เจตมูลเพลิงแดง สรรพคุณและงานวิจัย
ชื่อสมุนไพร เจตมูลเพลิงแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ปิดปิวแดง(ภาคเหนือ) , ไฟใต้ดิน (ภาคใต้), ตั้งชูโว้ , ตอชูกวอ , (คุ้ยกู่) (กระเหรี่ยง) , จื่อเสี่ยฮวา , หงฮวาตัน (จีน) , อุบ๊ะกูจ๊ะ (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago indica Linn.
ชื่อสามัญ Rose-colored Leadwort, Rosy Leadwort, Fire Plant, Official Leadwort และ Indian Leadwort
วงศ์ PLUMBAGINACEAE
ถิ่นกำเนิด
เจตมูลเพลิงแดงเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี และถือเป็นสมุนไพรเก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทยและอินเดีย เจตมูลเพลิงแดงเป็นพืชสมุนไพร ทีมีการนำมาใช้ทางด้านเภสัชกรรมอย่างกว้างขว้างเป็นพืชสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย และมีการกระจายพันธุ์ในประเทศแถบเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จีน ไทย อินโดเนียเซียลักษณะทั่วไปเจตมูลเพลิงแดง
ไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็ก สูงราว 1-1.5 เมตร มีอายุหลายปี กิ่งก้านมักทอดยาว ยอดอ่อนสีแดง ลำต้นกลมเรียบ กิ่งอ่อนสีเขียวปนแดง มีสีแดงบริเวณข้อ ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน รูปไข่ กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 8-13 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน มีสีเขียว ใบบาง แผ่นใบมักบิด ก้านใบและแกนกลางใบอ่อนมีสีแดง ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะเชิงลด ยาว 20-90 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1-3 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ประมาณ 10-15 ดอก ดอกออกเป็นช่อตั้งขึ้นที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด กลีบดอกสีแดงสด กลีบบางมี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็กๆ ยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 2 ซม. ปลายกลีบกลม เป็นติ่งหนามตอนปลาย ใบประดับและใบประดับย่อยรูปไข่ขนาดเล็ก ยาว 0.2-0.3 ซม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดตรงข้ามกลีบดอก อับเรณูยาวประมาณ 2 มม. รังไข่รูปรี ก้านเกสรเพศเมียมีหลายขนาดมีขนยาวที่โคน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอก เป็นหลอดเล็ก ยาว 0.5-1 เซนติเมตร สีเขียว และมีขนเหนียวๆปกคลุม เมื่อจับรู้สึกเหนียวมือ ดอกออกระหว่างเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ ผลลักษณะเป็นฝักกลม ทรงรียาว จะแตกออกเมื่อแก่ รากสีน้ำตาลดำเป็นเส้นๆการขยายพันธุ์เจตมูลเพลิงแดง
การขยายพันธุ์สามารถทำได้โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง การขยายพันธุ์เจตมูลเพลิง (ทั้งแดงและขาว) นั้น ปกติก็ใช้วิธีเพาะเมล็ด แต่ในกรณีที่ต้องการปลูกเป็นจำนวนมาก เราสามารถใช้วิธีปักชำกิ่งก่อนนำไปปลูกขยายลงแปลงหรือลงในรองซีเมนต์ (หากปลูกลงแปลงรากของเจตมูลเพลิงจะไชลงในดินลึกและยากแก่การเก็บเกี่ยวผลผลิต จึงใช้วิธีปลูกลงในรองซีเมนต์ชนิดที่ไม่มีก้น แต่ใช้วัสดุแผ่นเรียบวางรองพื้นแทน