วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ทับทิม

ทับทิม สรรพคุณและงานวิจัย



ชื่อ ทับทิม
ชื่ออื่นๆ เซี๊ยะลิ้ว(จีน) , พิลา (หนองคาย) ,พิลาขาว ,มะก่องแก้ว (น่าน) ,มะเก๊าะ (เหนือ), หมากจัง (แม่ฮ่องสอน) Granada (สเปน) , Darim (อินเดีย)
ชื่ออังกฤษ Pomegranate
วงศ์ PUNICACEAE




ถิ่นกำเนิด

ทับทิมมีถิ่นกำเนิดจากตะวันออกของประเทศอิหร่าน ทางตอนใต้ของอัฟกานิสถานและทางตอนเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ทับทิมจึงชอบอากาศหนาวเย็นและอยู่บนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลอย่างน้อย 300 เมตร ยิ่งอากาศหนาวเนื้อทับทิมจะมีสีแดงเข้มมากขึ้น ทับทิมคงเป็นพืชที่ได้รับความนิยมมากว่าพันปีแล้ว จึงมีการปลูกแพร่กระจายออกไปทั้งในเขตร้อน (tropical) และกึ่งร้อน (Sub-tropical) ของทวีปเอเชีย ยุโรป รวมทั้งในทวีปแอฟริกาด้วย พันธุ์ทับทิมเก่าแก่ที่มีการปลูกทับทิมในประเทศไทยในระยะแรกนั้น คือ พันธุ์บางปลาสร้อย ที่มีแหล่งปลูกมากในแถบภาคใต้บริเวณอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดใกล้เคียง แล้วค่อยแพร่ไปสู่จังหวัดอื่นๆ



ลักษณะทั่วไปทับทิม

รากทับทิม รากทับทิมตามธรรมชาติที่ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดจะมีระบบรากแก้ว และรากฝอย หากขยายพันธุ์ด้วยการตอนจะมีเพียงระบบรากฝอย
ลำต้นทับทิม ทับทิมจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แต่มีอายุนานได้ถึง 100 ปี ลำต้นสูงประมาณ 2-4 เมตร ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่าง ลำต้นมีเปลือกบาง และติดแน่นกับแก่นไม้ ผิวลำต้นมีสีเทา และเป็นมันเงา ส่วนเนื้อไม้มีลักษณะแข็ง และเหนียว ยอดหรือกิ่งอ่อนมักเป็นเหลี่ยม และมีหนามยาว แต่หนามไม่แข็ง และไม่คม
ใบทับทิม ใบทับทิมจัดเป็นใบเลี้ยงคู่ แทงออกสลับใบ ใบมีลักษณะเรียวยาวเหมือนหอก โคนใบมนแคบ ปลายใบแหลมสั้น ใบเรียบมีสีเขียวเข้ม และมันวาวจากสาร cutin ที่เคลือบไว้ ใต้ท้องใบมีสีอ่อนกว่าด้านบน และจะเห็นเส้นใบได้ชัด ใบกว้างประมาณ 1-2 ซม. และยาวประมาณ 2.5-6 ซม.
ดอกทับทิม ดอกทับทิมเป็นดอกสมบูรณ์เพศ อาจออกเป็นช่อ 3-5 ดอก หรือ เป็นดอกเดี่ยว แทงออกบริเวณปลายยอดตรงง่ามกิ่ง ดอกมีขนาดใหญ่ ขนาดประมาณ 2-3 ซม. ดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 5-6 กลีบ มีรูปร่างคล้ายหม้อ และกลีบดอก 6 กลีบ ปลายกลีบแยกออกจากกัน ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว สีส้ม หรือ สีแดง ถัดมาตรงกลางเป็นเกสรตัวเมีย 1 อัน และเกสรตัวผู้จำนวนมาก ดอกสามารถผสมได้ในตัวเอง และผสมข้ามดอกจากต้นเดียวกันหรือคนละต้น มีระยะบานประมาณ 2 วัน
ผลทับทิม ผลทับทิมมีลักษณะกลม ขนาดผลประมาณ 8-10 ซม. เปลือกผลหนา ผิวเปลือกเกลี้ยง และเป็นมันวาว ผลสุกมีเปลือกสีเหลืองอมแดงหรือบางพันธุ์มีสีแดงอมชมพู เมื่อสุกมาก เมล็ดด้านในจะขยายทำให้เปลือกปริแตก ภายในผลมีเมล็ดที่ถูกแบ่งเป็นช่องด้วยเยื่อสีครีมอมเหลือง จำนวน 5 ช่อง แต่ละช่องมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีเนื้อหุ้มที่ฉ่ำด้วยน้ำหวาน รูปทรงสี่เหลี่ยม เนื้อนี้ใช้รับประทาน มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เนื้อเมล็ดที่ยังไม่สุกมีสีขาวอมชมพู และเมื่อผลสุกจะมีสีชมพูอมแดงหรือแดงเข้ม ส่วนเมล็ดที่เอาเนื้อออกแล้วจะมีลักษณะยาวรี ทั้งนี้ หลังจากติดผลจนถึงผลแก่เต็มที่จะใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน



การขยายพันธุ์ทับทิม

การปลูกทับทิม การปลูกทับทิมเพื่อการค้าหรือปลูกจำนวนหลายต้นมักปลูกในแปลงใหญ่หรือปลูกแซมกับพืชชนิดอื่น เช่น สวนกล้วย สวนน้อยหน่า เป็นต้น ทั้งนี้ การปลูกทับทิม นิยมปลูกจากต้นกล้าที่เตรียมได้จากการเพาะเล็ด และการปักชำ
• การเตรียมดิน การปลูกในแปลงใหญ่ควรไถพรวนดิน และตากดินให้แห้ง 1-2 ครั้งก่อน พร้อมกำจัดวัชพืชร่วมด้วย
• ขั้นตอนการปลูก
– ใช้กล้าที่มีอายุ 2-3 เดือน หรือต้นกล้าสูง 30-40 ซม.
– ขุดหลุมลึก 20-30 ซม.
– ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมี 15-15-15 รองก้นหลุม 2 ต้น/กำ พร้อมคลุกผสมให้เข้ากับดินก้นหลุม
– ระยะปลูกที่ 4×3 หรือ 5×3เมตร
• การให้น้ำ
– ระยะแรกหลังการปลูก 2-3 อาทิตย์ จะให้น้ำทุกวัน
– หลังจากต้นกล้าตั้งตัวได้แล้วจะให้น้ำ ประมาณ 3 ครั้ง/สัปดาห์
• การใส่ปุ๋ย
– หลังการปลูก ประมาณ 1 เดือน ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ร่วมกับปุ๋ยคอก 1-2 กำ/ต้น
– ให้ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง
– ก่อนต้นติดดอกครั้งแรก ให้ปุ๋ยสูตร 12-12-24 ประมาณ 1 กำ/ต้น และให้ในทุกปี
• การเก็บเกี่ยว ทับทิมที่ปลูกจากกิ่งตอนจะเริ่มออกดอก และติดผลภายใน 6-8 เดือน ขึ้นอยู่กับกิ่งตอนได้จากต้นแม่ที่มีอายุมากน้อยเพียงใด หากได้จากต้นแม่ที่เริ่มติดผลแล้วก็จะใช้เวลาไม่นาน แต่หากได้จากต้นที่ยังอ่อน 1-2 ปี ก็จะใช้เวลาที่นานกว่า
สำหรับการปลูกทับทิมจากต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะใช้เวลานานในการติดดอก และติดผลครั้งแรก ซึ่งต้นทับทิมจะมีอายุประมาณ 2-3 ปี กว่าจะให้ผลได้


องค์ประกอบทางเคมีของทับทิม

คุณค่าทางโภชนาการทับทิม
– พลังงาน : 70 กิโลแคลอรี่
– คาร์โบไฮเดรต : 17.17 กรัม
– โปรตีน : 0.95 กรัม
– น้ำตาล : 16.57 กรัม
– วิตามิน C : 6.10 มิลลิกรัม
– แคลเซียม : 3.00 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 0.30 มิลลิกรัม
– โพแทสเซียม : 259 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 8 มิลลิกรัม
– วิตามิน B1 : 0.030 มิลลิกรัม
– วิตามิน B2 : 0.063 มิลลิกรัม
– วิตามิน B3 : 0.300 มิลลิกรัม
– วิตามิน B5 : 0.596 มิลลิกรัม
– วิตามิน B6 : 0.106 มิลลิกรัม
– กรดโฟลิก : 6 ไมโครกรัม

