วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คนทีสอ

คนทีสอ สรรพคุณและงานวิจัย




ชื่อสมุนไพร คนทีสอ
ชื่ออื่นๆ คนทีสอขาว (ชลบุรี) , โคนดินสอ (ภาคกลาง) , ดินสอ (ภาคกลาง) , สีสอ (ประจวบคีรีขันธ์) , มูดเพิ่ง (ตาก) , ผีเสื้อน้อย (ภาคเหนือ) , สีเสื้อน้อย ,ดอกสมุทร (เชียงใหม่) ,ทีสอ , เทียนขาว (เพชรบุรี) ,คนตีสอ (สตูล)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex trifolia Linn.
ชื่อสามัญ Indian Privet. Indian Wild Pepper, Milla.
วงศ์ Verbenaceae

ถิ่นกำเนิด

คนทีสอเป็นพืชที่มีการกระจายอยู่ทั้งในเขตร้อนและกึ่งร้อน(อบอุ่น) คือ พบได้ตั้งแต่อัฟริกาตะวันออกมาจนถึงเอเชียและกระจายไปถึงตอนเหนือของออสเตรเลียและหมู่เกาะในแปซิฟิก เกิดตามป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ในไทยพบตามป่าเขา และป่าเบญจพรรณ พบได้ทุกภาคของประเทศ

ลักษณะทั่วไปคนทีสอ

ลำต้นคนทีสอ เป็นไม้พุ่มไม่พลัดใบขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นแตกกิ่งสาขามาก และดูเป็นพุ่มหนา กว้าง 2 – 3 เมตร เปลือกลำต้นมีสีเทาอมดำ และแตกเป็นร่องตื้นตามแนวตั้งตามความสูงของลำต้นคนทีสอ เปลือกลำต้นด้านในมีสีเหลือง แก่นไม้มีความแข็งปานกลาง
ใบคนทีสอ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ มีใบเป็นใบประกอบ ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆตามปลายกิ่ง มีก้านใบหลักยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ปลายก้านใบแตกใบย่อย จำนวน 3 ใบ ใบย่อยตรงกลางมีรูปหอกยาว ยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร และอีก 2 ใบ ด้านข้าง มีรูปหอกสั้น ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ใบตรงกลางยาวมากกว่า 2 ใบด้านข้าง ทำให้แลดูคล้ายนิ้วมือ ใบย่อยแต่ละใบ มีก้านใบสั้นติดปลายก้านใบหลัก แผ่นใบกว้าง 2.5-3 เซนติเมตร มีโคนใบสอบแคบ ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีสีเขียวสด ท้องใบด้านล่างมีนวลขาว และมีขน
ดอกคนทีสอ ออกดอกเป็นช่อแขนง มีก้านช่อหลักยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ช่อแขนงมีดอกย่อย 2-5 ดอก ดอกย่อยขณะตูมมีลักษณะทรงกระบอก มีกลีบเลี้ยงเป็นหลอดสีเขียว ปลายกลีบแยกเป็น 5 แฉก ส่วนปลายกลีบดอกมีสีม่วงอมขาวห่อรวมกัน เมื่อดอกบานจะแผ่กลีบดอกออก ขนาดดอกเมื่อบานประมาณ 2-3 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ แบ่งเป็นกลีบล่างขนาดเล็ก 2 กลีบ และกลีบบน 3 กลีบ ขนาดใหญ่กว่า กลีบดอกมีโคนกลีบเชื่อติดกันเป็นกรวย ปลายกลีบแผ่ แผ่นกลีบมีสีม่วงอ่อน ถัดมาตรงกลางมีเกสรตัวผู้ 4 อัน ตรงกลางเป็นเกสรตัวเมีย ปลายเกสรแยกเป็น 2 แฉก และมีรังไข่เป็นฐานอยู่ด้านล่าง
ผลคนทีสอ คนทีสอมีลักษณะกลม ขนาดเล็ก 3-6 มิลลิเมตร ประมาณเท่าผลพริกไทย ผิวผลเรียบ ผลดิบมีสีเขียว และเป็นมัน ผลสุกมีสีดำ เปลือกผลคนทีสอค่อนข้างบาง ภายในมีเมล็ดทรงกลม 1 เมล็ด เปลือกเมล็ดผลแก่มีสีน้ำตาล เมื่อผลสุกเปลี่ยนเป็นสีดำ



การขยายพันธุ์คนทีสอ

คนทีสอขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด สามารถปลูกคนทีสอได้ในดินทั่วไป และปลูกได้ทั่วทุกภาคในประเทศไทย โดยปกติคนทีสอเป็นพืชพรรณในป่าเขา มีความทนทานต่อความแห้งแล้งสูง ปัจจุบันมีการเพาะเมล็ดให้เป็นต้นกล้าไว้จำหน่ายเพื่อให้ผู้สนใจไปปลูกแล้ว

องค์ประกอบทางเคมีคนทีสอ

ใบมีน้ำมันหอมระเหย เป็นของเหลวใส สีเหลือง มีกลิ่นเฉพาะตัว ประกอบด้วย beta-caryophyllene, alpha terpinene l-d-pinene, camphene, terpinyl acetate, diterpene alcohol และพวกชัน เมล็ดมีสารพวก acetic acid, malic acid, acid resin และนํ้ามันหอมระเหย ประกอบด้วย 55% camphene 20%, limonene และ pinene




Camphene  





 beta-caryophyllene




Malic  acid  









สรรพคุณคนทีสอ

คนทีสอมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง ทุกส่วนของลำต้นสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้หมด ไม่ว่าจะเป็นใบ ดอก ผล เมล็ด ราก ลำต้น กระพี้ รวมไปถึงเปลือกไม้ด้วย และคนทีสอยังเป็นสมุนไพรสำหรับผู้หญิงอีกด้วย เพราะมีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดลมเป็นปกติ แก้ปัญหาประจำเดือน สภาวะก่อนและหลังมีประจำเดือน แม้กระทั่งหลังคลอดบุตร สมุนไพรคนทีสอก็เป็นตัวช่วยขับเลือดเสีย ทำให้สดชื่น มีกำลัง และยังช่วยขับน้ำนมและบำรุงน้ำนมได้อีกด้วย
ตำรายาไทย ใบคนทีสอ รสร้อนสุขุมหอม บำรุงน้ำดี ขับเสมหะ บำรุงธาตุ รักษาโรคตับ ขับลม แก้ไอ แก้หืด ฆ่าพยาธิ แก้ริดสีดวงจมูก แก้ลำไส้พิการ ขับเหงื่อ แช่น้ำอาบแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน รักษาอาการสาบคายในกาย แก้พิษฝีใหญ่ แก้พิษสำแลง และพิษต่างๆ ผสมกับเทียน ขมิ้น พริกไทย รับประทานแก้วัณโรค รักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ แช่น้ำอาบแก้ผื่นคันโรคผิวหนัง โรคปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ และเป็นยาไล่แมลง ดอก รสหอมฝาด แก้ไข้ แก้หืดไอ ฆ่าพยาธิ บำรุงครรภ์มารดา บำรุงน้ำนม ผล รสร้อนสุขุม แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ลม ฆ่าพยาธิ แก้หืดไอ แก้ไข้ แก้ริดสีดวงจมูก แก้ปวดตามเนื้อตามข้อ แก้ท้องมาน ขับเหงื่อ เมล็ด รสร้อนสุขุม ระงับปวด เจริญอาหาร ราก รสร้อนสุขุม แก้ไข้ แก้โรคตับ โรคตา ถ่ายน้ำเหลือง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ รากและใบ ต้มกินแก้ไข้ ให้หญิงหลังคลอดบุตรใหม่ๆรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะและขับเหงื่อ ต้นคนทีสอ ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดท้องอืด กระพี้ รักษาอาการคลื่นเหียนอาเจียน รักษาระดูสตรี เปลือก ใช้รักษาอาการไข้ซึ่งมีอาการกระทำให้เย็น รักษาอาการคลื่นเหียน รักษาหญิงระดูพิการ
ในต่างประเทศมีการนำคนทีสอมาใช้เป็นยาขับเหงื่อและปัสสาวะ ลดไข้ ส่วนของใบใช้เป็นยาลดความเจ็บปวด ใช้เป็นยาขับระดู ให้กินหลังการคลอดบุตรเพื่อป้องกันการจับไข้ ในบางประเทศใช้ใบบดกับกระเทียม พริกไทย ขมิ้นและข้าวสุกทำเป็นเม็ดกินแก้วัณโรค น้ำคั้นจากใบสดดื่มแก้ปวดหัว ใบนำไปหมักเอาน้ำดื่มแก้เหน็บชา ใบนำไปตำพอกแก้เคล็ดขัดยอก รอยฟกช้ำ ไขข้ออักเสบและอัณฑะบวม ในส่วนของผลใช้บำรุงสมองและขับระดู โดยทำให้เป็นผง ใช้ผสมน้ำตาลป้ายลิ้น ผลแห้งนำมาต้มดื่มแก้หวัดธรรมดา ปวดหัว ตาแฉะและการอักเสบของหัวนมและเต้านม ส่วนของเปลือกด้านในเคี้ยวกินแก้ท้องเดิน ในประเทศอินโดนีเซียใช้ ใบ เป็นยาขับลม และผสมในตำรับยาไล่แมลงด้วย บางทีใช้ใบแห้งทำเป็นยาไล่แมลง หรือสกัดเอานำมันมาผลิตเป็นยากันยุง ประเทศอินโดนีเซียใช้ ใบ เป็นยาขับลม และผสมในตำรับไล่แมลง ในมาเลเซีย ใช้รากหรือใบต้มแก้ไข้ ใบแก้ปวดศีรษะ จีน ใช้เมล็ดระงับปวด ทำให้สงบ ไทย ใช้รากฝนทาแก้พิษแมงกะพรุน ใบเป็นยาขับเสมหะ บำรุงธาตุ ใบต้มน้ำอาบรักษาโรคผิวหนัง ผลแก้หืดไอ และมองคร่อ ด้วย



รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้คนทีสอ

แพทย์แผนไทยจะนำใบคนทีสอมาใช้ต้มร่วมกับใบเสนียด ใบเปล้าใหญ่ ใบหนาด เหงือกปลาหมอ ขมิ้นอ้อย ไพล ใบมะกรูด เปลือกมังคุด และใบว่านสาวหลง จากนั้น นำมาผสมกับน้ำสะอาด 10 ขัน แล้วนำไปอาบ จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ลดอาการปวดเมื่อย และรูขุมขนบริเวณผิวหนังเปิด ทำให้หลอดเลือดไหลเวียนดี หายใจสะดวก ขณะเดียวกัน กลิ่นหอมของสมุนไพรช่วยให้สดชื่น ผ่อนคลายความตึงเครียดด้วย
น้ำมันหอมระเหยจากใบ และดอก ใช้ผสมในครีมทาผิวหรือทาร่วมกับครีมทาผิว ช่วยป้องกันยุง
น้ำมันหอมระเหยใช้ทานวดตามข้อ กล้ามเนื้อ แก้อาการปวดเมื่อย แก้อาการเหน็บชา แก้เส้นเอ็นพลิก อัมพฤกษ์ อัมพาต
แก่นนำมาเหลาขนาดเท่านิ้วชี้ ก่อนใช้ถูหรือแปรงฟัน ช่วยระงับอาการปวดฟัน แก้โรคเหงือกอักเสบ รวมถึงใบ และดอก นำมาเคี้ยวทำความสะอาดฟันแทนยาสีฟัน
ใบคนทีสอนำมามัดรวมกัน ใช้สุมบนกองไฟให้เกิดควัน ช่วยไล่ยุงได้ดี
รากคนทีสอ ต้มน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไอ และขับเสมหะ(คนเมือง)
ใบคนทีสอใช้ผสมกับขมิ้น พริกไทย เทียน รับประทานรักษาวัณโรค
ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ใบขยี้กับน้ำแล้วนำมาลูบหัว หรือจะใช้ใบนำไปอังกับไฟแล้วชงกับน้ำกินแก้อาการก็ได้เช่นกัน
ช่วยแก้อาการหวัด น้ำมูกไหล ด้วยการใช้เมล็ดหรือใบคนทีสอ ผสมกับกับขิงและน้ำตาลเล็กน้อย ชงกับน้ำร้อนกินแก้อาการ
ใบสดนำมาตำละเอียดใช้พอกบริเวณแผลที่ถูกตะขาบกัดหรือแมลงสัตว์กัดต่อยได้
ช่วยแก้เอ็นตึง เอ็นอักเสบ ด้วยการใช้ใบคนทีสอประมาณ 30-40 ใบ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวจนเหลือ 1 แก้ว นำมาดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 2 เวลา
ก่อนแปรงฟัน หากได้เคี้ยวใบคนทีสอสด ๆ ก็จะช่วยทำให้ฟันแข็งแรงขึ้น และยังระงับกลิ่นปากได้อีกด้วย
คนทีสอคือสมุนไพรที่เป็นตัวยาหลักในตำรับยาต่าง ๆ เช่น ยาประคบ อบ อาบ ย่าง พอก โดยใช้เพื่อรักษาอาการปวดเมื่อยตามตัว เส้นขัด เอ็นขัด เหน็บชา อัมพฤกษ์ อัมพาต แก้ลม กระดูกหัก หกล้ม ตกต้นไม้ อาการเจ็บปวดในเอ็นและผิวหนัง