เพื่อป้องกันไม่ให้รากชอนไชลงพื้น) ชนิดที่ต้องให้ระบายน้ำได้สะดวก โดยปลูกในช่วงต้นฝนแล้วรดน้ำให้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ปล่อยจนมีอายุครบ 1 ปี (เป็นอย่างน้อย) แล้วจึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิตการชำส่วนของลำต้น คือการตัดส่วนของยอดและส่วนของลำต้น ประมาณ 2 นิ้ว หรือ 2 ข้อของลำต้น นำมาชำด้วยวัสดุปักชำขี้เถ้าแกลบใช้เวลาประมาณ 45-50 วัน จะสามารถนำไปปลูกลงถุงเพื่อเลี้ยงให้ต้นแข็งแรงก่อนนำไปปลูกในแปลง วิธีนี้จะได้ผล 40-50%
การชำราก คือการตัดส่วนของรากที่อยู่ใต้ดินนำมาชำกับวัสดุปักชำตัดรากยาวประมาณ 2 นิ้ว ใช้เวลา 60-90 วันจะเริ่มแตกยอดและรากใหม่ 6 เดือนพร้อมปลูกได้ วิธีนี้จะได้ผล 80-90%
เจตมูลเพลิง 1 ต้น จะมีกิ่งสาขาเป็นจำนวนมากและออกดอกปีละ 1 ครั้ง หากถึงฤดูแล้งใบของเจตมูลเพลิงก็จะเฉาลงบ้าง หากปล่อยไว้จนถึงฤดูฝนใหม่ก็จะเจริญงอกงามขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งมีอายุมาก รากของมันจะยิ่งมีสรรพคุณทางยาสูงขึ้น แต่วิธีกาขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและปักชำกิ่งไม่สามารเพิ่มจำนวนต้นให้ได้ในปริมาณที่มากลยังใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานจึงจะสามารถผลิตต้นเจตมูลเพลิงแดงให้มากเพียงพอกับความต้องการ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช จึงเป็นเทคนิคการขยายพันธุ์พืชวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ได้ เนื่องจากเทคนิคนี้สามารถผลิตต้นพืชได้เป็นจำนวนมากในเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตามในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยือพืชบนอาหารวิทยาศาสตร์สูตรที่เหมาะสม จึงจะทำให้สามารถขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนต้นได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม่ว่าได้มีการศึกษาหาสูตรอาหารที่เหมาะสมต่อการเพิ่มจำนวนต้นของเจตมูลเพลิงแดงบ้างแล้วก็ตาม แต่สูตรอาหารที่เหมาะสมผันแปรได้เนื่องจากระยะการเจริญเติบโตของพืช วัตถุประสงค์ในการเพาะเลี้ยง สภาพแวดล้อมที่ปลูกพืช และความสมบูรณ์ของต้นพืช ฉะนั้นวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนี้จึงต้องมีการทดลองให้ได้ผลอย่างแน่นอนต่อไป
การเก็บเกี่ยวเพื่อเอารากเจตมูลเพลิงนั้น จะมีการเก็บเกี่ยวช่วงปลายฤดูแล้งราวกลางเดือนถึงปลายเดือนเมษายน โดยใช้วิธียกรองซีเมนต์ขึ้นจากกอของเจตมูลเพลิง แล้วใช้เสียมค่อยๆ คุ้ยเอาเฉพาะรากของเจตมูลเพลิง นำไปล้างในน้ำสะอาด (หรือใช้น้ำฉีด) จนเหลือแต่รากล้วนๆ นำไปตากแห้งหรืออบแห้ง ซึ่งรากของเจตมูลเพลิงแห้งจะเสียน้ำหนักไม่มาก รากแห้ง/รากสด น่าจะมีอัตราส่วนราว 1 ต่อ 2 หรือ 1 ต่อ 1.5 โดยประมาณ
องค์ประกอบทางเคมีของเจตมูลเพลิงแดง
รากมีสารพวก แนฟธาควิโนน (naphthaquinone) ชื่อ plumbagin, 3-chloroplumbagin, 6-hydroxyplumbagin, plumbaginolนอกจากนี้ยังมีสาระสำคัญอื่นๆ ในเจตมูลเพลิงแดง ได้แก่ isozelinone; zelinone; glucose; 5,6-dihydroxy-2-methyl-1 1,4 napthoquinone sitosterol; 6-hydroxyplumbago; และ stigmasterol
Plumbagin
triterpines
tannin
