxycurcumin , bisdesmethoxycurcumin , hexahydrocumin , octahydocurcumin เป็นต้น
กลุ่ม diarylheptanoids เช่น trans-1,7-diphenylhepten-5-ol, trans , teans-1,7- diphenylheptadien-5-ol, trans, trans-1.7-diphehenylheptadien-5-one , trans-1,7-diphenyl-1,3-heptadien-u-one , 5-hydroxy-7-(4-hydroxyphenyl)-1-phenyl-(1E)-1-heptene เป็นต้น
กลุ่ม sesquiterpenes เช่น xanthorrhizol, germacrone , curzerenone , alpha-curcumene , ar-turmerone , beta-atlantone เป็นต้น
สารประกอบทางเคมี Curcuma comosa พบสารกลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้
กลุ่ม curcuminoids เช่น curumin , desmethoxycurcumin , bisdesmethoxycurumin ,
กลุ่ม diarylhepttanoids เช่น 5-hydroxy-7-(4-hydroxyphenyl)-1-phenyl-(1E)-1-heptene,trans , trans-1,7-diphenylheptadien-5-ol เป็นต้น
กลุ่มacetophenones เช่น phloracetophenone , 4,6-dihydroxy-2-O-(beta-D- glucopyranosyl) acetophenone เป็นต้น
โครงสร้าง germacrone
ที่มา : en.wikipedia.org/wiki
โครงสร้าง curcumin
ที่มา : en.wikipedia.org/wiki
โครงสร้าง desmethoxycurcumin
ที่มา : en.wikipedia.org/wiki
โครงสร้าง bisdesmethoxycurcumin
ที่มา : en.wikipedia.org/wiki
โครงสร้าง acetophenones
ที่มา : en.wikipedia.org/wiki
สรรพคุณว่านชักมดลูก
ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ เหง้า ฝนทาแผล แก้พิษสุนัขกัด ตำราไทย เหง้า รักษาเลือดออกจากมดลูกหลังคลอด รักษามดลูกอักเสบ แก้ตับอักเสบ แก้ปวดท้อง ขับน้ำดี รักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ , ปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน ตกขาว ขับน้ำคาวปลา แก้ธาตุพิการอาหารไม่ย่อย แก้ริดสีดวงทวาร หัวตำดองดัวยสุรา รับประทานครั้งละไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ สำหรับคนคลอดบุตรใหม่ ๆ แก้เจ็บปวดมดลูก ทำให้มดลูกเข้าอู่หรือเข้าที่ ไม่อักเสบ นิยมนำหัวของว่านชักมดลูกที่เป็นหัวกลมสั้นมาฝานต้มน้ำสำหรับอาบ และดื่ม เพื่อให้สภาพร่างกาย และมดลูกฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ส่วนหญิงบางคนในสมัยใหม่ไม่ค่อยพบการอยู่ไฟแล้ว แต่ก็ยังนิยมใช้ว่านชักมดลูก/ว่านทรหดมาต้มน้ำอาบ และดื่มเป็นประจำตลอดระยะเวลา 3 เดือน หรือมากกว่า ว่านชักมดลูกยังช่วยกระตุ้นการย่อยอาหาร แก้ริดสีดวง แก้ไส้เลื่อน รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันมะเร็งชนิดต่างๆ ลดอาการปวดบวมของแผล และต้านการอักเสบของแผล หากเป็นแผลภายในจะใช้การต้มน้ำดื่ม หากเป็นแผลภายนอกอาจใช้ทั้งการต้มน้ำดื่ม ใช้บดทาแผล หรือน้ำต้มล้างทาแผล ช่วยกระตุ้นกระบวนการสร้างเซลล์ใหม่ และการซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอหรือเซลล์บาดแผล ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวแลดูสดใส ช่วยลดคอเลสเตอรอล ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก กระตุ้นการหลั่งน้ำถุง และช่วยกระตุ้นกระบวนกรย่อยอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