การศึกษาทางเภสัชวิทยาคนทีสอ

ในทางเภสัชวิทยา พบว่าคนทีสอมีฤทธิ์ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ขับปัสสาวะ แก้แพ้ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเนื้องอก ฆ่ายุง ฆ่าแมลง ต้านเชื้อ น้ำมันหอมระเหยจาก ใบ เมื่อเตรียมเป็นโลชัน พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการกัดของยุงก้นปล่อง ได้นาน 8 ชั่วโมง ยุงรำคาญ 7 ชั่วโมงครึ่ง ยุงลายสวน 8 ชั่วโมง
หนูแรทตัดรังไข่ที่ได้รับสารสกัดจากใบคนทีสอขนาด 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำให้น้ำหนักตัวลดลง โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าหนูที่ถูกตัดรังไข่จะทำให้มีการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นอันเป็นผลเนื่องมาจากการขาดแคลนฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ในการไปควบคุมการบริโภคอาหาร ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าสารสกัดจากใบคนทีสอขนาด 1000 มิลลิกรัม มีการแสดงฤทธิ์การเป็นเอสโตรเจนจึงช่วยควบคุมการบริโภคอาหารของหนูแรทตัดรังไข่ และสารสกัดจากใบคนทีสอขนาด 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำให้น้ำหนักของช่องคลอดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่มีผลต่อการเพิ่มของน้ำหนักมดลูก ซึ่งให้ผลการทดลองที่แตกต่างจากการศึกษาของวิลาวัณย์ พร้อมพรม ที่ได้ศึกษาถึงสารสกัดจากเมล็ดและเปลือกทับทิมในหนูแรทตัดรังไข่พบว่าทำให้มดลูกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และผลการศึกษาของ ศจีรา คุปพิทยานันท์ ได้ทำการศึกษาผลของสารสกัดจากเอื้องหมายนาต่อระบบสืบพันธุ์ในหนูแรทตัดรังไข่ ที่ป้อนด้วยสารสกัดจากเอื้องหมายนา ในขนาด 500 และ 1000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว สามารถเพิ่มน้ำหนักมดลูกได้ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่าสารสกัดจากใบคนทีสออาจแสดงฤทธิ์การเป็นเอสโตรเจนอย่างอ่อนถึงไม่ส่งผลต่อน้ำหนักและเนื้อเยื่อมดลูกได้
ทั้งนี้ จากการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล "คนทีสอ" จากต่างประเทศเพิ่มเติม ยังพบว่า เมล็ดของคนทีสอ มีฤทธิ์ในการควบคุมการหลั่งฮอร์โมนของต่อมใต้สมอง ที่ควบคุมการทำงานของฮอร์โมนเพศหญิงด้วย ในต่างประเทศจึงนิยมนำ "คนทีสอ" มาใช้รักษาความผิดปกติในสตรี โดยผลิตเป็นแคปซูล และกล่าวอ้างสรรพคุณว่า "คนทีสอ" สามารถรักษาภาวะเป็นหมันในผู้หญิง (antifertility) ได้ เพราะจะไปช่วยปรับวงรอบการตกไข่ให้เป็นปกติ อีกทั้งยังเป็นยาบำรุงที่จะช่วยให้สตรีดูอ่อนเยาว์กว่าวัยด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาคนทีสอ ไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยา


ข้อแนะนำ / ข้อควรระวัง

นอกจากจะเป็นสมุนไพรแล้ว คนทีสอยังเป็นไม้ประดับตัดแต่งทรงพุ่มได้ง่าย สวยงามดี เพราะเป็นต้นไม้ไม่ใหญ่มากใช้พื้นที่น้อย แต่ควรระวังเวลาตัดแต่งกิ่ง เพราะอาจทำให้มีอาการแพ้ ทำให้เกิดการจาม ไอ ปวดหัว หายใจขัดได้ หากจะตัดกิ่งก้านก็ควรมีผ้าปิดปากจมูกไว้ป้องกันอาการแพ้

เอกสารอ้างอิง
1. เต็ม สมิตินันทน์,2544.ซึ่งพรรณไม้แห่งประเทศไทย,ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้,กรุงเทพฯ.
2. คนทีสอ.วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/w/index.php?title=คนทีสอ&oldid=4973372
3. ศาสตราจารย์ พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ.ข้อมูลของคนทีสอต้น.ไทยเกษตรศาสตร์(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaikasetsart.com
4. คนทีสอ.อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
5. “คนทีสอ”พืชสมุนไพร.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
6. คนทีสอ ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=27
7. รู้จักกันไหม? คนทีสอและคนทีสอขาว..มูลนิธิสุขภาพไทย.
8. วันประเสริฐ ทุมพะลา ,วรรณชัย ชาแท่น , วิลาวัณย์ พร้อมพรม.ผลชองสารสกัดจากใบคนทีสอ(vitex trifolia L.) ต่อระบบสืบพันธุ์ในหนูแรทตัดรังไข่ Effects of Chaste Tree (Vitex trifolia L.)leaf extract on reproductive sgstem in ovariectomized rats. การประชุมทางวิชาการ”มหาวิทยาลัยมหาสารคามวิจัย ครั้งที่ 11 .หน้า 70 - 75

หนาดใหญ่

หนาดใหญ่ สรรพคุณและงานวิจัย



ชื่อสมุนไพร หนาดใหญ่
ชื่ออื่นๆ หนาด , หนาดหลวง , คำพอง(เหนือ) , พิมสม(กลาง) , ใบหรม(ใต้) , ไต่ฮวงไหง่ , ไหง่หนับเฮี่ยง(จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Blumea balsamifera (L.) DC.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Blumea grandis DC., Baccharis salvia Lour.
ชื่อสามัญ Ngai Campor Tree, Camphor Tree
วงศ์ ASTERACEAE (COMPOSITAE)



ถิ่นกำเนิด

หนาดใหญ่ เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่มักพบขึ้นตามที่รกร้าง ทุ่งนา หรือตามหุบเขาทั่วไป พบได้ทุกภาคในประเทศไทย และพบได้ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศจีน นับว่าเป็นพืชพื้นถิ่นของไทยได้เลยที่เดียว


ลักษณะทั่วไปหนาดใหญ่

หนาดใหญ่เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมคล้ายการบูร สูง 1-4 เมตร ลำต้นกลม กิ่งก้านมีขนนุ่มยาว เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา มีกลิ่นหอมของการบูร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีแกมขอบขนาน ผิวใบทั้งสองด้านมีขนละเอียดหนาแน่น คล้ายเส้นไหม และมีกลิ่นหอม กว้าง 2-20 เซนติเมตร ยาว 8-40 เซนติเมตร ปลายใบ และโคนใบแหลม ขอบใบหยักแบบซี่ฟัน หรือฟันเลื่อย ก้านใบมีรยางค์ 2-3 อัน ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ เป็นช่อกลม ช่อดอกมีขนาดโตไม่เท่ากัน กว้าง 6-30 เซนติเมตร ยาว 10-50 เซนติเมตร มีริ้วประดับหลายชั้น บางครั้งริ้วประดับอาจยาวกว่าดอก รูปขอบขนาน แคบยาว 1-9 มิลลิเมตร ปลายแหลม ด้านหลังมีขนนุ่มหนาแน่น ดอกย่อยมีเป็นจำนวนมาก กลีบดอกสีเหลือง ฐานดอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 มิลลิเมตร ดอกสมบูรณ์เพศมีหลอดดอกยาว 4-7 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นหลอด รูปไข่ ปลายแหลม มีขนนุ่ม ดอกตัวเมียมีหลอดดอกเล็กเรียว ยาวไม่เกิน 6 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็น 2-4 แฉก เกลี้ยง ผลแห้งไม่แตก รูปขอบขนาน ยาวราว 1 มิลลิเมตร สีน้ำตาล โค้งงอเล็กน้อย เป็นเส้น 5-10 เส้น มีขนสีขาว



การขยายพันธุ์หนาดใหญ่

หนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด นิยมปลูกไว้หน้าบ้านด้วยมีความเชื้อว่าสามารถขับไล่ผี และสิ่งที่ไม่ดีออกจากบ้านได้ แต่โดยมากมักขยายพันธุ์เอาโดยธรรมชาติ โดยอาศัยลมพัด ผลของหนาดใหญ่ไปตกตามที่ต่างๆ และเกิดเป็นต้นออกมา ซึ่งเป็นการกระจายพันธุ์โดยอาศัยธรรมชาติ



องค์ประกอบทางเคมีของหนาดใหญ่

ในใบหนาดใหญ่พบสาร cryptomeridion มีฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น กล้ามเนื้อหลอดลม และสารที่พบอีก ได้แก่ blumealactone, borneol, flavanone, quercetin, xanthoxylin[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า สารที่พบคือน้ำมันหอมระเหย ในน้ำมันหอมระเหยพบสาร Cineole, Borneol, Di-methyl ether of phloroacetophenone, Limonene นอกจากนี้ยังพบสารจำพวก Amino acid, Erysimin, Flavonoid glycoside, Hyperin เป็นต้น
เมื่อกลั่นใบหนาดใหญ่ด้วยไอน้ำจะได้น้ำมันระเหยง่าย ประกอบด้วย d-carvo-tanacetone 1-tetrahydrocarvone mixture ของ butyric isobutyric และ n-octanoic acids, 1-borneol 1,8-cineol อนุพันธ์ของ carvotanacetone 2 ชนิด diester ของ coniferyl alcohol อนุพันธ์ของ polyacetylenes และ thiophene campesterol stigmasterol sitosterol xanthoxylin erianthin สารฟลาโวนอยด์คือ 4’-methyl ether และ 4’, 7- dimethyl ether ของ dihydroquercetin สาร sesqiterpene ชื่อ cryptomeridion






Blumealactone

 




xanthoxylin  




cineole




borneol







สรรพคุณหนาดใหญ่


หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ ลำต้นและใบหนาดใหญ่ เข้ายากับใบเปล้าใหญ่ และใบมะขาม ต้มน้ำอาบ แก้วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย
ตำรายาไทยและยาพื้นบ้าน ใช้ ใบหนาดใหญ่ มีกลิ่นหอมฉุน มีรสเมาร้อน แก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เป็นยาห้ามเลือด ยาเจริญอาหาร แก้โรคไขข้ออักเสบ เป็นยาบำรุงหลังคลอด แก้ไข้ ลดความดันโลหิต ขับพยาธิ ระงับประสาท ขับลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ขับเสมหะ แก้มุตกิด ใบและยอดอ่อน กลั่นด้วยไอน้ำ จะได้พิมเสนตกผลึกออกมา นำมาทำเป็นยากิน แก้ปวดท้อง ท้องร่วง หรือใช้ขับลม ใช้ภายนอกเป็นผงใส่บาดแผล แก้แผลอักเสบ แก้กลากเกลื้อน และแผลฟกช้ำ ใบและยอดอ่อนหนาดใหญ่ ต้มกินเป็นยาแก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ ปวดท้อง ขับเสมหะ แก้ริดสีดวงจมูก ขับลมในลำไส้ ขับพยาธิ แก้บิด บำรุงกำลัง หรือใช้ภายนอก บดเป็นผงผสมสุรา ใช้พอกหรือทาแผลฟกช้ำ ฝีบวมอักเสบ แผลฝีหนอง บาดแผลสด ห้ามเลือด แก้ปวดหลังเอว ปวดข้อ และแก้กลากเกลื้อน ใบสดหนาดใหญ่ หั่นเป็นฝอยเหมือนยาเส้น ตากแดดพอหมาดๆ มวนกับยาฉุน สูบ แก้ริดสีดวงจมูก (โรคติดเชื้อที่เกิดในจมูก ทำให้หายใจขัด มีฝีหนองในจมูก โพรงจมูกอักเสบ) ยาชงของ ใบ เป็นยาบำรุงธาตุ ขับลม ขับเหงื่อ ขับเสมหะ และระดู ใช้ผสมในน้ำอาบสมุนไพรหลังคลอด บำรุงผิวหนังให้ชุ่มชื้น แก้หิด สิ่งสกัดจาก ใบ ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ขยายเส้นเลือด ขับปัสสาวะ ใช้ในเมื่อมีอาการตื่นเต้น นอนไม่หลับ รากหนาดใหญ่ มีรสร้อน ใช้ต้มน้ำดื่มแก้หวัด แก้บวม ปวดข้อ ปวดท้อง ท้องเสีย ขับลม ทำให้การหมุนเวียนโลหิตดี และแก้ปวดเมื่อยหลังคลอด ทั้งต้น รสเมาร้อนหอม แก้ไข้ แก้ลมแดด แก้เจ็บหน้าอก แก้ปวดท้อง แก้อหิวาตกโรค ขับพยาธิ ลดความดันเลือด ระงับประสาท
ยาพื้นบ้าน ใช้ ใบ บดผสมกับต้นข่อย แก่นก้ามปู พิมเสน และการบูร มวนด้วยใบตองแห้งสูบ รักษาโรคหืด
ยาพื้นบ้านนครราชสีมา ใช้ ใบ รักษาโรคเรื้อน โดยตำใบให้ละเอียด ใส่ด่างทับทิมและน้ำพอประมาณ นำมาปิดบริเวณที่เป็นแผล
ประเทศจีน ใช้ ใบหนาดใหญ่ ขับลม ขับพยาธิ และทำให้แท้ง



รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้หนาดใหญ่

• ในมาเลเซีย ใช้ใบอ่อนและรากหนาดใหญ่ต้มกินเป็นอาหารบางครั้งใส่ยี่หร่าลงไปด้วย รากเก็บจากต้นอ่อนยังไม่ออกดอก กล่าวว่า มีฤทธิ์ขับพยาธิในลำไส้ ใช้ใบอ่อน กินร่วมกับใบพลู แก้อาการเจ็บบริเวณหัวใจ ซึ่งอาจเนื่องจากระบบย่อยอาหารไม่ดีก็ได้
• ในอินโดจีน ใช้ใบหนาดใหญ่ ร่วมกับต้นตะไคร้ ต้มให้เดือด ใช้อบตัวช่วยขับเหงื่อ
• ในซาราวัค ใช้ใบต้มร่วมกับเทียนดำ (Nigella sativa L.) หัวหอมเล็กหรือบดกับเกลือ กินแก้ไข้
• ในชวา ใช้น้ำคั้นหรือน้ำต้มจากใบหนาดใหญ่ หรือจากราก กินแก้ประจำเดือนออกมากผิดปกติ
• ในกัมพูชา ใช้ใบพอกแก้หิด ใช้ใบหรือยอดอ่อน ตำพอกแผลห้ามเลือด หรือตำร่วมกับใบขัดมอญ (Sida rhombifolia L.) พอกศีรษะแก้ปวดหัว
• ตำร่วมกับใบกระท่อม ใบยอ ใบเพกา ใช้เป็นยาพอกแก้ม้ามโต
• ใบต้มน้ำ ให้หญิงหลังคลอดอาบ และใช้ทาถูภายนอก แก้ปวดหลัง เอว และปวดข้อ
• น้ำคั้นจากใบ หรือผงใบหนาดใหญ่แห้ง ทาแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
• ใบ ชงน้ำร้อน กินตอนอุ่นๆ ใช้แก้ไข้ ขับเหงื่อ ในไทย
• ชาวบ้านบางแห่งก็ใช้ใบหนาดอังไฟให้ร้อน แล้วนำมาห่อตัวบริเวณที่มีการอักเสบ หรือทางใต้จะใช้รองหัว (ก้อนหินเผาไฟ) ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยแก้ปวดหลังปวดเอว แก้อักเสบ แก้ฟก บวม บรรเทาอาการปวดเมื่อย ช่วยผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อ และยังมีตำรับยาที่ใช้ใบหนาดนำมาดองกับเหล้า เพื่อเก็บไว้ใช้นานๆ สำหรับทาถูแก้ปวด เช่น ปวดข้อรูมาติกส์และแก้คัน แก้ลมพิษได้ด้วย หนาดเป็นสมุนไพรหลักตัวหนึ่งที่นิยมใส่ในตำรับยาอบ และในลูกประคบ
• สาวภูไทยใช้เป็นส่วนผสมในยาสระผม โดยสาวภูไทยผมยาวสลวยจะใช้ใบหนาด ใบมะนาว รากแหน่งหอม (ว่านสาวหลง) ต้มกับน้ำข้าวหม่า (น้ำที่แช่ข้าวเหนียวทิ้งค้างคืนไว้) แล้วใช้เป็นยาสระผม ทำให้ผมหอมกรุ่น ใบหนาดยังแก้วิงเวียน แก้ปวดหัวได้ดีโดยการตำใบหนาดให้พอละเอียด นอนลงหรือนั่งเอนหลัง แล้วนำมาวางข้างขมับและหน้าผาก ใช้แก้ปวดหัวได้ หรือจะต้มใส่หม้อเอาไอรม เพื่อรักษาอาการวิงเวียนก็ได้
• ชาวม้งจะใช้ยอดอ่อนนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปตุ๋นใส่ไข่ ใช้กินเป็นยารักษาโรคไข้มาลาเรีย
รากหนาดใหญ่ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้หวัด
• ตำรับยาแก้ปวดประจำเดือน ให้ใช้รากหนาด 30 กรัม และเอี๊ยะบ๊อเช่า 18 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน
• ตำรับยาแก้เริมบริเวณผิวหนัง ด้วยการใช้ใบหนาด 20 กรัม, ขู่เซินจื่อ 20 กรัม, โด่ไม่รู้ล้ม 20 กรัม, จิงเจี้ย 20 กรัม, เมล็ดพุดตาน 15 กรัม, ไป๋เสี้ยนผี 30 กรัม, และใบสายน้ำผึ้ง 30 กรัม นำมารวมกันต้มเอาน้ำชะล้างแผล
• ตำรับยาแก้ปวดประจำเดือน ให้ใช้รากหนาด 30 กรัม และเอี๊ยะบ๊อเช่า 18 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกิน
• ใบเป็นส่วนผสมในยาสมุนไพรอาบรักษาอาการผิดเดือนสำหรับสตรีหลังคลอดลูกร่วมกับใบเปล้าหลวง (ลำเชิน)และใบหมากป่า
รากหนาดใหญ่ นำมาต้มในน้ำผสมกับรากเปล้าหลวง (ลำเชิน) ใช้เป็นยาห่มรักษาอาการผิดเดือน(ลั้วะ)
ใบหนาดใหญ่ นำมาขยี้แล้วดมแก้อาการเลือดกำเดาไหล
• ใบอ่อน ทุบแล้วแช่น้ำดื่มแก้อาการท้องร่วงหรือใช้ต้มน้ำร่วมกับ ใบช่าน โฟว(ว่านน้ำเล็ก) ลำต้นป้วงเดียตม เครือไฮ่มวย ต้นถ้าทางเมีย ต้นเดี่ยปวง(สามร้อยยอด) ใบสะโกวเดี๋ยง(เดื่อฮาก) ใบจ้ากิ่งยั้ง (ก้านเหลือง) ใบทิ่นหุ้งจา(ฝ่าแป้ง)ให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟอาบเพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น(ถ้าหาสมุนไพรได้ไม่ครบก็ให้ ใช้เท่าที่หาได้)(เมี่ยน)
ใบหนาดใหญ่ ใช้เป็นที่ปะพรมน้ำมนต์ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายร่วมกับกิ่ง พุทรา(คนเมือง)
พิมเสน สกัดใบหนาดใหญ่และยอดอ่อนด้วยไอน้ำ จะได้น้ำมันหอมทำให้เย็น พิมเสนก็จะตกผลึก แล้วกรองแยกเอาผลึกพิมเสนมาใช้ประมาณ 0.15 – 0.3 กรัม นำมาป่นให้เป็นผงละเอียด หรือทำเป็นยาเม็ดกินเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องร่วงหรือใช้ขับลม เมื่อใช้ภายนอกนำผงมาโรยใส่บาดแผล แผลอักเสบ แก้กลากเกลื้อน และแผลฟกช้ำ เป็นต้น
• ใบและยอดอ่อนหนาดใหญ่ ใช้ใบและยอดอ่อนแห้งประมาณ 10 – 18 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ ปวดท้อง ขับเสมหะ แก้ริดสีดวงจมูก ขับลมในลำไส้ ขับพยาธิ แก้บิด บำรุงกำลัง หรือใช้ภายนอกด้วยการบดให้เป็นผงละเอียดผสมสุรา ใช้พอกหรือทาแผลผกช้ำ ฝีบวม อักเสบ แผลฝีหนอง บาดแผลสด ห้ามเลือด แก้ปวดหลังเอว ปวดข้อ และแก้กลากเกลื้อน เป็นต้น
รากหนาดใหญ่ ใช้รากสด ประมาณ 15 – 30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้บวม ปวดข้อ ปวดท้อง ท้องเสีย ขับลม ทำให้การหมุนเวียนของโลหิตดี และแก้ปวดเมื่อยหลังคลอดแล้ว เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยา ไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยา

ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง

ในการทำพิมเสน (พิมเสนหนาด)เมื่อได้พิมเสนมาแล้ว จะมีลักษณะพิมเสนที่ดี คือ เป็นแผ่นใหญ่ ขนาด 5 – 15 มม. หนา 2 – 3 มม. มีสีขาว กลิ่นหอมเย็น รสเย็นซ่า





เอกสารอ้างอิง

1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “หนาดใหญ่”. หน้า 813-815.
2. หนาดใหญ่.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=123
3. หนาด.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี .(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/w/index.php?title=หนาด&oldid=6255797
4. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “หนาดใหญ่” หน้า 192.
5. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ.หนาดใหญ่และผักหนาม.นิตยสารหมอชาวบ้าน.คอลัมน์อื่นๆ.เล่มที่ 17 กันยายน 2523
6. เต็ม สมิตินันทน์,2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.
7. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, 2548. พจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6. รวมสาส์น (1977) จำกัด. กรุงเทพ ฯ
8. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “หนาดใหญ่”. หน้า 610.
9. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ .ใบหนาด สมุนไพรป้องกันผีป้องกันตัว.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www/thaikasetsart.com
10. อุทัย สาขี .บทคัดย่อโครงการวิจัย การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและการออกฤทธิ์ทางชีวภาพของต้นหนาดใหญ่และหนาดวัว.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กำลังเสือโคร่ง

กำลังพญาเสือโคร่ง





บทนำ สมุนไพรกําลังเสือโคร่ง กับความเข้าใจผิด ๆ ยังมีหลายคนที่กำลังสับสนในชื่อของกำลังเสือโคร่งว่าแท้จริงแล้วชื่อต้นไม้ชนิดนี้เป็นพันธุ์ไม้ชนิดนี้ใดกันแน่ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3-4 ชนิด ที่ล้วนแล้วแต่เป็นต้นไม้คนละชนิด ต่างสกุล และต่างวงศ์กัน แต่มีสรรพคุณที่เหมือนกันคือ “เป็นยาบำรุงกำลัง”
1. กำลังเสือโคร่ง หรือ กำลังพญาเสือโคร่ง หรือ พญาเสือโคร่ง ชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 20-35 เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betula alnoides Buch.-Ham. ex D.Don จัดอยู่ในวงศ์กำลังเสือโคร่ง (BETULACEAE)
2. กําลังเสือโคร่ง ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ziziphus attopensis Pierre จัดอยู่ในวงศ์พุทรา (RHAMNACEAE)
3. นางพญาเสือโคร่ง หรือ ซากุระเมืองไทย ที่มีดอกเบ่งบานสีชมพู เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus cerasoides จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบ
4. กำลังเสือโคร่ง (ไม้พุ่ม) ซึ่งเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Strychnos axillaris Colebr. และจัดอยู่ในวงศ์กันเกรา
แต่ที่เราจะกล่าวถึงนี้ คือ กำลังพญาเสือโคร่ง ในชนิดที่ 1 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ชื่อ กำลังพญาเสือโคร่ง
ชื่ออื่นๆ กำลังเสือโคร่ง (เชียงใหม่) , ลำแค , ลำแค่ (ลั๊วะ) , นางพญาเสือโคร่ง , พญาเสือโคร่ง (คนเมืองเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Betula alnoides Buch.-Ham. ex D.Don
ชื่อสามัญ Birch
วงศ์ BETULACEAE

ถิ่นกำเนิด

กำลังพญาเสือโคร่งเป็นพันธุ์ไม้ ที่มีถิ่นกำเนิดในไทย และเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดน่าน กำลังพญา เสือโคร่ง เป็นพันธุ์ไม้ที่พบขึ้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1,800 เมตร และพบในบางประเทศของทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้

ลักษณะทั่วไปกำลังเสือโคร่ง

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 20-35 เมตร วัดรอบต้นประมาณ 1-2 เมตร เปลือกไม้สีน้ำตาลเทา หรือเกือบดำ มีต่อมระบายอากาศ ( lenticels)เป็นจุดเล็ก ๆ ขาว ๆ กลมบ้าง รีบ้าง ปะปนกันอยู่ เปลือกมีกลิ่นคล้ายการะบูร เวลาแก่จะลอกออกเป็นชั้นคล้ายกระดาษ ที่ยอดอ่อน ก้านใบและช่อดอกมีขนสีเหลืองหรือสีน้ำตาลปกคลุม ขนเหล่านี้จะลดน้อยลง ๆ จนเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยงเมื่อแก่
ใบ รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปหอก หรือรูปหอก ขนาดกว้างประมาณ 1.5-6.5 ซม. และยาวประมาณ 6.55-13.5 ซม. เนื้อใบบางคล้ายกระดาษหรืออาจหนา ด้านใต้ของใบมีตุ่ม ( gland-datted) โคนใบป้าน หรือเกือบเป็นเส้นตรง ขอบหยักแบบฟันเลื่อยสองชั้น หรือสามชั้น ซี่หนักแหลม ขอบซี่เรียวแหลม เส้นกลางใบเป็นร่องตื้น ๆ ทางด้านหลังใบ เส้นแขนงใบ 7-10 คู่ หูใบเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือแคบเรียงยาว 3-8 มม. ก้านใบเป็นร่องลึกด้านบนยาว 0.5-2.5 ซม.
ดอก ออกเป็นช่อ ลักษณะเป็นพวงยาวแบบหางกระรอก ดอกออกตามง่ามใบ แห่งละ 2-5 ช่อ ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียแยกกันอยู่ ช่อดอกเพศผู้ยาว 5-8 ซม. กลีบดอกเป็นรูปโล่ห์หรือเกือบกลมมีแกนอยู่ตรงกลาง ปลายค่อนข้างแหลมมีขนที่ขอบ ขนาด 1.1x1.-1.2มม. เกสรตัวผู้มี 4-7 ติดอยู่ที่แกนกลาง ช่อดอกเพศเมียยาว 3-9 กลีบรองกลีบดอกไม่มีก้าน มี 3 หยัก ยาวประมาณ 2-2.5 มม. ด้านนอกมีขน รังไข่แบน กรอบนอกเป็นรูปไข่หรือเกือบกลม มีขน ท่อรังไข่ยาวกว่ารังไข่เล็กน้อย ขนาดกว้าง 2.5-3 มม. และยาว 2.5-4 มม. มีปีกบางและโปร่งแสง ออกดอกระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม และเป็นผลระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธุ์
ผล ลักษณะแบน กว้าง 2-3 มม. ยาว 2-14 มม. มีปีกบาง และโปร่งแสงอยู่ทั้งสองข้าง ผลแก่ร่วงง่าย
ลักษณะเนื้อไม้ กระพี้กับแก่นมีสีต่างกันเพียงเล็กน้อย เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน ออกเหลืองปนขาว หรือค่อนข้างขาว เสี้ยนตรง เนื้ออ่อนข้างละเอียด แข็งพอปานกลาง มีลวดสวยงามไสกบ ตบแต่งง่าย ขัดชักเงาได้ดี
การขยายพันธุ์ ในสภาพธรรมชาติ ไม้กำลังเสือโคร่งขยายพันธุ์โดยเมล็ด สำหรับในทางปฏิบัติจะมีการนำเมล็ดมาเพาะก่อนแล้วจึงย้ายกล้าไปปลูก ส่วนการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่นยังมิได้มีการศึกษากัน
ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูก การเจริญเติบโตและการปรับปรุงพันธุ์ ยังมีการศึกษากันน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วการปลูกจะปลูกโดยทิ้งให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลกันอย่างจริงจัง
องค์ประกอบทางเคมี เปลือกต้นมีน้ำมันหอมระเหยชนิดหนึ่ง มีกลิ่นฉุนเหมือนน้ำมันระกำ แต่มีรายงานการวิจัยว่า พบสารปรอด Phenolic ในเปลือกต้นกำลังพญาเสือโคร่งที่ใช้ดองเหล้า เพื่อทำยาดอง และเป็นรายงานเพียงชิ้นเดียวที่มีการวิจัยในขณะนี้