สรรพคุณเจตมูลเพลิงแดง
เจตมูลเพลิงแดงเป็นพืชสมุนไพรจำพวกต้น ส่วนที่นำมาใช้ในการรักษาโรค เช่น ใบ ดอก ต้น และราก แต่ละส่งมีสรรพคุณในการรักษาอาการของโรคต่างกัน ที่นิยมคือ ส่วนของราก เพราะรากเป็นยาบำรุงธาตุและบำรุงโลหิต ขับลมในกระเพาะอาหารและสำไส้ ทำให้ผายลมและเรอ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดเสียดแน่นหน้าอก และทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น แก้ริดสีดวงทวารแก้ท้องเสีย แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ฆ่าพยาธิเนื่องจากรากมีรสร้อนกระจายลมทำให้พยาธิตาย และมีฤทธิ์บีบมดลูกทำให้แห้งได้ ทางการแพทย์แผนไทยระบุว่า เจตมูลเพลิงแดงเป็นสมุนไพรที่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีฤทธิ์ร้อน ห้ามใข้ในหญิงท้องเนื่องจากมีฤทธิ์ร้อนและบีบมดลูกยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ราก เข้ายากับพริกไทย ดองเหล้าดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ ราก ช่วยย่อยอาหาร ขับลม แก้ตกขาว
ตำรายาไทย ใช้ ราก แก้ปวดข้อ ขับประจำเดือนสตรี ใช้ผสมในยาบำรุงสำหรับสตรีหลังคลอด เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดเสียด แน่นหน้าอก ทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น แต่กินมากอาจทำให้แท้งลูกได้ (ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์) แพทย์โบราณนิยมใช้รากเจตมูลเพลิงแดงมากกว่าเจตมูลขาวเพราะมีฤทธิ์แรงกว่า โดยใช้รากเจตมูลเพลิงผสมในยาธาตุ เป็นยาช่วยย่อยและยาเจริญอาหารโดยนำผงของรากมาผสมกับลูกสมอพิเภก ผลดีปลี และเกลือ อย่างละเท่ากันรับประทานครั้งละ 2.5 กรัม ขับโลหิตระดู นำรากบดเป็นผงปิดพอกฝี ทำให้เกิดความร้อน เกลื่อนฝีได้ แก้ริดสีดวงทวาร ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย กระจายเลือดลม แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย มีฤทธิ์บีบมดลูกทำให้แท้งได้ ใช้เป็นยาทาภายนอกแก้โรคผิวหนังบางชนิด ทาแก้กลากเกลื้อน หรือใช้ผงรากปิดพอกฝี ระงับอาการปวดฟัน และแก้ท้องร่วง รากมีสาร plumbagin มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกและลำไส้ช่วยให้มีการหลั่งน้ำย่อยเพิ่มขึ้น เพิ่มความอยากอาหาร แต่อาจทำให้ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร และอาจเป็นพิษได้ ใบ รสร้อน แก้ลมในกองเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร ขับผายลม แก้น้ำดีในฝัก ต้น รสร้อน แก้โลหิตอันเกิดแต่กองกำเดา ดอก มีรสร้อน แก้น้ำดีในฝัก ต้นแก้กำเดา ยาขับประจำเดือนของสตรี แก้ฝีบวม ฝีบวมอักเสบ แก้อาการฟกช้ำ แก้เคล็ดขัดยอก ผล แก้พยาธิผิวหนัง แก้ฝี
ตำรายาล้านนา ใช้ ราก รักษากามโรค โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ อัมพาต อาการไอ และขับเสมหะยาในชุดที่ชื่อว่า "เบญจกูล" อันได้แก่ 1. ดอกดีปลี 2. รากชะพลู 3. รากเจตมูลเพลิง 4. เถาสะค้าน และ 5. เหง้าขิงแห้ง ที่ใช้เป็นยาแก้โรคในกองเตโชธาตุ กองวาโยธาตุ และกองอากาศธาตุ ทั้งนี้ จะมีอัตราส่วนของสมุนไพรแต่ละชนิดแตกต่างกันไป เช่น กองเตโชธาตุ ให้ใช้รากเจตมูลเพลิง 16 ส่วน กองวาโยธาตุ ใช้ 8 ส่วน และกองอากาศธาตุ ใช้ 2 ส่วน เป็นต้น