เนื้อผล หรือ น้ำทับทิม
– Anthocyanins
– Glucose
– Ascorbic acid
– Ellagic acid
– Gallic acid
– Caffeic acid
– Catechin
– Quercetin
– Rutin
– Iron
– Amino acid
– Callistephin
– Chrysanthemin
– Cyanin
– Pectin
– Granatin B
– Pelargonin
– Punicalagin
– Punicalin







Ellagic acid










Punicalagin Tannin






Punicic acid




สรรพคุณทับทิม

ผลทับทิมใช้รับประทานเป็นผลไม้มีรสหวานหรือเปรี้ยวอมหวาน ทับทิมเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ น้ำทับทิมมีวิตามินซีสูงและยังมีสารเกลือแร่ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณที่สูงเหมาะสำหรับการดื่มเพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย
น้ำทับทิมมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด และมีประสิทธิภาพสูงมากสามารถลดภาวะการแข็งตัวของเลือดจากไขมันในเลือดสูง บรรเทาโรคโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง ช่วยเพิ่มพลังและความงาม ดื่มน้ำทับทิมคั้นวันละแก้วจะช่วยส่งเสริมการทำงานของหลอดเลือด ลดการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงและช่วยเสริมสุขภาพของหัวใจให้ดีขึ้น
ตำรายาไทย เปลือกผล แก้ท้องเสีย แก้บิด ปิดธาตุ แก้แผลพุพองเน่าเปื่อย ห้ามเลือด แก้ตกขาว แก้หิด กลาก ฝาดสมาน สมานแผล ขับพยาธิ ฝนน้ำทาแก้น้ำกัดเท้า ราก ขับพยาธิเส้นด้าย ไส้เดือน ตัวตืด แก้ตานขโมย แก้เจ็บในคอ ฝาดสมาน เมล็ด แก้โรคลักปิดลักเปิด บำรุงกระเพาะอาหาร ทำให้เจริญอาหาร แก้ปวดกระเพาะอาหาร แก้จุกแน่นอาหารไม่ย่อย แก้ท้องเสีย เปลือกราก แก้สตรีตกเลือด ตกขาว หล่อลื่นลำไส้ ขับพยาธิตัวตืด ไส้เดือน ฝาดสมาน แก้ท้องเสีย แก้บิดมูกเลือด แก้ลักปิดลักเปิด เนื้อหุ้มเมล็ด แก้ลักปิดลักเปิด ผลอ่อน ปิดธาตุ สมานแผล แก้บิด แก้ท้องร่วง แก้ปวดเอว บำรุงกำลัง ดอก ใช้แก้หูชั้นในอักเสบ ห้ามเลือด แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้เลือดกำเดา แก้บาดแผล ใบ ใช้แก้ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน แก้ท้องร่วง แก้บิด พอกแผลฟกช้ำ แก้อาเจียน รักษาตาเจ็บ อมกลั้วคอ ชะล้างแผลมีหนองเรื้อรังบนศีรษะ แก้โรคลักปิดลักเปิด ต้นและเปลือกต้น ขับพยาธิไส้เดือน พยาธิตัวตืด แก้ท้องร่วง แก้บิด สมานแผล แก้โรคลักปิดลักเปิด ทั้งห้า (ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล) ขับพยาธิเส้นด้าย และตัวตืด สมานแผล แก้บิดมูกเลือด แก้ท้องร่วง ท้องเสีย
• ชาวอาหรับ ใช้เปลือกรากทับทิมสดๆ ต้มน้ำ ดื่มถ่ายพยาธิตัวตืด เปลือกจากลำต้นทับทิม ต้มน้ำใช้ถ่ายพยาธิชนิดต่างๆ ร่วมกับยาถ่าย ใช้เปลือกผลทับทิมผสมกานพลูและฝิ่นรักษาโรคบิดและท้องร่วงอย่างแรง
• ชาวอินเดียใช้น้ำคั้นจากผลทับทิมและดอกทับทิม ปรุงยาธาตุ ใช้สมานลำไส้ และแก้ท้องเสีย เมล็ดทับทิมใช้บำรุงหัวใจ
• ประเทศไทย แพทย์แผนโบราณใช้ทับทิมทั้งต้นหรือที่เรียกทับทิมทั้งห้าเป็นยาระบาย หรือถ่ายพยาธิเส้นด้ายและตัวตืด
• เปลือก ราก และเปลือกต้นมีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้ถ่ายพยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย
• ใบ ใช้สมานแผล แก้ท้องร่วง น้ำต้มใบใช้อมกลั้วคอ ทำยาล้างตา
• ดอก ใช้ห้ามเลือด
• เปลือกผล ใช้สมานแผล แก้บิด แก้ท้องร่วง
• ส่วนเนื้อหุ้มเมล็ด มีวิตามินซีสูงแก้โรคลักปิดลักเปิด และใช้แก้กระหายน้ำ
สังเกตได้ว่าชาวไทยใช้ประโยชน์จากทับทิมด้านสมุนไพรมากกว่าชาติอื่นๆ
ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ทับทิมถูกนำมาใช้กับอาการป่วยดังนี้
• ความดันโลหิตสูง
• โรคหัวใจล้มเหลว(CHF)
• การแข็งของหลอดเลือดแดง
• คอเลสเตอรอลสูง
• ระบบทางเดินอาหาร
• โรคอุจจาระร่วง,บิด
• พยาธิตัวตืดและพยาธิลำไส้อื่น ๆ
• ไข้หวัด
• โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
• ป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก
• โรคอ้วน
• HIV
• น้ำยาบ้วนปากลดอาการเจ็บคอ
• ริดสีดวงทวาร