phenolic


สรรพคุณของกำลังเสือโคร่ง

มีกลิ่นหอมคล้ายการบูร ใช้ต้มน้ำเป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง เจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ บำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยชำระล้างไตให้สะอาด บำรุงกองธาตุให้เป็นปกติ แก้อาการท้องร่วง ใช้บำบัดอาการผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับมดลูกของผู้หญิงไม่สมบูรณ์ มดลูกชอกช้ำอักเสบเนื่องจาการกระทบกระเทือน แท้งบุตร มดลูกไม่แข็งแรงให้หายเป็นปกติ ช่วยบำรุงเลือด ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร เปลือกต้นมีกลิ่นหอม ใช้ดมแก้อาการหน้ามืดตาลายได้


รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้ของกำลังเสือโคร่ง

ลำต้น เข้าสูตรยา บำรุงกำลัง (ลั๊วะ)
ราก ต้มน้ำดื่มร่วมกับรากโด่ไม่รู้ล้ม (เกดสะดุด) เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย, เปลือกต้น ดองเหล้าดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง(ลั้วะ)
เปลือกต้น มีกลิ่นหอม ดมแก้อาการหน้ามืดตาลาย(กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)
เปลือกต้น นำไปตากแห้งผสมกับ ลำต้นฮ่อสะพายควาย ม้า กระทืบโรง จะค่าน ตานเหลือง มะตันขอ ข้าวหลามดง หัว ยาข้าวเย็น แก่นฝาง ไม้มะดูก และโด่ไม่รู้ล้ม ต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย(คนเมือง)
เปลือกต้น ถากออกเป็นแผ่นแล้วนำมาเผาไฟ นำผงถ่านที่ได้มาทาบริเวณฟันผุ แก้อาการปวดฟัน(ลั้วะ)
เปลือกต้น ถากออกจากลำต้น พอประมาณตามความต้องการ ใส่ภาชนะหรือกาน้ำ ต้มน้ำให้เดือนเคี่ยวไฟอ่อนๆ น้ำสมุนไพรจะเป็นสีแดง (ถ้าปรุงรสให้หอมหวานใช้ชะเอมพอสมควรกับน้ำตาลกรวด)ให้รับประทานขณะน้ำสมุนไพรอุ่นๆ จะมีคุณภาพดียิ่งขึ้น
ถ้าใช้ดองกับสุรา สีจะแดงเข้ม (ถ้าจะปรุงรสและกลิ่นให้เติมน้ำผึ้ง-โสมตังกุย) สรรพคุณจะแรงขึ้นทวีคูณ ต้นดองกับสุราได้ถึง 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหมดสีของสมุนไพร
เปลือกต้น ทำให้แห้ง แล้วใช้ดมทำให้เส้นเอ็นแข็งแรง

ฤทธิ์ทางเภสัช ไม่มีข้อมูลการวิจัยทางเภสัชวิทยา
การศึกษาทางพิษวิทยา ไม่มีข้อมูลการวิจัยทางพิษวิทยา
ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง เปลือกต้นที่นำมาใช้เป็นสมุนไพรนั้นควรเป็นเปลือกต้นที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป




เอกสารอ้างอิง

1. กำลังเสือโคร่ง.สวนพฤกษศาสตร์ตามพระราชเสาวนีย์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก
http://www.dnp.go.th/Pattani_botang
2. กำลังเสือโคร่ง.ฐานข้อมูลพรรณไม้องค์การสวนพฤกษศาสตร์.BGO Plant Database, The Botanical Garden Organization.
3. ภก.นิตย์ธิดา ภัทรธีรกุล .สมุนไพรบรรเทาปวดเมื่อย.คอลัมน์ การส่งเสริมสุขภาพ.วารสารเภสัชกรรมชุมชน.ปีที่8 ฉบับที่ 47 เดือนธันวาคม 2552.หน้า 31
4. กำลังพญาเสือโคร่ง.กลุ่มสมุนไพรแก้ฟกช้ำ ข้อเคล็ด ปวดข้อ เส้นเอ็นพิการ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
5. เต็ม สมิตินันทน์,2544.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้,กรุงเทพฯ.

ราชพฤกษ์

ราชพฤกษ์ สรรพคุณและงานวิจัย






ชื่อ ราชพฤกษ์

ชื่ออื่นๆ คูณ ,ชัยพฤกษ์ (ภาคกลาง) , ลมแล้ง (ภาคเหนือ) , ลักเกลือม ลักเคย (ภาคใต้) , ปียู , ปูโย , เปอโซ ,แมะหล่าอยู่ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula Linn.
ชื่อสามัญ Golden shower, Indian laburnum, Pudding-pine tree, Laburnum Indian, Laburnum, Purging cassia
วงศ์ FABACEAE (LEGUMINOSEA-CEASALPINIODIEAE)

ถิ่นกำเนิด

ราชพฤกษ์ เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียใต้ ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถาน ไปจนถึงอินเดีย พม่า และศรีลังกา ดอกราชพฤกษ์เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อน เจริญเติบโตได้ดีที่สุดในที่โล่งแจ้ง สามารถปลูกได้ทั้งดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว ทนต่อความแห้งแล้งและดินเค็มได้ดี แต่ไม่ทนในอากาศหนาวจัด
ต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้มงคลนิยมใช้ประกอบพิธีที่สำคัญ เช่น พิธีเสาไม้หลักเมือง เป็นส่วนประกอบในการทำคฑาจอมพล และ ยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร ทำพิธีปลูกบ้าน ฯลฯ
คนไทยในสมัยโบราณเชื่อว่า ควรปลูกต้นราชพฤกษ์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเรือนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นทวีคูณ ซึ่งความเป็นจริงคือทิศดังกล่าวจะได้รับแดดจัดตลอดช่วงบ่าย จึงควรปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ลดความร้อนและทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น และยังมีความเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ประจำบ้านจะช่วยให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ด้วยคนไทยส่วนใหญ่ยอมรับว่าต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีคุณค่าสูงและยังเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยอีกด้วย นอกจากนี้มีความเชื่อว่า ใบของต้นราชพฤกษ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะในพิธีทางไสยศาสตร์ให้ใบทำน้ำพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ได้ผลดีดังนั้นจึงถือว่าต้นราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลนาม


ลักษณะทั่วไป
ไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เปลือกต้นเกลี้ยง สีขาวอมเทา แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคู่ ออกเรียงสลับ ใบย่อย 3-8 คู่ เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 7-12 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบยาว 30-40 เซนติเมตร ฐานใบมน ปลายใบแหลม ขอบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบเกลี้ยง ค่อนข้างบาง หูใบมีขนาดเล็กและร่วงง่าย ดอกช่อแบบช่อกระจะ สีเหลืองสด ออกตามซอกใบหรือปลายยอด 1-3 ช่อ เป็นช่อห้อยลงเป็นโคมระย้า ยาว 20-40 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดบานกว้างประมาณ 3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่แกมรูปรี ผิวด้านนอกมีขน กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง รูปไข่ ปลายมน เกสรตัวผู้ 10 อัน สั้น 7 อัน ยาว 3 อัน อับเรณูมีขนาดเล็ก ก้านเกสรตัวเมีย และรังไข่มีขนยาวคล้ายไหม ผลเป็นฝักยาว รูปแท่งกลม กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 20-60 เซนติเมตร ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกฝักแข็งกรอบ ฝักแก่ไม่แตก แต่จะหลุดร่วงทั้งฝัก และหักแตกเป็นชิ้น ภายในฝักจะมีผนังกั้นเป็นช่องๆ แต่ละช่องมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีเนื้อเหนียวเปียกสีดำหุ้ม มีรสหวาน เมล็ดแบนรี สีน้ำตาล มีเมล็ด 50-70 เมล็ด ต้นราชพฤกษ์นี้ เป็นต้นไม้ประจำชาติไทย พบตามป่าเต็งรัง ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ติดผลราวเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม


การขยายพันธุ์
การปลูกราชพฤกษ์นิยมปลูกด้วยเมล็ด รองลงมา คือ การปักชำกิ่ง ซึ่งการปักชำกิ่งจะได้ต้นใหม่ที่ลำต้นไม่ใหญ่ สูง ออกดอกเร็ว แต่วิธีนี้มีการชำติดยาก หากดูแลไม่ดี และระยะการชำติดนาน
สำหรับการปลูกด้วยเมล็ด จะใช้เมล็ดจากฝักแก่ที่ร่วงจากต้นหรือติดบนต้นที่มีลักษณะเปลือกฝักสีน้ำตาล จนถึง ดำ สามารถเก็บได้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม นำมาทุบเปลือก และแกะเมล็ดออก ลักษณะเมล็ดพันธุ์ที่ดีควรเก็บจากต้นที่มีลำต้นตรง สูงใหญ่ ไม่มีโรค ฝักไม่รอยกัดแทะของแมลง ฝักอวบหนา เป็นมันเงา เมล็ดใน 1 กิโลกรัม จะได้เมล็ดประมาณ 7,400 เมล็ด
เนื่องจากเมล็ดมีเปลือกหนา หากต้องการกระตุ้นการงอกที่เร็ว ให้ใช้วิธี ดังนี้
ให้นำเมล็ดมาแช่ในกรดกำมะถันเข้มข้น เป็นเวลา 45-60 นาที แล้วล้างน้ำให้สะอาด
เฉือนเปลือกออกเล็กน้อย
นำไปแช่ในน้ำเดือด นาน 2-3 นาที นำออกทิ้งไว้ให้เย็น
การเพาะชำ การเพาะหว่านในแปลงก่อนย้ายใส่ถุงเพาะชำ ทำโดยการหว่านในแปลงเพาะที่ใช้ดินผสมปุ๋ยคอกกองโรยให้สูง 15-20 ซม. หรือใช้ไม้แผ่นเป็นแบบกั้น เมื่อกองดินสูงได้ระดับหนึ่งแล้วจะหว่านเมล็ดก่อน แล้วใช้ดินโรยปิดหน้าบางๆอีกครั้ง หลังจากนั้น รดน้ำเป็นประจำ ซึ่งต้นอ่อนราชพฤกษ์จะงอกภายใน 15 วัน ทั้งนี้ ควรให้มีระยะห่างของเมล็ดพอควร อย่างน้อยประมาณ 5 ซม. ขึ้นไป เมื่อกล้าอายุได้ประมาณ 1 เดือน หรือมีความสูงประมาณ 5-7 เซนติเมตร ให้ถอนต้นย้ายไปเพาะในถุงพลาสติกขนาด 4 x 6 นิ้ว และดูแลให้น้ำอีกครั้ง
การเพาะในถุงเพาะชำ การเพาะวิธีนี้ จะทำให้ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายได้กว่าวิธีแรก ด้วยการนำเมล็ดเพาะในถุงพลาสติกได้เลยโดยไม่ผ่านการเพาะในแปลงก่อน ทำให้สามารถย้ายกล้าที่เติบโตแล้วลงแปลงปลูกได้ทันที
การเพาะจะใช้ดิน ผสมกับวัสดุเพาะ เช่น แกลบ ขี้เลื่อย เศษใบไม้ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก อัตราส่วนดินกับวัสดุเพาะที่ 1:1 หรือ 1:2 บรรจุในถุงเพาะพลาสติก หลังจากนั้นนำเมล็ดลงหยอด 1 เมล็ด/ถุง ทำการรดน้ำ และดูแลจนถึงระยะลงแปลงปลูก
การปลูก ต้นกล้าที่ได้จากการเพาะทั้งสองวิธี จะมีระยะที่เหมาะสมที่ความสูงประมาณ 25-30 ซม. สามารถปลูกในพื้นที่ว่างที่ต้องการ แต่หากปลูกในแปลงที่ใช้กล้าตั้งแต่ 2 ต้น ขึ้นไป ควรมีระยะห่างระหว่างต้นที่ 4-6 เมตร หรือมากกว่า ต้นคูนที่ปลูกในช่วง 2-3 ปีแรก จะเติบโตช้า แต่หลังจากนั้นจะเติบโตเร็วขึ้น อายุการออกดอกครั้งแรกประมาณ 4-5 ปี