• ประเทศฝรั่งเศส ใช้ ราก เคี้ยวระงับอาการปวดฟัน
• ประเทศไทยและมาเลเซีย ถือเป็นยาทำให้แท้ง
• ประเทศไทยและอินเดีย ใช้เป็นยาช่วยย่อยเจริญอาหารผสมในยาธาตุ และรักษาโรคผิวหนังกลาก เกลื้อน
รูปแบบ / ขนาดวิธีใช้เจตมูลเพลิงแดง
1. ต้านโรคมะเร็ง ช่วยเจริญอาหาร แก้ธาตุพิการ เป็นยาบำรุง เป็นยาขับประจำเดือน เป็นยาฆ่าเชื้อโรค รักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน รักษากามโรค โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ อัมพาต อาการไอ และขับเสมหะ นำรากมาอบแห้งต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน2. แก้ฝีบวม ฝีบวมอักเสบ แก้อาการฟกช้ำ แก้เคล็ดขัดยอก นำต้นสดมา 20 กรัม ตำให้แหลกผสมกับเกลือเล็กน้อย ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นฝีจนเริ่มรู้สึกว่าร้อนแล้วให้เอาออก
3. ยาบำรุงกำลัง ช่วยขับลม ช่วยขับเสมหะช่วยในการย่อยอาหาร นำใบนำมาป่นผสมกับพริกไทย ขมิ้นดำ ดีปลี และไพล แล้วปั้นเป็นลูกกลอน
4. แก้โรคหนาวเย็น รักษาโรคตา นำดอกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
5. แก้พยาธิผิวหนัง แก้ฝี นำผลมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น เป็นยาขมเจริญอาหาร
6. ใช้รากเจตมูลเพลิงเเดงแห้งผสมกับ ผลสมอพิเภก ดีปลี ขิง อย่างละเท่าๆ กัน บดเป็นผงรวมกัน รับประทานกับน้ำร้อน ครั้งละ 2.5 กรัม ประมาณ 1 ช้อนแกง
7. เป็นยาขับประจำเดือน ใช้รากแห้ง 1-2 กรัม ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 1/4 ถ้วยแก้ว
8. ใบ ตำแล้วนำไปพอกบริเวณที่โดนตัวบุ้งทำให้คัน
9. รากเจตมูลเพลิงแดงจัดอยู่มีตำรับยาขนานสุดท้ายที่ใช้แก้โรคหัวใจและอาการใจสั่น โดยมีส่วนผสมของสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ รากเจตมูลเพลิงแดง การบูร ชะมดเชียง เทียนดำ พิมเสน หัวดองดึง อย่างละ 2 บาท กฤษณา กะลำภัก จันทน์เทศ อย่างละ 3 บาท กำยาน ขิง ดอกดีปลี อย่างละ 8 บาท และสนเทศอีก 40 บาท นำทั้งหมดมาบดเป็นผง เติมน้ำมะนาวแล้วปั้นเป็นแท่ง นำไปผึ่งในที่ร่มให้แห้ง แล้วเก็บไว้ในขวดโหล ใช้รับประทานกับกระสายน้ำมะนาวเมื่อเกิดอาการใจสั่นได้ผลดีนัก
10. รากเจตมูลเพลิงเเดงใช้เป็นยาทาแก้โรคผิวหนัง ผงรากใช้เป็นยาทาภายนอกช่วยแก้โรคผิวหนังบางชนิด ทาแก้กลากเกลื้อน (ราก) ส่วนอีกตำรับยาแก้กลากเกลื้อน ระบุให้ใช้ต้นสด 20 กรัม นำมาตำให้แหลกใช้พอกบริเวณที่เป็นจนเริ่มรู้สึกแสบร้อนแล้วจึงเอาออก หรือจะใช้ต้นสดนำมาต้มกับน้ำ แล้วใช้น้ำที่ได้จากการต้มนำมาล้างผิวหนังบริเวณที่เป็นกลากเกลื้อน (ต้น)
การศึกษาทางเภสัชวิทยาเจตมูลเพลิงแดง
สารสกัดรากเจตมูลเพลิงเเดงยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราที่ก่อโรคกลากเกลื้อน และยีสต์ได้หลายชนิด ต้านการก่อกลายพันธุ์ของสารแอฟลาทอกซินบี 1, สารสกัดในขนาดต่ำ ช่วยลดการเจริญของเซลล์มะเร็งบางชนิด ที่ปลูกถ่ายในสัตว์ทดลองสารพลัมเบจินมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ต้านการก่อกลายพันธุ์ ป้องกันการเกิดมะเร็งจากสารก่อมะเร็ง ยับยั้งการจับเป็นลิ่มของเกล็ดเลือด ลดไขมันในเลือด