รูปแบบ / ขนาดวิธีใช้ทับทิม

• การถ่าย และกำจัดพยาธิ ให้ใช้เปลือกลำต้นหรือราก 1-2 กำมือ นำมาต้มเคี่ยวนาน 2-3 ชั่วโมง แล้วดื่มก่อนอาหารทุกวัน วันละ 3 ครั้ง นาน 5-7 วัน ถ่ายพยาธิตัวตืดและพยาธิตัวกลม ได้ผลดี
• ใช้เปลือกสดของราก , ต้น ที่เก็บใหม่ๆ 60 กรัม หรือประมาณ 1/2 กำมือ เติมกานพลูหรือกระวานลงไปเล็กน้อย เพื่อแต่งรส ต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 1/2 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ (30 ซี.ซี.) หลังจากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมง รับประทานยาถ่าย เช่น ดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะตาม ควรอดอาหารก่อนรับประทานยา
• รักษาท้องร่วง ท้องเสีย ให้นำรากหรือลำต้นมาต้มเคี่ยวนาน 2 ชั่วโมง ก่อนดื่มวันละ 3-4 ครั้ง หลังเกิดอาการท้องเสีย และดื่มติดกัน 1-2 วัน จนกว่าอาการจะหาย
• ยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน (ไม่ใช่บิด หรือ อหิวาตกโรค) ใช้เปลือกผล ตากแดดให้แห้ง ประมาณ 1/4 ของผล ฝนกับน้ำฝนหรือน้ำปูนใสให้ข้นๆ รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนแกง หรือต้มกับน้ำปูนใส แล้วดื่มน้ำที่ต้มก็ได้
• บิด (มีอาการปวดเบ่ง และมีมูก หรืออาจมีเลือดด้วย)ใช้เปลือกผลแห้งของทับทิม ครั้งละ 1 กำมือ (3-5 กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มวันละ 2 ครั้ง อาจใช้กานพลูหรืออบเชยแต่งกลิ่นให้น่าดื่มก็ได้
อย่างไรก็ตามก็ยังไม่มีการระบุชัดเจนว่าเราควรกินน้ำทับทิม หรือสารสกัดจากทับทิมในปริมาณเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมมันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเช่น อายุ สุขภาพ และปัจจัยอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามถ้าคุณต้องกินสารสกัดจากทับทิมคุณควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือกินตามปริมาณที่ติดตามฉลากของผลิตภัณฑ์นั้นๆจะดีที่สุด



การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชของทับทิม

คุณค่าสารต้านอนุมูลอิสระ น้ำทับทิมมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดีมาก เกิดจากจากสารกลุ่มโพลีฟีนอลและแอนโทไซยานินปริมาณสูงที่พบในน้ำทับทิม ปริมาณเท่ากันน้ำทับทิมมีฤทธิ์ต้านต้านอนุมูลอิสระเป็น 3 เท่าของไวน์แดงและชาเขียว และสูงกว่าน้ำบลูเบอร์รี น้ำแครนเบอร์รี น้ำองุ่นสีม่วง และน้ำผลไม้ชนิดอื่น
จากการศึกษาวิจัยพบว่าเปลือกทับทิมมีสารกลุ่มแทนนินสูงถึงร้อยละ 22-25 โดยประกอบด้วยสารกลุ่มแกลโลแทนนิน (gallotannin) และเอลลาจิแทนนิน (ellagitannin) ปริมาณสูง เปลือกทับทิมตากแห้งใช้เป็นยาแก้ท้องเดินและโรคบิดได้ สารกลุ่มเอลลาจิแทนนิน มีคุณสมบัติเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระที่ดี
คุณค่าด้านป้องกันและรักษามะเร็ง น้ำทับทิมมีผลลดการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนัง งานวิจัยพบว่าน้ำทับทิมสดและน้ำทับทิมที่ผ่านการหมักมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมและมะเร็งผิวหนัง เชื่อว่าสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านมจำนวนหนึ่งมีฤทธิ์เป็นเอสโทรเจนจากพืช
สารกลุ่มเอลลาจิแทนนินจากเปลือกผลทับทิมมีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งกว่า 13 ชนิด ได้แก่ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำไส้ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ เป็นต้น
เอลลาจิแทนนินเป็นสารโพลีฟีนอลสำคัญที่พบอยู่ในน้ำทับทิมปริมาณมาก เมื่อผ่านเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นกรดเอลลาจิกซึ่งจะถูกแบคทีเรียในร่างกายมนุษย์ เปลี่ยนเป็นอนุพันธ์ของสารยูโรลิทินเอ (urolithin A derivative) ต่อไป ในสัตว์ทดลองพบว่าหนูทดลองที่ได้รับสารสกัดเข้มข้นของน้ำทับทิมมีการสะสมสารยูโรลิทินเอมากในอัณฑะ ลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก
งานวิจัยเดียวกันในห้องทดลองพบว่ากรดเอลลาจิกและยูโรลิทินเอ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งอัณฑะมนุษย์ คณะผู้วิจัยคิดว่าน้ำทับทิมมีฤทธิ์ป้องกัน การเกิดมะเร็งอัณฑะด้วย
นอกจากนี้ สารดังกล่าวมีคุณสมบัติทำลายเซลล์มะเร็งหลอดอาหารและลำไส้ใหญ่ พบว่าเมื่อให้กรดเอลลาจิกกับสัตว์ทดลองที่ทำให้เกิดมะเร็ง สารดังกล่าวจะทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลายโดยกลไกการแตกตัวของตัวมันเองได้
คุณค่าป้องกันโรคกระดูกพรุน พบน้ำทับทิมมีผลหยุดการทำงานของเอนไซม์ที่ทำลายกระดูกอ่อนในห้องทดลอง จึงต้องรอให้มีการศึกษาผลของการบริโภคน้ำทับทิมว่ามีผลทำให้อัตราการเสื่อมของกระดูกอ่อนลดลงหรือไม่
น้ำทับทิมมีคุณสมบัติ ทำให้ผิวหน้าเต่งตึงได้ ใช้น้ำทับทิมประมาณ 1 ช้อนชาทาบนใบหน้า ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำเย็น นอกจากนี้การดื่มน้ำทับทิมยังช่วยให้ผิวสวยจากภายใน โดยคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระจะป้องกันผิวจากการทำลายของรังสีอัลตราไวโอเลต อีกทั้งเสริมสุขภาพโครงสร้างเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นนอกด้วย
ฤทธิ์รักษาอาการอุจจาระร่วง ตำรับยาที่มีเปลือกผลทับทิมเป็นส่วนประกอบ สามารถรักษาอาการท้องเสียในเด็กและทารก 305 คน โดยอาการหายไปภายใน 1-3 วัน จำนวน 281 คน และมีอาการดีขึ้น 9 คน สารสกัดเปลือกผลทับทิมโดยการต้มกับน้ำ แล้วสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 95 หรือ เอทานอลร้อยละ 50 มีฤทธิ์ลดความถี่ของการถ่ายอุจจาระ และยับยั้งการหลั่งสารของลำไส้ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้อุจจาระร่วงด้วยน้ำมันละหุ่ง, แมกนีเซียมซัลเฟต, เซนโนไซด์ บี และ misoprostol สารสกัดเปลือกทับทิมยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก และลดการบีบตัวของลำไส้ซึ่งถูกชักนำโดย acetylcholine ตำรับยาที่มีสารสกัดจากเปลือกผลทับทิม เป็นส่วนประกอบมีฤทธิ์รักษาอาการอุจจาระร่วงในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้อุจจาระร่วงด้วยน้ำมันละหุ่ง โดยยืดระยะเวลาจากการเริ่มถ่ายครั้งแรกและลดการถ่ายเหลว นอกจากนี้ยังมีผลยับยั้งการเคลื่อนตัวของลำไส้ด้วย กลไกในการยับยั้งอาการท้องเสียของเปลือกผลทับทิม อาจเกิดจากการเพิ่มการดูดซึมของน้ำในลำไส้หรือลดการขับน้ำออกสู่ลำไส้ และลดการบีบตัวของลำไส้ในสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดด้วยเมทานอลจากเมล็ดสามารถรักษาอาการอุจจาระร่วงในหนูแรทได้ โดยลดความถี่ของการถ่าย ยับยั้งการเคลื่อนไหวของลำไส้ และยับยั้ง prostaglandin E2 (PGE2) ทำให้ไม่ถ่ายเหลว
ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส Punicalagin และฟลาโวนอยด์จากทับทิมมีฤทธิ์ต้านไวรัสโรคหวัด โดยสามารถยับยั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ฮ่องกงในคน (H3N2) ในหลอดทดลอง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดทับทิมสามารถฆ่าเชื้อไวรัสเอดส์ได้ด้วย
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ สารสกัดด้วยเมทานอลและน้ำจากผลทับทิม กรดไขมันจากเมล็ดทับทิม punicic acid และสารที่แยกได้จากทับทิมได้แก่ punicalagin, punicalin, strictinin A และ granatin B มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยพบว่ามีกลไกการออกฤทธิ์หลายแบบได้แก่ ยับยั้งการสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบได้แก่ไนตริกออกไซด์ PGE2 และ TNF-a และกดการทำงานของเอ็นไซม์ที่กระตุ้นการสังเคราะห์สารที่ทำให้เกิดการอักเสบ คือ COX-2 นอกจากนี้สารสกัดเปลือกผลทับทิมที่มี ellagic acid ร้อยละ 13 ก็สามารถยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ได้
ฤทธิ์ต้านการแพ้ การทดสอบฤทธิ์ต้านการแพ้ของสารสกัดจากเปลือกผลทับทิมที่มี ellagic acid ร้อยละ 13 พบว่าสามารถยับยั้งการปล่อย β-hexosaminidase ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้เมื่อทำการทดสอบในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวของหนูแรท (RBL-2H3)
ฤทธิ์ปกป้องตับ สาร ellagic acid มีฤทธิ์ปกป้องตับจากพิษของคาร์บอนเตตร้าคลอไรด์ อัลฟลาทอกซิน อัลกอฮอล์ และN-2-fluronenylacetamide ในสัตว์ทดลอง และพบว่าดอกทับทิมมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปกป้องตับจากพิษของ ferric nitrilotriacetate
ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด น้ำทับทิมมีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเลือดของผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง ลดระดับการเกิดออกซิเดชันของไขมัน และช่วยเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในเลือด สารสกัดจากดอกและเปลือกทับทิม และ ellagic acid ช่วยลดคอเลสเตอรอล, LDL, VLDL, ไตรกลีเซอไรด์ และช่วยเพิ่ม HDL
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีรายงานว่าดอก เมล็ด น้ำทับทิม สารสกัดจากเปลือกทับทิม และสารสำคัญจากทับทิม ได้แก่ polyphenols, oleanolic acid, ursolic acid และ gallic acidมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยเกี่ยวข้องกับการกระตุ้น (peroxisome proliferator-activated receptor gamma (PPAR-γ) ยับยั้งการดูดซึมและการสร้างกลูโคส ยับยั้งเอ็นไซม์กลูโคซิเดส และกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากเซลล์ตับอ่อน
ฤทธิ์ป้องกันต้อกระจก สาร ellagic acid ฉีดเข้าช่องท้องช่วยป้องกันการเกิดต้อกระจกในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย selenite โดยผ่านกลไกการต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมัน



การศึกษาทางพิษวิทยาของทับทิม

• การทดสอบความเป็นพิษ สารสกัดจากทับทิม และน้ำทับทิม ไม่พบว่าเป็นพิษเมื่อให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดตีบรับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี ในการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันพบว่าสารสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 50 จากส่วนเหนือดิน สารสกัดด้วยน้ำ สารสกัดด้วยอัลกอฮอล์จากราก และสารสกัดด้วยอัลกอฮอล์จากผล มีความเป็นพิษปานกลางถึงมาก เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูเม้าส์ ส่วนสารสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 50 จากดอก ไม่เป็นพิษต่อหนูเม้าส์เมื่อให้โดยการฉีดเข้าช่องท้องขนาด 1 กรัม/กิโลกรัม ในขณะที่สารสกัดผลทับทิมที่มี punicalagin ซึ่งเป็น ellagitannin ร้อยละ 30 มีความเป็นพิษเล็กน้อยเมื่อให้หนูแรททางปาก แต่มีความเป็นพิษมากเมื่อฉีดเข้าช่องท้อง
จากการทดสอบความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังของสารสกัดดังกล่าว ไม่พบความเป็นพิษต่อหนูแรทเมื่อป้อนสารสกัดขนาด 600 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 90 วัน และไม่พบความเป็นพิษเมื่อให้หนูแรทกินอาหารที่มีสาร punicalagin ผสมอยู่ร้อยละ 6 เป็นเวลา 37 วัน เพียงแต่ทำให้ความอยากอาหารลดลง กรดแทนนิกและสาร pelletierine มีความเป็นพิษเมื่อให้กระต่ายทางปากในขนาด 1 กรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 40 วัน สารสกัดเปลือกทับทิมด้วยน้ำสามารถทำให้นกกระจอกตัวผู้ตายเมื่อให้ในขนาด 0.4 มิลลิลิตร/วัน
• ความเป็นพิษต่อตับ สารสกัดจากเปลือกผลส่วนที่มี gallotannin ความเข้มข้นร้อยละ 0.5 เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูเม้าส์วันละ 20 มิลลิลิตร/กิโลกรัม เป็นเวลา 2 วัน พบว่าตับถูกทำลายอย่างรุนแรง
• พิษต่อระบบสืบพันธุ์ เปลือกผลทับทิมมีฤทธิ์คุมกำเนิดเมื่อให้หนูทั้ง 2 เพศกินในขนาด 18 กรัม/กิโลกรัม โดยผสมในอาหาร สารสกัดด้วยน้ำร้อนไม่ระบุส่วนและขนาดที่ให้มีฤทธิ์คุมกำเนิดเมื่อทดสอบในหนูแรทเพศเมีย สารสกัดด้วยน้ำและเอทานอลขนาด 1.82 กรัม/กิโลกรัม เมื่อให้ทางกระเพาะอาหารแก่หนูแรท พบว่ามีผลยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สารสกัดด้วยเอทานอลจากผล และราก เมื่อให้หนูแรทกินในขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่าไม่ทำให้แท้ง สารสกัดด้วยเอทานอลจากผล สารสกัดด้วยอะซีโตน สารสกัดด้วยเมทานอล สารสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 50 จากทั้งต้น ให้ในขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสารสกัดด้วยอะซีโตน สารสกัดด้วยน้ำร้อน สารสกัดด้วยเมทานอลจากราก ในขนาด 150 มิลลิกรัม/กิโลกรัมไม่พบความเป็นพิษต่อตัวอ่อนของหนูแรท ในขณะที่เมื่อฉีดสารสกัดจากผลไม่ระบุขนาดเข้าช่องท้องหนูแรทเพศเมีย และให้หนูกินสารสกัดด้วยเอทานอล ขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือให้สารสกัดด้วยบิวทานอล สารสกัดน้ำจากผล ขนาด 1.82 กรัม/กิโลกรัม ทางกระเพาะอาหารแก่หนูแรทพบว่าไม่มีผล
• ทำให้แพ้ มีรายงานการแพ้ในคนที่รับประทานผลสดของทับทิม โดยจะเกิดผื่นลมพิษ การบวมที่ลิ้น ริมฝีปาก มือ แขน ใบหน้า คันตา ตาแดง ระคายเคืองจมูก หายใจลำบาก และเกิดภาวะแพ้รุนแรง (anaphylactic) เป็นต้น และยังมีรายงานว่าเด็กที่รับประทานเมล็ดทับทิมแล้วเกิดอาการหอบหืดชนิดที่เกี่ยวข้องกับ IgE ขึ้น นอกจากนี้การทดสอบการแพ้ทางผิวหนังของผลสด พบว่ามีอาการแพ้