รูปแบบขนาดวิธีการใช้ว่านชักมดลูก
• นำหัวว่านชักมดลูกมาฝนกับเหล้าดื่ม ปรุงเป็นยาต้ม นำหัวว่านชักมดลูกหั่นเป็นชิ้น นำไปปิ้งหรือย่างไฟให้แห้ง ดองเหล้า 2 – 3 วัน ดื่มวันละ 2 เวลา ก่อนอาหาร• ว่านชักมดลูกอบแห้ง 400 MG รับประทานครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า -กลางวัน - เย็น
• ยาทำให้มดลูกเข้าอู่ นำว่านชักมดลูกมาฝาน 3 ฝาน 7 ฝาน แล้วแต่ละหัว น้ำประมาณลิตรครึ่ง ต้ม 3 เอา 1 กิน ครั้งละ ? แก้ว วันละ 3 ครั้ง ดื่มไปจนกว่าไม่เจ็บปวด ท้องแฟบ หลังคลอด ควรกินหลังจากที่มีน้ำนมแล้ว
• ยารักษาอาการตกขาว นำกิ่งและใบของกระบือเจ็ดตัว 1 – 2 กำมือ และว่านชักมดลูก 5 – 7 แว่น ใส่น้ำให้ท่วมยา ต้มเดือดประมาณ 15 นาที ดื่มครั้งละ ? – 1 แก้ว 3 เวลา ก่อนอาหาร
• ยาแก้ปวดประจำเดือน นำโกศหัวบัว ว่านชักมดลูก ใช้ฝนกับน้ำพอกินหมด ฝนนาน 2 นาที จนได้น้ำยาสีขาวขุ่น กลิ่นหอม รสขม รับประทาน 1 – 2 ครั้ง ก็จะหาย
• ยาคลอดลูกง่าย นำว่านชักมดลูกฝานเป็นแว่น ( 4 – 5 แว่น ) แช่น้ำอาบ จะทำให้คลอดลูกง่าย
• ยาแก้มดลูกหย่อน นำข่าหด 2 นิ้วมือ ว่านชักมดลูก 1 ฝาน ต้มดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า – เย็น หรือใช้ข่าหด 1 – 20 กีบ ว่านชักมดลูก 1 ฝาน ตะไคร้ต้น 1 – 2 กีบ ข่าธรรมดา (แก่) 2 – 3 ท่อน ต้มเข้าด้วยกัน ดื่ม เช้า – เย็น
• ยาแก้ปวดมดลูก ปวดท้อง แน่นท้อง ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ทำงานหนักไม่ได้ ว่านชักมดลูก ฝาน 3 ว่าน ต้มดื่มเฉพาะเวลาปวด
• ยาสตรีปวดมดลูก นำพริกไทยล่อน 7 เม็ด ดีปลี 7 เม็ด กระเทียม 7 กลีบ ขิง 7 ชิ้น ไพลสด 7 แว่น ว่านชักมดลูก 7 แว่น เอาตัวยารวมกันตำให้ละเอียด นำไปต้ม ดื่มเช้า – เย็น ประมาณ 3 วันก็จะหาย
• แก้เจ็บขา ปวดขา ฝานว่านชักมดลูก 7 แว่น ย่างไฟจนกรอบ ดองเหล้า 3 คืน กินเช้าก๊ง แลงก๊ง(ค่อยๆ กิน)
• ยาสตรีหลังคลอด (ต้ม) ที่มีส่วนผสมของว่านชักมดลูก นำยาใส่น้ำพอท่วม ต้มด้วยไฟปานกลาง นานครึ่งชั่วโมง นำเฉพาะส่วนน้ำมารับประทานครั้งละ 250 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร หรือดื่มแทนน้ำ รับประทานติดต่อกัน 1 สัปดาห์หรือจนกว่าน้ำคาวปลาจะหมด แต่ไม่เกิน 15 วัน
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของว่านชักมดลูก
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สาร xanthorrhizoi ที่แยกได้จากว่านชักมดลูกชนิด xanthorrhiza มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราก่อโรคในช่องปาก โดยเฉพาะต่อเชื้อชนิด Streptococcus species ต่าง ๆ เทียบเท่ายามาตรฐาน chlorhexidine นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต่อ Actinomyces viscosus (KCTC 9146) และ Porphyromonas gingivalis (W50) และ Candida albicans (ATCC10231) ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สาร curcumin, desmethoxycurcumin, bisdesmethoxycurcumin, 1-(4-hydroxy-3,5-dimethoxyphenyl)-7-(4- hydroxy-3-methoxyphenyl)-(1E-,6E)-1,6-heptadiene-3,4-dione มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยการยับยั้งการเกด ออโตออกซิเดชัน ของ linoleic acid