องค์ประกอบทางเคมี

• เนื้อในผล พบสารกลุ่มแอนทราควิโนน เช่น aloin, fistulic acid, rhein, barbaloin, sennoside A, sennoside B เปลือกต้น พบ tannin, rhein, sennoside A, sennoside B, barbaloin, aloin, emodin, chrysophanol
• ในฝัก alkaloids oxalates flavonoid
• ในเมล็ด hydrocyanic acid Arginine saponin
• ในดอก epicatechin procyanidin triterpenes




Aloin




Sennoside A





rhien



Arginine




Triterpenes




สรรพคุณ ตำรายาไทย

เนื้อในฝัก รสหวานเอียน แก้ท้องผูก
ฝักอ่อนราชพฤกษ์ สามารถใช้ขับเสมหะ ระบายพิษไข้ ช่วยระบายท้องเด็ก เป็นยาระบายที่ไม่ปวดมวน ใช้ในเด็กหรือสตรีมีครรภ์ ท้องผูกเรื้อรัง แก้ไข้มาลาเรีย บิด แก้ตานขโมย ใช้พอกแก้ปวดข้อ ระบายพิษโลหิต แก้ร้อนในกระหายน้ำ บรรเทาอาการแน่นหน้าอก ฟกช้ำ ชำระน้ำดี แก้ลมเข้าข้อและขัดข้อ ถ่ายโรคกระษัย ถ่ายเส้นเอ็น
ใบราชพฤกษ์ รสเมา ใช้ระบายท้อง ฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ แก้ฝีและเม็ดผื่นคันตามร่างกาย ฆ่าพยาธิผิวหนัง ตำพอกแก้ปวดข้อ แก้ลมตามข้อ แก้อัมพาต ใบอ่อน แก้ไข้รูมาติก
ดอกราชพฤกษ์  รสเปรี้ยว ขม ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ ระบายท้อง แก้พรรดึก แก้แผลเรื้อรัง พุพอง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม เป็นยาหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคกระเพาะอาหาร ขับพยาธิไส้เดือน แก้ตกเลือด มีสารที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีสารออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบ เช่น เชื้อที่ก่อการอักเสบของหูชั้นนอก สารสกัดจากดอกราชพฤกษ์มีฤทธิ์การต่อต้านเชื้อรา
เปลือกต้นราชพฤกษ์  รสฝาดเมา แก้ท้องร่วง ฝนผสมกับหญ้าฝรั่น น้ำตาล น้ำดอกไม้เทศ กินแล้วทำให้เกิดลมเบ่งในการคลอดบุตร สมานแผล แก้ไข้ แก้ฝีคุดทะราด แก้โรคในทรวงอก แก้ฟกบวมในท้อง แก้ปวดมวน แก้เม็ดผื่นคันในร่างกาย แก้ตกเลือด แก้บวม แก้พยาธิ แก้ฝีเปื่อยพัง
แก่นราชพฤกษ์ รสเมา ขับพยาธิไส้เดือน แก้กลากเกลื้อน ระบายพิษไข้ กินกับหมาก กระพี้ รสเมา แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน
รากราชพฤกษ์  รสเมา แก้กลากเกลื้อน ฆ่าเชื้อคุดทะราด ระบายพิษไข้ แก้เซื่องซึม แก้หายใจขัด แก้ไข้ รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ ถุงน้ำดี เป็นยาระบายท้อง รักษาขี้กลาก แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อยพัง แก้บวม แก้พยาธิ แก้ตกเลือด
เปลือกรากราชพฤกษ์  รสฝาด ต้มดื่ม ระบายพิษไข้ แก้ไข้มาลาเรีย
 เปลือกเมล็ดและเปลือกฝัก ถอนพิษเบื่อเมา ทำให้อาเจียน เมล็ด ใช้ถ่ายพยาธิ แก้ตานซางตัวร้อน มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว
เปลือกและใบราชพฤกษ์  บดผสม ทาฝี และเม็ดตามร่างกาย

สารที่พบในราชพฤกษ์

สารคาร์ทามีดีน (carthamidine) ของดอก มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิว ต้านการเสื่อมของเซลล์
สารแคโรทีนอยด์ หลายชนิดในใบ และดอกราชพฤกษ์ออกฤทธิ์รวมกันหลายด้าน อาทิ
ต้านการเสื่อมสภาพของเซลล์ ป้องกันผิวจากอันตรายของแสง ป้องกันผิวเหี่ยวย่น
ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันโรคตาอักเสบ โรคต้อกระจก และช่วยให้มองเห็นได้ดีในตอนกลางคืน
ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกัน และลดอาการภูมิแพ้
บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ ป้องกันโรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือด
ต้านเซลล์มะเร็ง
 สารในกลุ่ม saponin มีคุณสมบัติเป็นสารลดแรงตึงผิว มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ขยายหลอดลม แต่มีผลข้างเคียงทำให้เม็ดเลือดแตกตัว
 สาร anthraquinones ที่พบในใบ และฝัก มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ใช้เป็นยาระบาย ใช้ฆ่าเชื้อ
 สารในกลุ่ม flavonoid ที่พบในใบ ดอก และฝัก หลายชนิดออกฤทธิ์รวมกัน ต้านเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ ช่วยขยายหลอดลม ช่วยให้ผนังเส้นเลือดแข็งแรง รักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก
 สารแทนนิน (tannin)ที่พบในเปลือก และแก่น มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาอาการท้องร่วง นอกจากนั้น เมื่อเข้าสู่ลำไส้จะกับโปรตีนในเยื่อบุ ช่วยลดการอักเสบ ต้านการสูญเสียน้ำ ช่วยดูดซึมน้ำกลับ แต่มีผลทำให้อาหารไม่ย่อย ทำให้ท้องอืด
รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้ เอาเนื้อในฝักแก่ก้อนเท่าหัวแม่มือ (ประมาณ 4 กรัม) น้ำ 1 ถ้วยแก้วต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนนอนหรือตอนก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว เป็นยาระบายสำหรับคนที่ท้องผูกเป็นประจำและสตรีมีครรภ์
 รากราชพฤกษ์ นำมาต้มรับประทาน ใช้ลดไข้ รักษาโรคในถุงน้ำดี นำมาฝนทารักษากลาก เกลื้อน และโรคผิวหนังต่างๆ ราก เปลือก และแก่น นำมาต้มใช้ล้างบาดแผล ต้านเชื้อแบคทีเรีย รักษาแผลติดเชื้อ แผลอักเสบ
 ใบหรือดอกราชพฤกษ์ กินสดหรือต้มน้ำรับประทาน ใช้ต้านรักษาโรคเบาหวาน บำรุงเลือด บำรุงหัวใจ ลดอัตราเสี่ยงของโรคระบบหัวใจ และหลอดเลือด นำมาบด ใช้ทาผิวหนัง ใช้ทาแผล ต้านเชื้อแบคทีเรีย
 เนื้อฝัก น้ำต้มจากฝัก รับประทานแก้บรรเทาอาหารจุกเสียดแน่นท้อง
 เปลือกเมล็ดและเปลือกฝักมีสรรพคุณช่วยถอนพิษ ทำให้อาเจียน หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 5-6 เมล็ด นำมาบดเป็นผงแล้วรับประทานก็ได้
 ฝักและใบมีสรรพคุณช่วยขับพยาธิ ด้วยการใช้ฝักแห้งประมาณ 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม
 รากนำมาฝนใช้ทารักษากลากเกลื้อน และใบอ่อนก็ใช้แก้กลากได้เช่นกัน
 เปลือกและใบนำมาบดผสมกันใช้ทาแก้เม็ดผดผื่นตามร่างกายได้

นอกจากนี้ยังมีการนำสมุนไพรราชพฤกษ์มาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น
• น้ำมันนวดราชพฤกษ์ ที่เคี่ยวมาจากน้ำมันจากใบคูน เป็นน้ำมันนวดสูตรร้อนหรือสูตรเย็น ที่ใช้นวดแก้อัมพฤกษ์อัมพาต และแก้ปัญหาเรื่องเส้น
• ลูกประคบราชตารู เป็นลูกประคบสูตรโบราณ ที่ใช้ใบคูนเป็นตัวยาตั้งต้น ประกอบไปด้วย ขมิ้นอ้อย เทียนดำ กระวาน และอบเชยเทศ โดยลูกประคบสูตรนี้จะใช้ปรุงตามอาการ โดยจะดูตามโรคและความต้องการเป็นหลัก ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่เหมือนกัน
• ผงพอกคูนคาดข้อ ทำจากใบคูนที่นำมาบดเป็นผง ช่วยแก้อาการปวดเส้น อัมพฤกษ์อัมพาต โดยนำมาพอกบริเวณที่เป็นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการปวดข้อ รักษาโรคเกาต์ และยังช่วยลดอาการอักเสบได้อีกด้วย ซึ่งสูตรนี้สามารถใช้กับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก ตาไม่หลับ มุมปากตกได้ด้วย
• ชาสุวรรณาคา ทำจากใบคูน สรรพคุณช่วยในด้านสมอง แก้ปัญหาเส้นเลือดตีบในสมอง ช่วยให้ระบบไหลเวียนในร่างกายดีขึ้น ช่วยแก้อัมพฤกษ์อัมพาต โดยเป็นตัวยาที่มีไว้ชงดื่มควบคู่ไปกับการรักษาแบบอื่น ๆ

ฤทธิ์ทางเภสัชของราชพฤกษ์

 ฤทธิ์เป็นยาถ่าย สารสกัดจากฝักคูนขนาด 100 และ 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย และพบว่าสารสกัดจากรากคูนด้วยเมทานอลที่ความเข้มข้น 0.1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase ได้ ซึ่งอาจเป็นกลไกที่ทำให้สารสกัดคูนมีฤทธิ์เพิ่มการบีบตัวของลำไส้ อย่างไรก็ตามสารสกัดจากฝักคูนที่ความเข้มข้นต่ำคือ 4-8 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้หนูตะเภา
 ฤทธิ์ต้านเชื้อรา สารสกัดจากใบคูนด้วยเมทานอลสามารถต้านเชื้อรา Trichophyton rubrum, Microsporum gypseum และ Penicillium marneffei สารสกัดจากใบคูนด้วยน้ำที่ความเข้มข้น 1 กรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งเชื้อรา Epidermophyton floccusum, Trichophyton mentagrophyte และ M. gypseum ได้เล็กน้อย นอกจากนี้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 95 และน้ำสามารถต้านเชื้อ T. rubrum, T. mentagrophyte และ M. gypseum และสารสกัดด้วยเอทานอลร้อยละ 95 น้ำ และคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Dermatophytes, Candida albicans, Crytococcus neoformans และ P. marneffei การทดสอบสารสกัดฝักคูนด้วยไดคลอโรมีเทน:เมทิลแอลกอฮอล์ในอัตราส่วน 1:1 ที่ความเข้มข้น 500 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร พบว่าสารสกัดที่ได้มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา C. albicans, และ Saccharomyces cerevisiae ได้ดี ยับยั้ง Aspergillus niger ได้ปานกลาง และออกฤทธิ์ดีขึ้นที่ความเข้มข้นเพิ่มขึ้น
สารสกัดดอกคูนด้วยเอทิลอะซีเตตออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้ดี 6 ชนิด ได้แก่ T. rubrum, T. mentagrophytes, T. simii, E. floccosum และ Scopulariopsis sp. โดยสารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ 4-hydroxy benzoic acid
 ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดจากใบคูนด้วยไดเอทิลอีเธอร์ เอทิลอะซีเตท ไดคลอโรมีเทน เมทานอล และน้ำที่ความเข้มข้น 3,000-5,000 ส่วนในล้านส่วน (ppm) สามารถยับยั้งเชื้อ Escherichia coli, Klebsiella aerogenes, Proteus vulgaris และ Pseudomonas aerogenes สารสกัดจากใบและเปลือกคูนด้วยน้ำสามารถต้านเชื้อ E. coli สารสกัดจากผลคูนด้วยเมทานอลสามารถยับยั้งเชื้อ Bordetella bronchiseptica, Stapphylococcus aureus และ Bacillus cereus นอกจากนี้สารสกัดจากกิ่งด้วยเอทานอลร้อยละ 95 และสารสกัดจากเปลือกลำต้นด้วยเอทานอลร้อยละ 70 มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureus ได้ การทดสอบสารสกัดฝักคูนด้วยไดคลอโรมีเทน:เมทิลอัลกอฮอล์ในอัตราส่ วน 1:1 ที่ความเข้มข้น 500 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร พบว่าสารสกัดออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Streptococcus faecalis ได้ดี ยับยั้งเชื้อ Bordetella bronchiseptica, Micrococcus luteus , S. aureus, Klebsiella pneumoniae และ P. aeruginosa ได้ปานกลาง ยับยั้งเชื้อ Staphylococcus epidermidis และ E. coli ได้เล็กน้อย แต่ไม่ยับยั้งเชื้อ B. cereus var mycoides, Bacillus pumilus และ Bacillus subtilis และเมื่อเพิ่มความเข้มข้นสารสกัดเป็น 1,000 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร พบว่าสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อทุกชนิดข้างต้นได้ดี ยกเว้นเชื้อ E. coli และ P. aeruginosa จะยับยั้งได้ปานกลาง
นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดฝักคูนช่วยเสริมฤทธิ์ยา amoxicillin โดยการใช้สารสกัดนี้ร่วมกับยา amoxicillin จะสามารถยับยั้งเชื้อ Salmonella enterica, Serovar Typhi ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อยาหลายชนิดได้ดีกว่าเมื่อใช้ยาหรือสารสกัดคูนเดี่ยวๆ

