วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กำลังเสือโคร่ง

กำลังพญาเสือโคร่ง





บทนำ สมุนไพรกําลังเสือโคร่ง กับความเข้าใจผิด ๆ ยังมีหลายคนที่กำลังสับสนในชื่อของกำลังเสือโคร่งว่าแท้จริงแล้วชื่อต้นไม้ชนิดนี้เป็นพันธุ์ไม้ชนิดนี้ใดกันแน่ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3-4 ชนิด ที่ล้วนแล้วแต่เป็นต้นไม้คนละชนิด ต่างสกุล และต่างวงศ์กัน แต่มีสรรพคุณที่เหมือนกันคือ “เป็นยาบำรุงกำลัง”
1. กำลังเสือโคร่ง หรือ กำลังพญาเสือโคร่ง หรือ พญาเสือโคร่ง ชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 20-35 เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betula alnoides Buch.-Ham. ex D.Don จัดอยู่ในวงศ์กำลังเสือโคร่ง (BETULACEAE)
2. กําลังเสือโคร่ง ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ziziphus attopensis Pierre จัดอยู่ในวงศ์พุทรา (RHAMNACEAE)
3. นางพญาเสือโคร่ง หรือ ซากุระเมืองไทย ที่มีดอกเบ่งบานสีชมพู เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus cerasoides จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบ
4. กำลังเสือโคร่ง (ไม้พุ่ม) ซึ่งเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Strychnos axillaris Colebr. และจัดอยู่ในวงศ์กันเกรา
แต่ที่เราจะกล่าวถึงนี้ คือ กำลังพญาเสือโคร่ง ในชนิดที่ 1 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ชื่อ กำลังพญาเสือโคร่ง
ชื่ออื่นๆ กำลังเสือโคร่ง (เชียงใหม่) , ลำแค , ลำแค่ (ลั๊วะ) , นางพญาเสือโคร่ง , พญาเสือโคร่ง (คนเมืองเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Betula alnoides Buch.-Ham. ex D.Don
ชื่อสามัญ Birch
วงศ์ BETULACEAE

ถิ่นกำเนิด

กำลังพญาเสือโคร่งเป็นพันธุ์ไม้ ที่มีถิ่นกำเนิดในไทย และเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดน่าน กำลังพญา เสือโคร่ง เป็นพันธุ์ไม้ที่พบขึ้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1,800 เมตร และพบในบางประเทศของทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้

ลักษณะทั่วไปกำลังเสือโคร่ง

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 20-35 เมตร วัดรอบต้นประมาณ 1-2 เมตร เปลือกไม้สีน้ำตาลเทา หรือเกือบดำ มีต่อมระบายอากาศ ( lenticels)เป็นจุดเล็ก ๆ ขาว ๆ กลมบ้าง รีบ้าง ปะปนกันอยู่ เปลือกมีกลิ่นคล้ายการะบูร เวลาแก่จะลอกออกเป็นชั้นคล้ายกระดาษ ที่ยอดอ่อน ก้านใบและช่อดอกมีขนสีเหลืองหรือสีน้ำตาลปกคลุม ขนเหล่านี้จะลดน้อยลง ๆ จนเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยงเมื่อแก่
ใบ รูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปหอก หรือรูปหอก ขนาดกว้างประมาณ 1.5-6.5 ซม. และยาวประมาณ 6.55-13.5 ซม. เนื้อใบบางคล้ายกระดาษหรืออาจหนา ด้านใต้ของใบมีตุ่ม ( gland-datted) โคนใบป้าน หรือเกือบเป็นเส้นตรง ขอบหยักแบบฟันเลื่อยสองชั้น หรือสามชั้น ซี่หนักแหลม ขอบซี่เรียวแหลม เส้นกลางใบเป็นร่องตื้น ๆ ทางด้านหลังใบ เส้นแขนงใบ 7-10 คู่ หูใบเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือแคบเรียงยาว 3-8 มม. ก้านใบเป็นร่องลึกด้านบนยาว 0.5-2.5 ซม.
ดอก ออกเป็นช่อ ลักษณะเป็นพวงยาวแบบหางกระรอก ดอกออกตามง่ามใบ แห่งละ 2-5 ช่อ ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียแยกกันอยู่ ช่อดอกเพศผู้ยาว 5-8 ซม. กลีบดอกเป็นรูปโล่ห์หรือเกือบกลมมีแกนอยู่ตรงกลาง ปลายค่อนข้างแหลมมีขนที่ขอบ ขนาด 1.1x1.-1.2มม. เกสรตัวผู้มี 4-7 ติดอยู่ที่แกนกลาง ช่อดอกเพศเมียยาว 3-9 กลีบรองกลีบดอกไม่มีก้าน มี 3 หยัก ยาวประมาณ 2-2.5 มม. ด้านนอกมีขน รังไข่แบน กรอบนอกเป็นรูปไข่หรือเกือบกลม มีขน ท่อรังไข่ยาวกว่ารังไข่เล็กน้อย ขนาดกว้าง 2.5-3 มม. และยาว 2.5-4 มม. มีปีกบางและโปร่งแสง ออกดอกระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม และเป็นผลระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธุ์
ผล ลักษณะแบน กว้าง 2-3 มม. ยาว 2-14 มม. มีปีกบาง และโปร่งแสงอยู่ทั้งสองข้าง ผลแก่ร่วงง่าย
ลักษณะเนื้อไม้ กระพี้กับแก่นมีสีต่างกันเพียงเล็กน้อย เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน ออกเหลืองปนขาว หรือค่อนข้างขาว เสี้ยนตรง เนื้ออ่อนข้างละเอียด แข็งพอปานกลาง มีลวดสวยงามไสกบ ตบแต่งง่าย ขัดชักเงาได้ดี
การขยายพันธุ์ ในสภาพธรรมชาติ ไม้กำลังเสือโคร่งขยายพันธุ์โดยเมล็ด สำหรับในทางปฏิบัติจะมีการนำเมล็ดมาเพาะก่อนแล้วจึงย้ายกล้าไปปลูก ส่วนการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่นยังมิได้มีการศึกษากัน
ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูก การเจริญเติบโตและการปรับปรุงพันธุ์ ยังมีการศึกษากันน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วการปลูกจะปลูกโดยทิ้งให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลกันอย่างจริงจัง
องค์ประกอบทางเคมี เปลือกต้นมีน้ำมันหอมระเหยชนิดหนึ่ง มีกลิ่นฉุนเหมือนน้ำมันระกำ แต่มีรายงานการวิจัยว่า พบสารปรอด Phenolic ในเปลือกต้นกำลังพญาเสือโคร่งที่ใช้ดองเหล้า เพื่อทำยาดอง และเป็นรายงานเพียงชิ้นเดียวที่มีการวิจัยในขณะนี้