ซึ่งสารนี้เป็นสารพวก naphthaquinone 1,4-naphthoquinone triterpines tannin โดยสาร 1,4- naphthaquinone มีผลทำให้กล้ามเนื้อเรียบที่มดลูก ลำไส้เล็กและหัวใจเพิ่มการบีบตัว จำทำให้เพิ่มการหลั่งน้ำย่อย กระตุ้นให้เจริญอาหารแต่สารนี้ทำให้ระคายเคืองต่อเยื่อเมือกและผิวหนัง
ฤทธิ์ทางเภสัชเจตมูลเพลิงแดง
สาร plumbagin ที่พบในเจตมูลเพลิงแดงมีประโยชน์ต่างๆ มากมาย และมีรายงานการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่ามีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อรา เช่น Candida albicans และเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคพืช เช่น Colletrihum cansici และสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและยีสต์ เช่น Staphyiococcus aureusมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย มีรายงานว่าสารสกัดจากเจตมูลเพลิงแดง สามารถฆ่าเชื้อราได้เกือบ 20 ชนิด เช่น Aspergillus fumigatus, Microsporum , Trichophyton rubrum , Cryptococus neoformans ยังยั้งการเจริญเติบโตของ Staphylococcus aureus และ Candida albicans ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง สายพันธุ์ Raji Calu-1 Hela และ Wish tumor อีกทั้งยังเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งมนุษย์ 2 ชนิด ได้แก่ Bower (melanoma cells) และ MCF7 (breast cancer cells) ทำลายเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากของคน สายพันธุ์ PC-3 LNCaP และ C4-2
มีฤทธิ์ในการกระตุ้นและบีบมดลูก รายงานว่า สารสกัดที่ได้จากเจตมูลเพลิงแดงที่สกัดด้วยแอลกฮอล์ปิโตรเลียมอีเธอร์ และ น้ำ มีผลทำให้หนูแท้ง ช่วยขับฤดู และเร่งการคลอดได้
มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของศัตรูพืช มีรายงานว่าสารสกัดจากเจตมูลเพลิงแดงสามารถยับยั้งการเคลื่อนที่ และลดอัตราการมีชีวิตของไส้เดือนฝอย Haemonchus contonus ในตัวอ่อนระยะที่ 1 และ Ascaris suun ในตัวอ่อนระยะที่ 4 นอกจากนี้ยังยั้งการฟักจากไข่ของตัวอ่อนไส้เดือนฝอย A. suum รวบทั้งยับยั้งการพัฒนาของท่อรังไข่ และการลอกคราบของมวนฝ้ายแดง (Dysdercus cingulatus) และมีรายงานเพิ่มเติมถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิยาของเจตมูลเพลิงแดงว่ามีฤทธิ์ ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ต้านมาลาเรีย และการคุมกำเนิด เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของเจตมูลเพลิงแดง
สาร Plumbagin เมื่อนำมาฉีดเข้าในกระต่ายทดลองในอัตราส่วน 0.01 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าจะทำให้กระต่ายเสียชีวิต มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ มีพิษต่อยีน ต้านการเจริญพันธุ์ของสัตว์ทดลองทั้งเพศผู้และเพศเมีย ทำให้แท้งลูก การใช้ในขนาดสูง หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเป็นพิษต่อไตข้อแนะนำ / ข้อควรระวัง
• แพทย์แผนโบราณจะนิยมใช้รากของเจตมูลเพลิงแดงมากกว่าเจตมูลเพลิงขาวเพราะมีฤทธิ์ที่แรงกว่า โดยรากที่นำมาใช้เป็นยาถ้าจะให้ได้ผลดีต้องมีอายุ 3 ปีขึ้นไป• สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ เพราะมีสารที่ทำให้แท้งบุตรได้ ซึ่งในประเทศไทยและมาเลเซียถือว่าสมุนไพรชนิดนี้เป็นยาทำแท้ง