การศึกษาด้านพิษวิทยา

การทดสอบพิษเฉียบพลัน เมื่อป้อนสารสกัดด้วยน้ำของฝักคูนให้หนูเม้าส์ พบว่ามีความเป็นพิษเล็กน้อย การศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง พบว่าสารสกัดของฝักไม่ทำให้เกิดพยาธิสภาพกับอวัยวะอื่นๆ เมื่อป้อนสารสกัดฝักให้กับกระต่ายทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร ขนาด 8 กรัม/กิโลกรัม พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษ น้ำต้มฝักที่มีปริมาณแอนทราควิโนนรวมและแอนทราควิโนนไกลโคไซด์รวมร้อยละ 1.45-1.85 โดยน้ำหนัก และร้อยละ 0.38-0.71 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ ไม่พบความเป็นพิษเฉียบพลันต่อหนูเม้าส์และหนูแรทภายหลังจากได้รับสารสกัด 5 กรัม/กิโลกรัม ไม่ปรากฏว่าหนูตายหรือแสดงอาการผิดปกติใน 14 วัน
สารสกัดฝักคูนเปลือกต้น และเมล็ดด้วยเอทานอล:น้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ พบว่าขนาดสูงสุดที่สัตว์ทดลองทนได้ เท่ากับ 250 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
การศึกษาความเป็นพิษของสาร clerosterol ซึ่งแยกได้จากสารสกัดฝักคูนด้วยเฮก เซนต่อเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมพบว่า เป็นพิษน้อยกว่ายา pentamidine ที่ใช้ในการรักษาโรค Leishmaniasis 3.6 เท่า

ข้อแนะนำ / ข้อควรระวัง

การทำเป็นยาต้ม ควรต้มให้พอประมาณจึงจะได้ผลดี หากต้มนานเกินไปหรือเกินกว่า 8 ชั่วโมง ยาจะไม่มีฤทธิ์ระบาย แต่จะทำให้ท้องผูกแทน และควรเลือกใช้ฝักที่ไม่มากจนเกินไป และยาต้มทีได้หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้อาเจียนได้
อาการข้างเคียง มีรายงานว่าผู้ป่วย 49 คน รับประทานต้นคูนแล้วเกิดพิษ โดยมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปากเจ็บ ง่วงซึม เพ้อคลั่ง และท้องเสีย





เอกสารอ้างอิง

1. คูน.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=216
2. ชลธิชา ควรคำนวณ,ราชพฤกษ์ในท่องโลกสมุนไพร.
3. สุนทรี สิงหบุตร,2535.สรรพคุณสมุนไพร200ชนิด
4. ราชพฤกษ์.วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก.http://.wikipedia.org/w/index.php?title=ราชพฤษ์&oldid=6849471
5. ภัสสร์พัณณ์ หลวงไผ่,2549.ผลในสภาพทดลองของสารสกัดด้วยน้ำจากมะหาด(/Artocarpus takoocha Roxb.)ราชพฤกษ์(Cassia fistula Linn.) และแก้ว(Murraya paniculata Jack) ที่มีต่อพื้นผิวพยาธิใบไม้Haplorchis taichui.
6. เมทนี ธาดานุกูลวัฒนา,2552.การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชะลอวัยที่มีส่วนผสมสารสกัดดอกราชพฤกษ์
7. นักรบ เจริญสุข,2552.ประสิทธิภาพของสารสกัดจากฝักคูนในการป้องกันการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชจำพวกหนอนกระทู้ในผักคะน้า
8. คูน.กลุ่มยาถ่าย.สมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็กพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
9. คูน.ฉบับประชาชนทั่วไป.สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.

ไพล

ไพล





ชื่อ ไพล
ชื่ออื่นๆ ปูเลย (ภาคเหนือ) ,ว่านไฟ (ภาคกลาง) ,ว่านปอบ (ภาคอีสาน) , มิ้นสะล่าง (รัฐฉาน-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber montanum (J.Koenig) Link ex A.Dietr.
ชื่อพ้อง Zingiber cassumunar Roxb., Zingiber purpureum Roscoe
วงศ์ ZINGIBERACEAE

ถิ่นกำเนิด

พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียแถบประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย พืชชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยนั้นพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่นิยมปลูกกันมากในแถบจังหวัด กาญจนบุรี,สุพรรณบุรี,ปราจีนบุรีและสระแก้ว

ลักษณะทั่วไป

ไพลเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีเหง้าไพรอวบหนาผิวนอกสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีเหลืองอมสีส้ม มีกลิ่นเฉพาะ กาบใบเรียงสลับโอบกันแน่นชูเหนือ ดินเป็นลำต้นเทียม สูง 1.2-1.8 เมตร แตกกอกาบใบเกลี้ยงหรือมีขนตามขอบ ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับระนาบเดียว รูปแถบ กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 20-35 เซนติเมตร ปลายเรียวยาว โคนสอบ ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่ม ก้านใบยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ลิ้นใบเป็นสองแฉกตื้นยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขน ช่อดอก แบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้าไพร ก้านช่อตั้งตรงขึ้นเหนือดิน ยาว 20–25 เซนติเมตร รูปกระสวยถึงรูปไข่ กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร ใบ ประดับเรียงซ้อนกันแน่น สีน้ำตาลขอบสีเขียว อ่อน รูปไข่ ยาว 3-3.5 เซนติเมตร ผิวมีขนนุ่ม ปลายแหลม ใบประดับย่อยยาว 1-1.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอด สีขาว ยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร กลีบดอกสีเหลือง อ่อน โคนติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นสามแฉก เกสรเพศผู้ เป็นหมันที่เปลี่ยนไปเป็นกลีบปากยาวประมาณ 6 เซนติเมตร รูปเกือบกลม สีขาว ปลายแยกเป็น 2 แฉก และจะแยกออกลึกขึ้นเมื่อดอกใกล้โรย เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เหลือรูปขอบขนาน สีเดียว กับกลีบปาก ขนาบสองข้างของโคนกลีบปากและ เชื่อมเป็นแผ่นเดียวกัน เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี1 อัน ก้านเกสรเพศผู้สั้นมาก อับเรณูเป็นหงอนยาว และโค้งหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมีย ที่ยาวขึ้นไป เหนืออับเรณูรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มี3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ผล แบบผลแห้งแตก รูปกลม

การขยายพันธุ์

ไพลสามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด แง่งหรือเหง้าไพรซึ่งเป็นส่วนของลำต้นใต้ดิน โดยทั่ว ไปๆจะใช้ส่วนของเหง้าไพรเป็นท่อนพันธุ์ในการปลูกไพรชอบดินร่วนซุย ไม่ชอบน้ำขังหรือดินที่มีการระบายน้ำไม่ดีเนื่องจากจะเน่าเสียโดยเฉพาะดินที่มีสภาพเป็นกรด เมื่อมีฝนซุกหรือความชื้นในดินสูง จะทำให้เกิดโรคแง่งเน่า สามารถปลูกกลางแจ้งจนถึงมีแสงแดดพอควร ส่วนต้นเหนือดินมักจะยุบหรือแห้งเมื่อเข้าฤดูแล้ง ส่วนใหญ่จะเก็บเหง้าแก่เมื่ออายุ 2-3 ปี หลังปลูก

องค์ประกอบทางเคมี

องค์ประกอบทางเคมีไพลมีองค์ประกอบเคมีเป็น น้ำมันระเหยง่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.87,8 โดย องค์ประกอบเคมีของน้ำมันระเหยง่ายอาจแตก ต่างกันไปตามแหล่งที่มา แต่โดยทั่วไปมักมีสาร กลุ่มมอโนเทอร์พีน (monoterpene) เป็นหลัก เช่น แอลฟา-ไพนีน ( ᶏ-pinene), ซาบินีน (sabinene), แอลฟา-เทอร์พินีน ( ᶏ-terpinene), แกมมา-เทอร์พินีน ( ᶌ-terpinene), เทอร์พีน- 4-ออล (terpenen-4-ol)





ᶏ-pinene





sabinene


นอกจากนั้นไพลยังมี สารสีเหลืองเคอร์คูมิน ( c u r c um i n ) ได้แก่ cassumunin A-C, curcumin , อนุพันธ์แนฟโทควิโนน (naphthoquinone derivatives), อนุพันธ์บิวทานอยด์ (butanoid der ivat ives) หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ cassumunarins (อี)-4-(3,4-ดีเมทอกซีเฟนิล)บิว-3-อีน-1-ออล [(E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-ol หรือสารดี(D)], (อี)-1-(3,4-ดีเมทิลเฟนิล) บิวทาไดอีน [(E)-1-(3,4-dimethylphenyl) butadiene หรือ สารดีเอ็มพีบีดี(DMPBD)], อนุพันธ์ไซโ ค ล เ ฮ ก ซีน ( c y c l o h e x e n e derivatives) เช่น ซีส-3-(3,4-ไดเมทอกซีเฟนิล) -4-[(อี)-3,4-ไดเมทอกซีสไตริล]ไซโคลเฮก-1- อีน [cis-3-(3,4)-dimethoxyphenyl)-4-[(E)-3, 4-dimethoxystyryl]cyclohex-1-ene]






[E-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-ol]





 curcumin



สรรพคุณ

เหง้าขับโลหิตร้ายทั้งหลายให้ตกเสีย ขับระดูสตรี แก้ฟกช้ำ เคล็ดบวม ขับลมในลำไส้ ขับระดู ไล่แมลง แก้จุกเสียด รักษาโรคเหน็บชา แก้ปวดท้อง บิดเป็นมูกเลือด ช่วยสมานแผล สมานลำไส้ แก้ลำไส้อักเสบ แก้มุตกิดระดูขาว ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ปวดท้อง แก้ท้องผูก แก้อาเจียน แก้ปวดฟัน เป็นยารักษาหืด แก้เคล็ดขัดยอก ข้อเท้าแพลง แก้โรคผิวหนัง แก้ฝี ทาเคลือบแผลป้องกันการติดเชื้อ ดูดหนอง สมานแผล แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นยาชาเฉพาะที่ ใช้ป้องกันเล็บถอด และใช้ต้มน้ำอาบหลังคลอด รักษาอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ ลดอาการอักเสบ บวม เส้นตึง เมื่อยขบ เหน็บชา และลดอาการปวด มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ สมานแผล หรือต้มน้ำสมุนไพรอาบ เป็นส่วนประกอบในยาประคบ ถูนวดตัว บำรุงผิวพรรณ ราก แก้โรคอันบังเกิดแต่โลหิตอันออกทางปากและจมูก ขับโลหิต แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้ปวดท้อง ช่วยทำให้ประจำเดือนมาปกติ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ท้องผูก แก้โรคผิวหนัง แก้เคล็ดขัดยอก
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้เหง้าไพล ในยารักษาอาการทางระบบทางเดินอาหาร ตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของไพลร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ และยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ปรากฏตำรับ “ยาประสะไพล” มีไพลเป็นส่วนประกอบหลักร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ในสตรีที่ระดูมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ และขับน้ำคาวปลาในสตรีหลังคลอดบุตร


รูปแบบ/ขนาดวิธีการใช้

แก้ท้องขึ้น ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม ใช้เหง้าแห้งบดเป็นผง รับประทานครั้งละ ½ ถึง 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อน ผสมเกลือเล็กน้อย ดื่ม
รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง ใช้หัวไพลฝนทาแก้ฟกบวม เคล็ด ขัด ยอกใช้เหง้าไพล ประมาณ 1เหง้าไพล ตำแล้วคั้นเอาน้ำทาถูนวดบริเวณที่มีอาการ หรือตำให้ละเอียด ผสมเกลือเล็กน้อยคลุกเคล้า แล้วนำมาห่อเป็นลูกประคบ อังไอน้ำให้ความร้อน ประคบบริเวณปวดเมื่อยและบวมฟกช้ำ เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย หรือทำเป็นน้ำมันไพลไว้ใช้ก็ได้ โดยเอาไพล หนัก 2 กิโลกรัม ทอดในน้ำมันพืชร้อนๆ 1 กิโลกรัม ทอดจนเหลืองแล้วเอาไพลออก ใส่กานพลูผงประมาณ 4 ช้อนชา ทอดต่อไปด้วยไฟอ่อนๆ ประมาณ 10 นาที กรองแล้วรอจนน้ำมันอุ่นๆ ใส่การบูรลงไป 4 ช้อนชา ใส่ภาชนะปิดฝามิดชิด รอจนเย็น จึงเขย่าการบูรให้ละลาย น้ำมันไพลนี้ใช้ทาถูนวดวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลาปวด (สูตรนี้เป็นของ นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา)
การเตรียมสมุนไพรไว้ใช้รักษาเอง
เก็บเหง้าไพลสดที่แก่จัดอายุ ๑๐ เดือนขึ้นไป เพราะเป็นช่วงที่มีสารสำคัญอยู่มาก ทำไว้ใช้ได้ ๓ รูปแบบ ดังนี้
• นำเหง้าไพลไสดมาตำให้แหลกพอกบริเวณที่มีอาการ
• ใช้เหง้าสดล้างให้สะอาดหั่นเป็น ชิ้นบางๆ ต้มกับน้ำมันพืชโดยใช้ไฟอ่อนๆ ในอัตรา ๒:๑ ต้มจนน้ำมันที่ได้เป็นสีเหลืองใส กรองเอาเฉพาะน้ำมัน อาจผสม การบูรเล็กน้อย เพื่อประคบบริเวณที่มีอาการ เช้า-เย็น หรือเวลาปวดจนกว่าจะหาย
• ใช้เหง้าไพลสดตำผสมการบูรประมาณ ๑ ช้อนโต๊ะ ห่อเป็นลูกประคบและอังไอน้ำให้ร้อน ใช้ประคบบริเวณที่ปวดวันละ ๒ ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี และยังมีกลิ่นสมุนไพรที่ทำให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลายลงได้
แก้บิด ท้องเสีย ใช้เหง้าไพลสด 4-5 แว่น ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำเติมเกลือครึ่งช้อนชา ใช้รับประทาน หรือฝนกับน้ำปูนใส รับประทาน
เป็นยารักษาหืด ใช้เหง้าไพลแห้ง 5 ส่วน พริกไทย ดีปลี อย่างละ 2 ส่วน กานพลู พิมเสน อย่างละ ½ ส่วน บดผสมรวมกัน ใช้ผงยา 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อนรับประทาน หรือปั้นเป็นลูกกลอนด้วยน้ำผึ้ง ขนาดเท่าเม็ดพุทรา รับประทานครั้งละ 2 ลูก ต้องรับประทานติดต่อกันเวลานาน จนกว่าอาการจะดีขึ้น
เป็นยาแก้เล็บถอด ใช้เหง้าไพลสด 1 แง่ง ขนาดเท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเกลือและการบูร อย่างละประมาณครึ่งช้อนชา แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นหนอง ควรเปลี่ยนยาวันละครั้ง
ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื่น และเป็นยาช่วยสมานแผลด้วย ใช้เหง้าสด 1 แง่ง ฝานเป็นชิ้นบางๆ ใช้ต้มรวมกับสมุนไพรอื่นๆ เนื่องจากไพลมี่น้ำมันหอมระเหย