ข้อแนะนำ / ข้อควรระวัง

• อาจมีอาการข้างเคียง คือ วิงเวียน ตาพร้า อ่อนเพลีย ควรหยุดใช้
• สารขับพยาธิ ในเปลือกต้น เปลือกราก คือ สารเพลเลททิเทอรีน สลายตัวได้ง่าย จึงควรใช้เปลือกสดและเตรียมไม่นาน
• การใช้ในขนาดสูงมากทำให้ม่านตาขยาย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ง่วงซึม
• สำหรับสตรีมีครรภ์และให้นมลูก น้ำทับทิมนั้นอาจจะไม่มีผลกระทบใดๆ แต่การกินสารสกัดจากทับทิมนั้นควรปรึกษาแพทย์ที่ท่านฝากครรภ์ก่อน
• ผู้ที่มีความดันต่ำ การดื่มน้ำทับทิมอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงได้ เพราะน้ำทับทิมจะทำให้ความดันของท่านต่ำลงกว่าเดิม
• คนที่แพ้พืช สำหรับคนแพ้พืชก็อาจจะมีแนวโน้มในการแพ้น้ำทับทิม และสารสกัดจากทับทิมได้สูงมาก
• การผ่าตัด เนื่องด้วยน้ำทับทิมหรือสารสกัดจากทับทิมมีผลการควบคุมความดันโลหิต ท่านควรหยุดรับประทาน 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด
เมื่อคุณต้องกินร่วมกับยา
• ยาที่ใช้เกี่ยวกับตับ (Cytochrome P450 2D6 (CYP2D6) substrates) จะมีปฏิกิริยากับทับทิม
• ในกรณีที่คุณต้องทานยาเกี่ยวกับการรักษาโรคเกี่ยวกับตับ พร้อมกับกินสารสกัดจากทับทิมคุณควรปรึกษาแพทย์ผู้เชียวชาญตัวอย่างเช่นยาพวก Amitriptyline (Elavil), โคเดอีน desipramine (Norpramin) flecainide (Tambocor) fluoxetine (Prozac) ondansetron (Zofran) Tramadol (Ultram) และอื่น ๆ
• ยาสำหรับความดันโลหิตสูง ( ACE inhibitors) จะมีปฏิกิริยากับทับทิม น้ำทับทิมดูเหมือนว่าจะลดความดันโลหิต แต่การดื่มน้ำทับทิมพร้อมกับยาสำหรับความดันโลหิตสูงอาจทำให้เกิดความดันโลหิตของคุณจะต่ำเกินไป เช่นยาพวก captopril (Capoten) enalapril (Vasotec) lisinopril (Prinivil, Zestril) ramipril (Altace) และอื่น ๆ
ผลข้างเคียงและความปลอดภัย ยังไม่พบว่ามีผลข้างเคียงจากการดื่มน้ำทับทิมสด แต่ก็อาจจะมีบางคนเท่านั้นที่แพ้น้ำทับทิม สารสกัดจากทับทิมที่ใช้กินหรือทา อาจจะทำให้บางคนแพ้ อาจจะเกิดอาการคัน บวม น้ำมูกไหล และหายใจลำบากได้ ไม่ควรกินรากทับทิมในปริมาณมาก เพราะรากทับทิมนั้นมีพิษ




เอกสารอ้างอิง

1. ทับทิม(ผลไม้).วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/
2. ทับทิม.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
3. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.ทับทิมทางเลือกใหม่ของวัยทอง.นิตยสารหมอชาวบ้าน.คอลัมน์บทความพิเศษ เล่มที่ 358.กุมภาพันธ์ 2552
4. ทับทิม.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=230
5. ทับทิม สรรพคุณ และการปลูกทับทิม.พืชเกษตร.ดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://pueckaset.com
6. ทับทิม.ฉบับประชาชน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์.มหาวิทยาลัยมหิดล
7. อุดมลักษณ์ สุขอัตตะ ประภัสสร รักถาวร เมทิกา ลีบุญญานนท์ และพจมาน พิศเพียงจันทน์. 2553. สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ การต้านอนุมูลอิสระ และการต้านเชื้อแบคทีเรียก่อสิวของสารสกัดจากเปลือกผลไม้. เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 48 3-5 ก.พ. 2553 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน้า 364-373
8. Jurenka, J.S.(2008). Therapeutic applications of pomegranate (Punica granatum L.):A review. Alternative Medicine Review, 13(2), 128-144.
9. ทับทิม.บทความสุขภาพ อาหารเสริม และสารสกัดจากธรรมชาติ. (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://healththai.net/articles/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น