ฤทธิ์ต้านเนื้องอก สาร alpha – curcumene, ar-turmerone, beta-atlantone และ xanthorrhizol มีฤทธิ์ต้านเนื้องอกชนิด Sarcoma 180 ascites ในหนูถีบจักร
ฤทธิ์ต้านความเป็นพิษต่อตับ สารสกัดจากว่านชักมดลูกชนิด xanthorrhiza มีฤทธิ์ต้านความเป็นพิษต่อตับที่ถูกกระตุ้นด้วนสารพิษ
ฤทธิ์ต่อภูมิต้านทาน ว่านชักมดลูกชนิด xanthorrhiza มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิต้านทานโดยเพิ่มปริมาณปริมาณของ T และ B cells
ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด เมื่อให้หนูตะเภาที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ hypercholesterolaemia ด้วยสารสกัดจากว่านชักมดลูก ( C.comosa ) ด้วย ethyl acetate ขนาด 250 – 500 มก/กก พบว่ามีผลในการลดระดับ cholesterol และ triglyceride ในกระแสเลือดตามขนาดของสารสกัดที่ได้รับ ซึ่งผลดังกล่าวเกิดจากสารสกัดไปเพิ่มการกำจัด cholesterol ผ่านทางน้ำดี สารสกัดขนาด 500 มก/กก มีผลเพิ่มระดับ HDL และลดระดับ LDL ในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อให้สาร 2,4,6,-trihydroxyacetophenone (THA) ขนาด 300 – 600 ไมโครโมล/กก ทางกระเพาะอาหาร วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ แก่หนูตะเภาเพศผู้ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ hypercholesterolaemia ที่มีระดับ cholesterol ในพลาสมามากกว่า 300 mg% ตรวจวัดระดับ cholesterol และ triglyceride ได้อย่างมีนัยสำคัญ
การศึกษาทางพิษวิทยาขอว่านชักมดลูก
พบรายงานเพียงชิ้นเดียวในด้านพิษวิทยา คือ garmacrone ขนาด 750 มก/กก ไม่ทำให้เกิดการตายในหนูถีบจักรข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง
• การใช้ต่อต่อกันในระยะเวลายาว หรือรับประทานว่านชักมดลูกเกินขนาด อาจทำให้มีอาการปวดท้องได้• ไม่ควรใช้สมุนไพรในผู้ป่วยที่มีปัญหาท่อน้ำดีอุดตัน เพราะเหง้าว่านหมาว้อมีฤทธิ์กระตุ้นทางเดินน้ำดี และอาจทำให้เกิดอาการเสียดท้องได้ในผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี
• การเก็บว่านชักมดลูก ต้องเก็บในฤดูแล้ง ประมาณเดือน 11 แรม 1 ค่ำ ไปถึงกลางเดือน 3 (เดือนไทย) ถ้าฝนตกแล้ว สรรพคุณจะน้อย ใช้
รักษาไม่ค่อยได้ผล
• การต้มว่านชักมดลูกต้องต้มจนฟองยุบลง จึงจะใช้ได้ถ้ายังไม่ยุบ แสดงว่าใช้ไม่ได้ทำให้เกิดอาการเมาเบื่อ• การใช้ว่านชักมดลูกเพื่อให้มดลูกเข้าอู่ แม่หลังคลอดต้องรอให้มีน้ำนมก่อนจึงจะใช้ได้
เอกสารอ้างอิง
1. ว่านหมาว้อ.ฐานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.ออนไลน์.เข้าถึงได้จากhttp://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=145