• ยางจากรากเมื่อถูกผิวหนังจะทำให้ผิวหนังไหม้และพองได้เหมือนโดนเพลิงไฟ จึงได้ชื่อว่า “เจตมูลเพลิง” ส่วนคนใต้จะเรียกว่า “ไฟใต้ดิน” ดังนั้นในการจะจับต้องรากในขณะเก็บมาใช้ ก็ต้องสวมถึงมือเสียก่อน เพื่อป้องกันอาการปวดแสบปวดร้อน
• เจตมูลเพลิงมีสาร Plumbagin ที่มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารและอาจเป็นพิษได้ จึงควรระมัดระวังในการใช้
• สาร Plumbagin ในเจตมูลเพลิงแดงหากใช้ในขนาดสูง จะกดการหายใจ ทำให้เป็นอัมพาต และตายได้ เนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว การใช้สมุนไพรนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนไทย
เอกสารอ้างอิง
1. Springob, K., S. Samappito, A. Jindaprasert, J. Schmidt, J.E. Page, W. De-Eknamkul and T.M.Kutchan. 2007. A polyketide of Plumbago indica that catalyes the formation of hexaketide pyrones. Febs J.274:406-4172. พเยาว์ เหมือนวงศ์ญาติ. 2539. สมุนไพร:แก้ไขปรับปรุงใหม่จากตำราวิทยาศาสตร์สมุนไพร. บริษัท ที.พี.พริ้น, กรุงเทพฯ 247 น.
3. Kurian, A. and A. Sankar. 2007, Medicinal Plants. New lndia Publishing, lndia.
4. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. 2542. พจนานุกรมสมุนไพรไทย. พิมพ์ครั้งที่ 5. บริษัทรวมสาส์น (1977) จำกัด,กรุงเทพฯ.
5. นิจศิริ เรืองรังสี. 2547. สมุนไพรไทย เล่ม 1. สำนักพิมพ์ บี เฮลท์ตี้, กรุงเทพ
6. พิบูลย์ เลาหทัย และชัยสิทธิ์ รัตนสังวาล, 2518, การศึกษาค้นคว้าสมุนไพรต้านเชื้อราที่พบในประเทศไทย, น. 24, ใน รศนา ชุมแสง และ สุภวรรณ สุขสว่าง (ผู้รวบรวม). 2543. การคัดเลือกต้นเจตมูลเพลิงแดงที่มีการสร้างสารในปริมาณสูงและการขยายพันธุ์. รายงานการวิจัยภาควิชาเวทและเภสัชพฤษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
7. Wang, Y.C and T.L. Hung. 2005. High-performance liquid chromatography for quantification of plumbagin, an anti-Helicobacter pylori compound of Plumbago zeylanica L. J, Chromatogr. A. 1094: 99-104
8. Lin, L.C.,L.L.Yang and C.J. Chou. 2003 Cytotoxic naphthoquinones and plumbagic acid glycosides from Plumbago zeylanica. Phytochemistry 62: 619-622
9. Nguyen, A.T., H. Malonne,P. Duez, R Vanhaelen-Fastre, M. Vanhaelen and J. Fontaine. 2004. Cytotoxic constituents from Plumbago zeylanica. Fiotoerpia 75: 500-504.
10. Vohora, S.B., S.K. Gargand and R.R. Chaudhury. 1969. Antifertility screening of plant. Part 3: Effect of six indigenous plant on early pregnancy in albino rats. lndian. J. Med. Res. 57: 893-899.
11. Fetterer, R.H. and M.W. Fleming. 1991. Effects of plumbagin on development of the parasitic nematodes Haemonchus contorus and Ascaris suum. Comp. Biochem. Phys. C. 100: 539-542
12. Joshi, N.K. and F.Sehnal. 1989. Lnhibittion of ecdysteroid production by plumbagin in Dysdercus cingulatus. J. Insect Physiol. 35: 737-741.