การใช้วิธีการใช้ไพลรักษาอาการบวม ฟกช้ำ อักเสบตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน)
1. นำไพลมาฝานเป็นชิ้นบางๆ ใช้ถูนวดบริเวณที่อักเสบ
2. เตรียมน้ำมันไพลด้วยการจี่ในกะทะ (คั่วในกะทะ) จนได้น้ำมันสีเหลือง นำมาทาถูนวด
หมายเหตุ: ครีมน้ำมันไพลขององค์การเภสัชกรรม เตรียมจากน้ำมันซึ่งกลั่นจากหัวไพล สาระสำคัญจะเป็นน้ำมันหอมระเหย
ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ครีมที่มีน้ำมันไพลร้อยละ 14 ทาและถูเบา ๆ วันละ 2-3 ครั้ง บริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย ปวดบวม จากกล้ามเนื้ออักเสบ เคล็ดยอก ฟกช้ำ

การศึกษาทางคลินิก

ครีมไพลซึ่งมีน้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนประกอบ (14%) พบว่าใช้ภายนอกลดอาการปวดบวมในการรักษาข้อเท้าแพลง เหง้ามีสาร veratrole มีฤทธิ์ขยายหลอดลม มีการทดลองให้รับประทานในผู้ป่วยโรคหืดพบว่าได้ผลทั้งหืดชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

มีฤทธิ์ขยายหลอดลม มีการทดลองในผู้ป่วยเด็กที่เป็นหืด พบว่าให้ผลดีทั้งในรายที่มีอาการหอบหืดแบบเฉียบพลัน มีฤทธิ์กดหัวใจ ต้านเชื้อรา ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบ แก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ กระตุ้นการผลิตน้ำดี ไล่แมลง ฆ่าแมลง ต้านออกซิเดชั่น ต้านฮิสตามีน เป็นยาชาเฉพาะที่ ฆ่าอสุจิ แก้หืด ยับยั้งหัวใจเต้นผิดปกติ กดการทำงานของหัวใจ ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความแรงในการเต้นของหัวใจ คลายกล้ามเนื้อมดลูก ลดการหดเกร็งของลำไส้ คลายกล้ามเนื้อเรียบ ลดความดันโลหิต

ฤทธิ์ทางยา

ฤทธิ์ลดการอักเสบ เมื่อทดลองนำครีมไพล (ไพลจีซาล) ที่มีส่วนผสมของน้ำมันไพลร้อยละ 14 ไปใช้ในผู้ป่วยข้อเท้าแพลง โดยให้ทาวันละสองครั้ง พบว่าสามารถลดการปวดบวมได้มากกว่ากลุ่มควบคุมเมื่อใช้ไปได้ 4 วัน และมีการกินยาแก้ปวด (paracetamol) ในสองวันแรกน้อยกว่ากลุ่มควบคุมด้วย ผู้ป่วยที่ได้รับไพลจีซาลสามารถงอข้อเท้าได้มากกว่ากลุ่มควบคุม แต่ความสามารถงอส่วนฝ่าเท้าไม่แตกต่างกัน เมื่อนำน้ำมันไพลที่อยู่ในรูปของเจล (ไพลเจล) มาทดสอบ พบว่าไพลเจลสามารถลดการอักเสบของอุ้งเท้าหนูได้ โดยสามารถลดการบวมได้เทียบเท่ากับ piroxicam gel ทั้งยังลดความแดงและบรรเทาอาการปวดได้ด้วย
การทดสอบสาร phenylbutenoids ในไพลจำนวน 7 ชนิด ต่อการยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการอักเสบ คือ cyclooxygenase-2 พบว่ามีสาร 4 ชนิดที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าว เป็นสาร phenylbutenoid dimer 2 ชนิดและสาร phenylbutenoid monomer 2 ชนิด โดยสารกลุ่มแรกจะมีฤทธิ์แรงกว่า
ฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ น้ำคั้นหัวไพลมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ และช่วยลดอาการปวด
ฤทธิ์ต้านฮีสตามีน มีการทดสอบฤทธิ์ต้านฮีสตามีนของไพลในผู้ป่วยเด็กโรคหืด โดยฉีดฮีสตามีนที่แขนซ้ายก่อนได้รับยา และฉีดที่แขนขวาอีกครั้งหลังการให้กินไพลแห้งบด ทำการวัดรอยนูนแดงที่เกิดขึ้นหลังฉีดฮีสตามีน 15 นาทีเปรียบเทียบระหว่างแขนทั้งสองข้าง พบว่าไพลมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนโดยสามารถลดขนาดของตุ่มนูนที่เกิดจากการฉีดด้วยฮีสตามีนได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาคลอเฟนิลามีน นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดด้วยเฮกเซนมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนในกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กส่วนปลายและกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมในหนูตะเภา
ฤทธิ์แก้ปวด สาร (E)-4 (3',4'-dimethylphenyl) but-3-en-l-ol จากไพลมีฤทธิ์แก้ปวดเมื่อทดสอบในหนูแรท (10) และไพลเจลมีฤทธิ์แก้ปวดเมื่อใช้เป็นยาทาภายนอก
ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย สารสกัดด้วยไดคลอโรมีเทนแสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis (แบคทีเรียแกรมบวก) และ Pseudomonas aeruginosa (แบคทีเรียแกรมลบ) แต่สารสกัดด้วยเมทานอลไม่แสดงฤทธิ์ สารสกัดด้วยเอทิลแอลกอฮอล์แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินหายใจบางชนิด ได้แก่ b-streptococcus group A นอกจากนี้สาร Terpinene-4-ol และ sabinene ก็มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้
ฤทธิ์ต้านเชื้อราพบว่าสารสกัดด้วยเมทานอล, ไดคลอโรมีเทนและเฮกเซนมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อราในโรคผิวหนังด้วย ได้แก่ Epidermophyton floccosum, Microsporum gypseum, Trichophyton mentagrophytes และ Trichophyton rubrum
ฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ พบว่าสาร D จากสารสกัดด้วยเฮกเซนสามารถยับยั้งฤทธิ์ของฮีสตามีน อะเซททิลโคลีน นิโคทีน และเซโรโทนินได้ เมื่อทดสอบกับกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภา และสารดังกล่าวสามารถยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมที่ถูกกระตุ้นด้วยฮีสตามีนและลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อกระบังลมที่ถูกระตุ้นด้วยไฟฟ้าได้ เมื่อนำสารสกัดด้วยน้ำมาทดสอบผลต่อกล้ามเนื้อเรียบของหนูแรท พบว่าสามารถยับยั้งการบีบตัวของมดลูก ลำไส้และกระเพาะอาหารได้ อย่างไรก็ตามเมื่อทดสอบกับกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดแดงจากสายสะดือเด็กทารก ยังไม่พบการออกฤทธิ์ของน้ำสกัดไพลที่ชัดเจน

การศึกษาทางพิษวิทยา

การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดไพลด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 และสารสกัด D (แขวนตะกอนใน tween 80 ร้อยละ 2) ไม่พบอาการพิษแม้จะให้ทั้งกรอกทางปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูเม้าส์ แต่เมื่อให้เกลือโซเดียมของสาร D ที่ละลายในน้ำฉีดเข้าช่องท้องจะทำให้หนูหายใจลึกและถี่ขึ้น มีการเคลื่อนไหวน้อยลง และขาหลังอ่อนเปลี้ยกว่าปกติ แต่หนูทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่รอดภายหลังการทดลอง การทดสอบความเป็นพิษเรื้อรัง ไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ทั้งจากการตรวจดูลักษณะภายนอก และจากการตรวจสอบทางพยาธิวิทยา ในการศึกษาพิษเฉียบพลันของตำรับยาแก้หืดที่มีส่วนผสมของไพลในหนูแรท พบว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 และเฮกเซน ไม่เกิดพิษใดๆ ส่วนการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง โดยผสมไพลในอาหารหนู ซึ่งให้หนูกินเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าการผสมไพลในอาหารร้อยละ 18 เท่านั้นที่ทำให้หนูโตช้า แต่ยังไม่พบความผิดปกติอื่น เมื่อทำการตรวจปัสสาวะและเลือด หรือการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ ส่วนผงไพลเมื่อให้ในหนูเม้าส์พบว่ามีพิษต่อตับหลังจากให้ไป 1 ปี แต่เมื่อให้กับลิงในขนาด 50 เท่าของขนาดรักษาในคนเป็นเวลา 6 เดือน ยังไม่พบพิษ
เมื่อทดสอบความเป็นพิษของน้ำมันไพลต่อสัตว์ทดลอง 3 ชนิด ได้แก่ หนูแรท หนูเม้าส์ และกระต่าย โดยให้ทางปาก พบว่าน้ำมันไพลมีความเป็นพิษเล็กน้อย (1 มีการทดสอบความเป็นพิษของ terpinen-4-ol จากน้ำมันไพล พบว่าไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับกระต่าย นอกจากนี้ในการทดสอบการระคายเคืองของ terpinen-4-ol กับกระต่าย โดยสอดครีมความเข้มข้นร้อยละ 3, 5 และ 7 ทางช่องคลอดเป็นเวลา 10 วัน พบว่าไม่มีผลเปลี่ยนแปลงน้ำหนักกระต่าย แต่มีความผิดปกติกับช่องคลอด ส่วน กระเพาะปัสสาวะ มดลูก รังไข่ ไต และ ตับ ปกติ และพบว่าการป้อนสาร terpinen-4-ol มีความเป็นพิษปานกลางต่อหนูแรท และสาร terpinen-4-ol ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออสุจิของวัวใกล้เคียงกับยาสังเคราะห์ Delfen (ครีมมี nonoxynol-9 ร้อยละ 5) ประสะไพลและน้ำสกัดจากประสะไพลที่ให้กับหนูแรท ไม่พบอาการพิษ

ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง

1. ไพลอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง และเกิดอาการแพ้ที่ผิวหนังได้
2. การรับประทานในขนาดสูงหรือใช้เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดพิษต่อตับ และยังไม่มีความปลอดภัยที่จะนำมาใช้เป็นยารักษาโรคหืด และไม่ควรนำเหง้าไพลมาใช้รับประทานเป็นยาเดี่ยว ติดต่อกันนาน นอกจากจะมีการขจัดสารที่เป็นพิษต่อตับออกจากไพลเสียก่อน
3. การใช้ครีมไพลห้ามใช้ทาบริเวณขอบตา เนื้อเยื่ออ่อน และบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผลหรือมีแผลเปิด
4. ไม่แนะนำให้ใช้สมุนไพรชนิดนี้กับสตรีมีครรภ์ หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตรและเด็กเล็ก






เอกสารอ้างอิง

1. ต้นร่างอ้างอิงสมุนไพรไทย:ไพล.คณะอนุกรรมการจัดทำต้นร่างอ้างอิงยาสมุนไพร ในคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย.วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์การเลือก.ปีที่10ฉบับที่1มกราคม-เมษายน 2555.หน้า52-56
2. ไพล.วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/w/index.php?title=ไพล&oldid=5728576
3. ไพล.ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก
http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=96
4. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงส์.คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์และมูลนิธิ ภูมิปัญญา, 2548. หน้า 511-2.
5. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, วิเชียร จีรวงส์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 2 เครื่องยาพฤกษวัตถุ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนัก พิมพ์อมรินทร์. 2547. หน้า 227-31
6. Faculty of Pharmacy, Mahidol University. Specification of Thai Medicinal Plants. Volume
Bangkok: Aksornsampan Press. 1986. p. 108-11.
7. สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข. ยาสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก. หน้า 120-1.
8. Soontornsaratune P, Wasuwat S, Sematong T. Anti-inflammatory effects of a topical preparation of Phlai oil/Plygesal on carrageenan-induced footpad swelling in rats. TISTR 1990; Research Project No. 30-22/Report No 3:1-7.
9. Theilade I. A synopsis of the genus Zingiber (Zingiberaceae) in Thailand. Nord J Bot. 1999;19(4):389-410.
10. คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2549 ตามประการคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2549 เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติพ.ศ. 2547 (ฉบับที่ 4). กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร แห่งประเทศไทย. 2549. หน้า 66-71.
11. วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม และคณะ. ความสัมฤทธิ์ผลของครีม สมุนไพรไทย (ไพลจีซาล) ในการรักษาข้อเท้าแพลงในนักกีฬา. ศรีนครินทร์เวชสาร. 2536;8(3)
12. ไพล.กลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ.สมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
13. ภก.สุดเหมือนฝัน ธนธัญญา.บรรเทาอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวเข่าและข้อเท้า.นิตรสารหมอชาวบ้าน.คอลัมน์รู้ไหม?ยาอะไรเอ่ย?เล่มที่311.มีนาคม2548
14. ไพล.ฉบับประชาชนทั่วไป.สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.

วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กีบแรด

กีบแรด สรรพคุณและงานวิจัย






ชื่อสมุนไพร ว่านกีบแรด
ชื่ออื่นๆ กีบม้าลม(เหนือ) , ดูกู(มาเลเซีย/มลายู) , ว่านกีบม้า (กลาง) , ปากูปี , ปากูดาฆิง (ใต้) ,เฟิร์นกีบแรด ฝักกูดยักษ์
ชื่อวิทยาศาสตร์ Angiopteris evecta (G. Forst.) Hoffm.
ชื่อสามัญ Giant Fern, King Fern
วงศ์ MARATTIACEAE

ถิ่นกำเนิด

เป็นพืชที่มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่ไต้หวัน , มาเลเซีย ,ออสเตรเลีย นิวกินี และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ มักพบขึ้นเองตามสภาพของเขา ตามป่าชื้น ป่าดิบเขาที่มีร่มเงาและมีความชื้นสูง ใกล้แหล่งน้ำ ตามที่รกร้างทั่วไป โดยเฉพาะตามห้วยต่าง ๆ

ลักษณะทั่วไป

เฟินกีบแรด เป็นเฟินดิน ชอบร่มเงา และต้องการความชื้นในอากาศสูง ในประเทศไทยพบทั่วไปตามป่าดิบเขาที่มีร่มเงาและความชื้นสูง มีข้อสันนิษฐานว่า เฟินกีบแรดต้องอาศัยอยู่ร่วมกับเชื้อราที่ระบบรากของกีบแรด เพื่อให้เชื้อราช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ ให้กลายเป็นธาตุอาหารให้กับรากของกีบแรดดูดซึมเข้าไป โดยลำพังมันไม่สามารถดูดซับเองได้ และกีบแรดแลกเปลี่ยนแป้งและน้ำตาลให้กับเชื้อราคืนด้วย หากไม่มีเชื้อรา กีบแรดอาจจะไม่เจริญเติบโตได้
ลักษณะต้น เป็นเฟินที่มีขนาดใหญ่ มีลำต้นเป็นหัวอยู่ฝังที่ระดับผิวดิน เป็นเนื้ออวบอ้วน ที่หัวมีร่องรอยบุ๋มรอบหัว ซึ่งเกิดจากขั้วของก้านใบที่หลุดออก เหลือไว้เป็นร่อง มองดูคล้ายกีบเท้าแรด สมชื่อที่เรียกว่า กีบแรด เคยมีคนบอกว่า เห็นที่เชียงใหม่ ขนาดของหัวใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางถึง 1.5 ม.
ใบว่านกีบแรด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น ใบรวมทั้งหมดยาวประมาณ 1.8-4.5 เมตร และกว้างได้ถึง 2 เมตร ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนไม่เท่ากันหรือเป็นรูปหัวใจตื้น ๆ และเบี้ยว ส่วนขอบใบจักมน จักเป็นฟันเลื่อย หรือจักถี่ ๆ ตลอดทั้งขอบใบ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา อวบน้ำ มีเมล็ดสีน้ำตาล หลังใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อน เส้นแขนงใบอิสระแยกสาขาเป็นคู่ จำนวนมาก ก้านใบย่อยบวม ยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร ก้านใบร่วมมีขนาดใหญ่ ลักษณะอวบกลม ตามใบแก่จะมีอับสปอร์สีน้ำตาล เรียงติดกันเป็นแถวอยู่ใกล้กับขอบใบตรงด้านท้องใบ กลุ่มอับสปอร์จะอยู่ห่างจากขอบใบประมาณ 1 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปรี ประกอบด้วย 7-12 อับสปอร์ ผนังเชื่อมติดกัน ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์
หัวกีบเเรด จะมีลักษณะคล้ายกับกีบเท้าของแรดหรือกระบือ หัวนั้นจะเป็นสีน้ำตาลแก่ แต่ถ้าหักหัวดูภายในเป็นสีเหลืองเหมือนขมิ้น และมีรสเย็นฝาด

การขยายพันธุ์

สปอร์ หรือ ใช้กีบด้านข้างลำต้น นำไปชำในที่ร่มและชื้น แต่ใช้ระยะเวลานานมากกว่าจะแตกตาต้นใหม่
การปลูกเลี้ยงกีบเเรด : ฝังหัวเหง้าลงตื้นๆ ให้หัวโผล่อยู่ที่ผิวเครื่องปลูก สำหรับวัสดุปลูก ชอบสภาพเป็นกรดเล็กน้อย มีใบไม้ผุมากๆ และโปร่ง ผสมทรายหยาบบ้าง เพื่อให้ระบายน้ำและระบบรากถ่ายเทอากาศดี ชอบแสงรำไรและอากาศชุ่มชื้น เหมาะปลูกเป็นสวนป่า หรือปลูกลงกระถางก็สวยงามดี หากปลูกในกระถาง ควรเลือกกระถางให้ใหญ่กว่าหัวมากหน่อย แต่หากปลูกลงดิน จะเจริญเติบโตได้ดีกว่า ปกติให้ใบใหม่ช้า แต่เมื่อใบอ่อนเริ่มงอก จะโตได้รวดเร็ว และไม่ทิ้งใบบ่อย ต้นที่ปลูกอยู่บ้าน แต่ละใบอยู่ให้เห็น 1-2 ปี ในช่วงที่ออกใบอ่อนใหม่ หากมีช่วงขาดน้ำ เมื่อได้รับน้ำอีกครั้ง มันจะเกิดเป็นปุ่มตาที่ก้านใบ ที่ดูเหมือนเป็นข้อที่ก้านใบ

องค์ประกอบทางเคมี 

เมื่อนำเหง้าของว่านกีบแรด Angiopteris evecta Hoffm. ที่สดและบดละเอียด มาสกัดด้วยตัวทำละลายสารอินทรีย์ ประกอบด้วย เมทานอล เฮกเซน และเอธิลแอซิเตต ตามลำดับ นำสารสกัดหยาบแต่ละชนิด ไปทำการแยกด้วยเทคนิคทางคอลัมน์โครมาโตกราฟีแยกสารได้ 4 ชนิด ทำการหาสูตรโครงสร้างของสารที่แยกได้ทั้ง 4 ชนิดโดยอาศัยสมบัติทางกายภาพ ทางเคมี ข้อมูลทางสเปกโตรสโคปี และการวิเคราะห์ทางเอ็กซ์เรย์ คริสตอลโลกราฟี สามารถพิสูจน์โครงสร้างได้ คือ Succinic acid (1) Angiopteroside (4-o-beta-D-Glucopyranosyl-L-threo-2-hexen-5-olide) monohydrate (2) D-(+)-glucose (3) และของผสมของสเตอร์รอยด์ 2 ชนิด ได้แก่ beta-sitosterol และ Stigmasterol (4) จากการวิจัยพบว่าสารประกอบเหล่านี้พบครั้งแรกในเหง้าว่านกีบแรด นำสาร 2 ไปทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง พบว่า สาร 2 มีฤทธิ์น้อย นอกจากนี้ยังพบว่าสาร 2 มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์เอชไอวี-1 รีเวอร์ทรานสคริปเทสได้



Angiopteroside







 Succinic acid

สรรพคุณ

ว่านกีบแรด ที่รู้จักกันทั่วไปคือ เป็นยากำลัง ยาอายุวัฒนะ ลดบวม ขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อย รักษาแผลในปากและคอ ตำรับยาบำรุงเลือดและบำรุงกำลัง ใช้เป็นยาลดความดัน หัวใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้กำเดา ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ช่วยแก้ตาเจ็บ ช่วยแก้น้ำลายเหนียว แก้อาเจียน ขับปัสสาวะ แก้ท้องร่วง ใช้เป็นยาแก้ฝีหัวคว่ำ ใช้ใบแก่และสดๆ รักษาอาการไอ นอกจากนี้ใบอ่อนๆ ยังใช้เป็นผักกินได้ หัว ใช้กินรักษาอาการไข้ ปรุงเป็นยารักษาพิษตานซางของเด็ก อาการอาเจียน เป็นยาสมานรักษาอาการท้องร่วง ส่วนมากจะใช้คู่กันไปกับว่านร่อนทอง รากใช้ห้ามเลือด เป็นยาสมุนไพร ฤทธิ์เย็น ใบอ่อนกินเป็นผักสด หัวพกไว้ติดตัว เชื่อว่ามีฤทธิ์ทางเมตตามหานิยม หรือใช้ผสมในพิมพ์พระเครื่อง ชาวเผ่าลัวะใช้แช่น้ำดื่มรวมกับต้นมหาสดำให้แก้ท้องอืด
หมอยาสามจังหวัดภาคใต้ซึ่งเรียกว่านกีบแรดว่า ปากูปีเละ หรือ ปียา(ปัตตานี) หรือบางครั้งก็เรียก ปากูดาฆิง จะใช้กูดกีบม้าเป็นยารักษาโรคมะเร็ง โรคหัวใจ พ่อหมอแบอีซอใช้หัวปากูปีและเหง้ากระทือหั่นตากแห้งต้มน้ำดื่ม สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคหัวใจ และยังใช้เหง้าตากแห้งตัวเดียวมาต้มน้ำดื่มเป็นประจำเพื่อคุมน้ำตาลในโรคเบาหวาน ส่วนแบนุ หมอยาปัตตานี เรียกว่านกีบแรดว่า ปียา ใช้เป็นยารักษาโรคมะเร็งเช่นเดียวกัน โดยใช้เหง้ามาต้มกับแก่นขี้เหล็ก แล้วนำน้ำมาดื่มเป็นประจำ

รูปแบบ / ขนาดวิธีใช้

ยอดอ่อน ทุบแล้วนำไปต้ม เอามาประคบหัวเข่า แก้อาการปวด (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)
นำมาสับแล้วตากให้แห้ง นำมาบดผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้า ดีปลี และพริกไทย ปั่นเป็นลูกกลอน กินเป็นยาบำรุงกำลัง
ตำรับยาแก้อาการนอนไม่หลับ ระบุให้ใช้ว่านกีบแรด รากหญ้าคา รากหญ้านาง และเนระพูสี อย่างละพอสมควร นำมาต้มให้เดือด ใช้ดื่มก่อนนอน 1 แก้ว จะช่วยทำให้หลับสบายดี
หัวกีบเเรดใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ
หัวกีบเเรดใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้แผลในปากและในคอ ด้วยการใช้หัวว่านกีบแรด นำมาฝนกับน้ำหรือต้มเคี่ยว ใช้เป็นยาทาหรืออมไว้ให้ตัวยาสัมผัสกับแผล
ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้โคนก้านใบที่อยู่ใต้ดินนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการตัวบวม
หัวนำมาหั่นตากดองกับเหล้าหรือต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดหลัง ปวดเอว
ว่านกีบแรดจัดอยู่ในตำรับยา “ยาเขียวหอม”ซึ่งเป็นตำรับยามีส่วนประกอบของว่านกีบแรดร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับโดยมีสรรถคุณเป็นยาบรรเทาอาการไข้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส
ฤทธิ์ทางเภสัช กูดกีบม้าก็เหมือนกับสมุนไพรพื้นบ้านไทยอื่นๆ ที่มีการศึกษาวิจัยน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามมีรายงานการศึกษาในห้องทดลองพบว่า สารในกูดกีบม้ามีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง แต่เป็นฤทธิ์อ่อน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV ด้วย
การศึกษาทางพิษวิทยา ไม่มีข้อมูล การศึกษาทางพิษวิทยาในว่านกีบแรด
ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง การใช้ว่านกีบแรด โดยเฉพาะส่วนหัวนั้นส่วนมากจะนิยม ใช้คู่กับว่านร่อนทอง (Globba malaccen sis Ridl.) เพราะเสริมฤทธิ์กันได้ดี



เอกสารอ้างอิง

1. ว่านกีบแรด ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
2. เต็ม สมิตตินันทน์,2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.
3. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, 2548. พจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 , รวมสาส์น (1977) จำกัด. กรุงเทพฯ.
4. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ว่านกีบแรด (Wan Kip Raet)”. หน้า 273.
5. Chemical constituents and biological activity of Argiopteris evecta Hoffm. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.researchgate.net/publication/27806336_Chemical_constituents_and_biological_activity_of_evecta_Hoffm
6. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ว่านกีบแรด”. หน้า 51.
7. ว่านกีบแรด.วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/w/wndex.php?title=ว่านกีบแรด&oldid=636121
8. ทิพย์สุดา ตั้งตระกูล.2541.พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวขม ชาวลั๊วะและชาวถิ่นในบางพื้นที่ของจังหวัดน่านวิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่242หน้า
9. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ว่านกลีบแรด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [25 ต.ค. 2014].
10. กูดกีบม้า...ยาม้าปนแรด.กลุ่มรักเขาใหญ่.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก
http://www.rakkhaoyai.com/jungle-path/1958