2. Ridley, H.N.1967. The Flora of Malay Peninsula, vol. IV, L. Reeve &Co., London, 383pp.
3. Hooker, S.J.D.1854.Flora of British India, vol., L. Reeve &Co., London, 792PP.
4. Schumann, K. 1904. Zingiberaceae. Das Pflanzenreiclu IV. Leipzig.
5. เต็ม สมิตตินันท์ .2544.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2 บริษัทประชาชนจำกัด กรุงเทพมหานคร หน้า 810
6. พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ.ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9:พืชให้คาร์โบไฮเดรที่ไม่ใช่เมล็ด.กทม.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย.2544.หน้า97-98
7. รศ.พร้อมจิต ศรสัมพ์ .ว่านชักมดลูก.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
8. รังว่าน ปากช่อง , 2524.ชุมนุมว่านยาและไม้มงคล.สำนักพิมพ์หอสมุดกลาง.กรุงเทพฯ
9. Claeson,P.,Pongprayoon,U.,Sematong,T.,Tuchinada,P.,Reutrakul,V.,Soontornsaratune,P.,Taylor,w.C.1996.Non-Phenolic linear diarylheptanoids from Curcuma xanthorrhiza :a norvel type of topical anti-inflam matary agents :structure-actirity relationship , Planta Med.62(3):236-240
10. Suksam rarn. A., Eiamong , S ., Piyachaturawat,P.and Byrne,L.T.1997.A phloracctophene glucoside wlth choleretic activity from Curcuma comosa Phytochemistry 45(1):103-105
11. วุฒิ วุฒิธรรมเวช .2540.เภสัชกรรมไทย: รวมสมุนไพร พิมพ์ครั้งที่ 2 โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์ กรุงเทพมหานคร หน้า 480
12. พันชิตร์ มะลิสุวรรณ.2545.สมุนไพรเพื่อสุขภาพ 18 : หน้า 58-67
13. ใช้ว่านชักมดลูกผิดชนิด เป็นพิษต่อตับและไต.บทความดูแลสุขภาพ.คมชัดลึก.ออนไลน์ เข้าถึงได้จาก.
http://www.komchadluek.net/news/deta:l/195439
14. ว่านชักมดลูกอบแห้ง 400 MG. รายการยานอกบัญชีหลักแห่งชาติ.บัญชีรายการยาสมุนไพรของโรงพยาบาลชลบุรี
15. ยาสตรีหลังคลอด.ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติ(ฉบับที่ 2)พ.ศ.2555.บัญชียาหลักแห่งชาติ
16. Hwang, J.K., Shim, J.S. and Pyun ,Y.R.2000.,Antibacterial activity of xanthorrhizol from Curcuma zanthorrhiza againt oral pathogens , Fitoterapia 71 : 321-323
17. Piyachaturawat , P.,CHaroenpiboonsin , J., Toskulkao ,C.and Suksamrarn, A.1999.Reduction of plasma Cholerol by Curcuma comosa extract in hypercholesterolaemic hansters, J. Ethophamacology 66:199-204
18. Itokawa , H., Hirayama, F., Funakoshi, K. and Takeya , K.1985.Studies on the antitumor bisabolane sesquiterpenenoids isolated from Curcuma xanthorrhiza, Chem. Pharm. Bull.33(8):3488-3492
19. Yamasaki, M, Maebayashi, Y., I wase, N. and Kaneko, T.1998.Studiea on phamacologically active principles from Indonesian erude drugs. II.Hypothermic principle from Curcuma xanthorrhiza Roxb., Chem. Pharm.Bull.36(6):2075-2078
20. สาร germacrone , curcumin , desmethoxycurcumin , bisdesmethoxycurmin , acetophenones ค้าหาภาพโดย http://en.wikipedia.org/wiki/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น