phenolic


สรรพคุณของกำลังเสือโคร่ง

มีกลิ่นหอมคล้ายการบูร ใช้ต้มน้ำเป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง เจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ บำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยชำระล้างไตให้สะอาด บำรุงกองธาตุให้เป็นปกติ แก้อาการท้องร่วง ใช้บำบัดอาการผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับมดลูกของผู้หญิงไม่สมบูรณ์ มดลูกชอกช้ำอักเสบเนื่องจาการกระทบกระเทือน แท้งบุตร มดลูกไม่แข็งแรงให้หายเป็นปกติ ช่วยบำรุงเลือด ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร เปลือกต้นมีกลิ่นหอม ใช้ดมแก้อาการหน้ามืดตาลายได้


รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้ของกำลังเสือโคร่ง

ลำต้น เข้าสูตรยา บำรุงกำลัง (ลั๊วะ)
ราก ต้มน้ำดื่มร่วมกับรากโด่ไม่รู้ล้ม (เกดสะดุด) เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย, เปลือกต้น ดองเหล้าดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง(ลั้วะ)
เปลือกต้น มีกลิ่นหอม ดมแก้อาการหน้ามืดตาลาย(กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)
เปลือกต้น นำไปตากแห้งผสมกับ ลำต้นฮ่อสะพายควาย ม้า กระทืบโรง จะค่าน ตานเหลือง มะตันขอ ข้าวหลามดง หัว ยาข้าวเย็น แก่นฝาง ไม้มะดูก และโด่ไม่รู้ล้ม ต้มน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย(คนเมือง)
เปลือกต้น ถากออกเป็นแผ่นแล้วนำมาเผาไฟ นำผงถ่านที่ได้มาทาบริเวณฟันผุ แก้อาการปวดฟัน(ลั้วะ)
เปลือกต้น ถากออกจากลำต้น พอประมาณตามความต้องการ ใส่ภาชนะหรือกาน้ำ ต้มน้ำให้เดือนเคี่ยวไฟอ่อนๆ น้ำสมุนไพรจะเป็นสีแดง (ถ้าปรุงรสให้หอมหวานใช้ชะเอมพอสมควรกับน้ำตาลกรวด)ให้รับประทานขณะน้ำสมุนไพรอุ่นๆ จะมีคุณภาพดียิ่งขึ้น
ถ้าใช้ดองกับสุรา สีจะแดงเข้ม (ถ้าจะปรุงรสและกลิ่นให้เติมน้ำผึ้ง-โสมตังกุย) สรรพคุณจะแรงขึ้นทวีคูณ ต้นดองกับสุราได้ถึง 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหมดสีของสมุนไพร
เปลือกต้น ทำให้แห้ง แล้วใช้ดมทำให้เส้นเอ็นแข็งแรง

ฤทธิ์ทางเภสัช ไม่มีข้อมูลการวิจัยทางเภสัชวิทยา
การศึกษาทางพิษวิทยา ไม่มีข้อมูลการวิจัยทางพิษวิทยา
ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง เปลือกต้นที่นำมาใช้เป็นสมุนไพรนั้นควรเป็นเปลือกต้นที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป




เอกสารอ้างอิง

1. กำลังเสือโคร่ง.สวนพฤกษศาสตร์ตามพระราชเสาวนีย์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก
http://www.dnp.go.th/Pattani_botang
2. กำลังเสือโคร่ง.ฐานข้อมูลพรรณไม้องค์การสวนพฤกษศาสตร์.BGO Plant Database, The Botanical Garden Organization.
3. ภก.นิตย์ธิดา ภัทรธีรกุล .สมุนไพรบรรเทาปวดเมื่อย.คอลัมน์ การส่งเสริมสุขภาพ.วารสารเภสัชกรรมชุมชน.ปีที่8 ฉบับที่ 47 เดือนธันวาคม 2552.หน้า 31
4. กำลังพญาเสือโคร่ง.กลุ่มสมุนไพรแก้ฟกช้ำ ข้อเคล็ด ปวดข้อ เส้นเอ็นพิการ.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
5. เต็ม สมิตินันทน์,2544.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้,กรุงเทพฯ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น