13. เจตมูลเพลิงแดง.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้ปจาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=38
14. สายใจ ชูรัตนา.2551. การชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในเจตมูลเพลิงและเจตมูลเพลิงขาวโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและการใช้สิ่งก่อกลายพันธุ์.วิทยานิพนธ์ปริญญาโทมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,กรุงเทพฯ.
15. พเยาว์ เหมือนวงศ์ญาติ.2529. สมุนไพรก้าวใหม่: แก้ไขปรับปรุงใหม่จากตำราวิทยาศาสตร์สมุนไพร,โรงพิมพ์ ที.พี.พริ้นท์ จำกัด.กรุงเทพฯ 202 น.
16. สุปราณี บิลยะหิม และ สุพัตรา แสงทอง, 2542, การศึกษาการสร้างสาร plumbagin โดยรากเพาะเลี้ยงของต้นเจตมูลเพลิงแดง.โครงงานนักศึกษา,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
17. ไพบูลย์ แพงเงิน.มารู้จักเจตมูลเพลิงกันดีกว่า.คอลัมน์สมุนไพรใกล้บ้าน.นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 21 ฉบับที่ 455
18. สุปรีชา จันทะเหลา, คู่มือคนรักต้นไม้: ดอกไม้สีแดง, บ้านและสวน, กรุงเทพฯ , 95 หน้า , 2544.
19. สุทธิชัย ปทุมล่องทอง, เคล็ดลับสมุนไพร , สำนักพิมพ์ธารบัวแก้ว , กรุงเทพฯ, 304 หน้า, 2543
20. ภูมิพิชญ์ สุชาวรรณ, พืชสมุนไพรใช้เป็นยา , บริษัท อักษรา พิพัฒน์, 64 หน้า,2539.
21. นันทวัน บุญยะประภิศร. สมุนไพรพื้นบ้าน เล่ม 1,สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล,กรุงเทพฯ,895 หน้า,2539.
22. บุษบา จินดาวิจักษณ์ นิวัติ ชื่นคุณากร และพรรนิภา ชุมศรี , การศึกษาวิธีการแยก ทดสอบหาประเภทสารและการออกฤทธิ์ต่อสัตว์ทดลองของรากเจตมูลเพลิงแดง, โครงการพิเศษเภสัชศาสตร์บัณฑิต, คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล,กรุงเทพฯ,38 หน้า,2519.
23. จินดาพร ภูริพัฒนาวงษ์,เภสัชเวทกับตำรายาแผนโบราณสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข,ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์,คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 456 หน้า,2539.
24. Dinda B. and Chel G., 6-Hydroxyplumbagin, a Naphthoquinone from Plumbago indica, Phytochemistry Vol. 31; pp. 3652-3653, 1992.
25. พิบูลย์ เลาหทัย และชัยสิทธิ์ รัตนสังวาลย์ , ค้นคว้าหาสมุนไพรต้านเชื้อราที่พบได้ในประเทศไทย, สารศิริราช 28(9); น., 1607-1614, 2519.
26. พรทิพา พิชา กัลยา ปรีชานุกูล และผ่องพรรณ ศิริพงษ์,การทดสอบสมุนไพรเพื่อหาสารต้านมะเร็ง, รายงานการประชุมวิชาการเรื่องการพัฒนายาจากสมุนไพร, กรุงเทพฯ 2528.
27. ทวีผล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา วุฒิชัย นุตกุล และอัมพร คุณอเนก. การศึกษาการออกฤทธิ์ของสมุนไพรต่อเชื้อมาลาเรียพัลซิปารัมในหลอดทดลอง การสัมมนาเรื่องสมุนไพรกับมาลาเซีย องศ์การเภสัชกรรม,กรุงเทพฯ.2532.
28. รังสฤษดิ์ กาวีต๊ะ, การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช:หลักการและเทคนิค, ภาควิชาพืชไร่นา, คณะเกษตร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ, 219 หน้า, 2540.
29. ปวีณา นวมเจริญ วันทนา บุตรสาลี และนพมณี โทปุณญานนท์, การเพาะเลี้ยงแคลลัสของเจตมูลเพลิงแดง, รายงานการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ของแก่น, 2545.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น